“ถ่อย” ไม่ได้ทำให้คน “เท่” คอนเทนต์ปังได้โดยไม่จำเป็นต้องเกรียน

เป็นเรื่องจริงที่ยากที่จะปฏิเสธในสังคมปัจจุบัน ประเด็นที่ว่าทุกวันนี้คนธรรมดาทั่ว ๆ ไปสามารถอัปเลเวลขึ้นมาเป็นคนดังกันได้ง่ายดายเหลือเกิน หลาย ๆ กรณีไม่ต้องพึ่งความสามารถใด ๆ ทั้งสิ้น อาศัยประโยชน์จากความรวดเร็วและไร้พรมแดนของโลกออนไลน์เป็นสื่อกลาง แค่อะไรสักอย่างถูกอัปลงโซเชียลมีเดีย รอให้มันถูกกระหน่ำแชร์จนกลายเป็นไวรัล ในขณะเดียวกันก็เริ่มถูกพูดถึงจนกลายเป็นกระแสในวงกว้าง เพียงเท่านี้ก็เตรียมตัวรับมือเป็นคนดังได้เลย รอเปิดเพจ รอบรรดาผู้จัดละครหรือผู้จัดการนักแสดงติดต่อมา หรือจะเปิดกิจการอะไรสักอย่างของตัวเองก็ย่อมทำได้

กระบวนการการเป็นคนดังในยุคนี้มีเท่านี้เอง หลังจากที่เริ่มได้แสงสว่าง ก็อาจจะมีนักข่าวมาสัมภาษณ์ เริ่มได้งานในวงการบันเทิง (อะเนอะ) เริ่มมีเหล่าลูกหาบที่คอยสนับสนุน หลายคนพร้อมอวยแบบไม่ลืมหูลืมตา หลายคนก็มาเพราะถูกใจคอนเทนต์ช่วงแรก ๆ แต่หลัง ๆ พอเริ่มรู้สึกว่ามันผิดคอนเซ็ปต์จากเดิมหรือรู้สึกได้ว่าเขาเปลี่ยนไปก็เริ่มตีห่างออกมาแบบเงียบ ๆ กระนั้นก็มีอีกหลายคนที่คาดหวังภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่จากบุคคลนั้นเสียเต็มประดา เมื่อผิดหวังเพราะเขาทำให้ถูกใจเราไม่ได้ ก็เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก่นด่าตามมาเรื่อย ๆ

แล้วเคยสังเกตหรือไม่ว่าคนที่ดังในชั่วข้ามคืนนั้น พวกเขาดังขึ้นมาจากข่าวในลักษณะไหน อันที่จริงก็มีอยู่หลายปัจจัยที่ทำให้คนคนหนึ่งกลายเป็นคนดัง หลาย ๆ คนเป็นพลเมืองดี ทำเรื่องน่าชื่นชม หรือเป็นตัวอย่างด้านจิตสำนึกให้กับอื่น ๆ ในสังคมได้ ทว่าคนกลุ่มนี้มักจะมีชื่ออยู่ตามข่าวไม่กี่วันแล้วก็หายเงียบไปเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น ในทางตรงกันข้าม คนที่ดังขึ้นมาจากคลิปฉาว ทำเรื่องไม่ดี เรื่องไม่เหมาะสม มีพฤติกรรมไปในด้านลบ ไม่ได้มีอะไรที่น่าชื่นชม กลับมีที่ยืนในสังคมนี้มากกว่าที่คิด ยิ่งถ้ามีดีที่หน้าตาด้วยแล้วล่ะก็ กองอวยจะมากกว่ากองด่า และที่สำคัญเตรียมเข้าวงการบันเทิงได้เลย

นี่คือสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคม การให้ค่าคนที่ทำเรื่องไม่ดี เรื่องไม่เหมาะสม มีพฤติกรรมไปในด้านลบ จนสุดท้ายพวกเขาก็กลายเป็นคนดังของสังคม กลับกลายเป็นว่ายิ่งฉาวมากเท่าไรก็ยิ่งดังมากเท่านั้นในสังคมนี้ และพอคนกลุ่มนี้มีที่ยืนในสังคม ก็ยังคงทำพฤติกรรมเดิม ๆ แบบที่ไม่ได้แยแสเลยว่าตัวเองกำลังทำเรื่องที่ไม่ได้สร้างสรรค์หรือจรรโลงอะไรสังคมเลยแม้แต่น้อย แต่กำลังหากินกับเรื่องที่สังคมไม่ให้การยอมรับ

ยิ่งเกรียน ยิ่งถ่อย คนยิ่งชอบ?

ทุกวันนี้คอนเทนต์ที่เราเสพกันในสื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย นับวันยิ่งปรากฏคอนเทนต์ที่ “แรง” แรงทั้งเนื้อหาและการใช้ภาษาอยู่เต็มไปหมด แม้ว่าหลายคนจะรู้สึกว่ามันแรงเกินไปที่จะเป็นคอนเทนต์ที่สาธารณชนทั้งเด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม เพราะคอนเทนต์พวกนั้นยิ่งแรงก็ยิ่งดัง ยิ่งเกรียนคนยิ่งชอบ และจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้จบลงแค่ความเกรียนแบบเอาฮา แต่มันเริ่มหยาบคายจนถึงขั้นที่เรียกว่า “ถ่อย”

ทำไมคอนเทนต์เทือก ๆ นี้จึงได้รับความนิยม ก็เพราะว่าปัจจุบันข่าวสารและข้อมูลต่าง ๆ ในโลกออนไลน์มันมีอยู่เป็นจำนวนมาก การมีข้อมูลที่อัปเดตแบบเรียลไทม์ตลอดเวลา ทำให้หน้าฟีดของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ไหลเร็วมาก ขณะเดียวกันพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของคนเราก็คือไม่เสียเวลาอยู่กับอะไรนาน ๆ ดังนั้น คอนเทนต์ที่ไม่ได้มีอะไรดึงดูดความสนใจ นิ้วเราก็จะเลื่อนผ่านจนมันหายไปจากสายตาอย่างรวดเร็ว

การที่จะทำให้คนหยุดอ่านหรือดูคอนเทนต์นั้น ๆ จึงต้องมีการใช้เทคนิคอะไรบางอย่างที่สามารถ “ดึงดูด” และ “กระชาก” ทั้งอารมณ์และสายตาของผู้รับสารได้ภายในเสี้ยววินาที แต่จะทำให้คนอยู่ได้นานเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับเนื้อหาว่าน่าสนใจเพียงพอหรือไม่ เพราะถ้ามันหยาบคายมากเกินไปหลาย ๆ คนก็คงทนดูไม่ไหวเหมือนกัน ฉะนั้น คอนเทนต์พวกนี้จึงทำออกมาในลักษณะที่ใช้ความเกรียนแบบฮา ๆ เพื่อดึงดูด ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องแย่อะไร

อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือ บทสนทนาโต้ตอบระหว่างผู้สร้างกับผู้เสพในคอนเทนต์ประเภทนี้ มักจะมีการใช้ภาษาในระดับ “กันเอง” หรือเป็นคำพูดที่เรานิยมใช้พูดคุยกับเพื่อนฝูงที่สนิทสนมด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ทั่วไปคือ การใช้สรรพนาม “มึง-กู” มีคำหยาบทั่วไปที่เรามักใช้คุยกับเพื่อนอยู่แล้ว รวมถึงการกล้าที่จะใช้คำแรง ๆ แบบที่เพื่อนสนิทกันสามารถใช้คุยกันได้ เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ใกล้ชิดสนิทสนม รู้สึกว่าจับต้องได้ เสมือนได้สนทนากับเพื่อนในชีวิตจริง เมื่อได้อ่านหรือฟังจึงรู้สึกถูกใจจากนั้นจึงแชร์ต่อ ทำให้ยอดวิว ยอดไลก์ หรือยอดผู้ติดตามเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ดี การใช้สรรพนาม “กู-มึง” อาจไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าคอนเทนต์นั้น ๆ หยาบคายอีกต่อไปแล้วในยุคนี้ เพราะมันกลายเป็นสรรพนามที่ใช้กันทั่วไปในการสื่อสารของผู้สร้างคอนเทนต์และผู้เสพคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ ขึ้นอยู่กับบริบท สารที่นำเสนอ คาแรคเตอร์ของผู้สร้างคอนเทนต์ กลุ่มเป้าหมาย การใช้สรรพนามกู-มึงจึงลื่นไหลกว่าและไม่ได้ให้ความรู้สึกไปในทางลบ ไม่ได้รู้สึกหยาบคาย ตราบเท่าที่ไม่มีอะไรมาดึงให้เนื้อหาไปในทางลบมากกว่าที่นำเสนอ มันก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ทุกคนก็ทราบดีว่าไม่ใช่สรรพนามที่จะไปใช้กับใครซี้ซั้ว

นอกจากนี้ยังรวมถึงคาแรคเตอร์ของผู้สร้างคอนเทนต์ ที่มักจะออกไปในแนวเกรียน ๆ เพื่อให้คนรู้สึกจับต้องได้เหมือนเพื่อนสนิทคนหนึ่ง เพราะเพื่อนสนิทน่าจะเป็นบุคคลไม่กี่คนที่เราไม่จำเป็นต้องสงวนท่าที ไม่ต้องอ้อมค้อมหรือประดิษฐ์คำพูดเวลาสนทนา สามารถแสดงความเป็นกันเองได้เต็มที่ คาแรคเตอร์เกรียน ๆ ของผู้สร้างคอนเทนต์จึงเข้าถึงผู้รับสารได้ง่าย ด้วยความ “เป็นคนตรง ๆ” แบบที่เพื่อนมักจะแสดงออกต่อกัน

แต่คอนเทนต์จำนวนไม่น้อยที่เกินขอบเขตที่ว่าเกรียนเพื่อเอาฮาเท่านั้น เพราะคำพูดที่ใช้มันเริ่มแรงขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มมีคำหยาบที่อัปเลเวลขึ้นมามากกว่าที่ใช้พูดกันเล่น ๆ ทั่วไป มีการใช้คำที่สื่อไปทางลามกอนาจาร ซึ่งก็ยังอ้างว่า “เป็นคนตรง ๆ” เพื่อสนับสนุนให้คำพูดแรง ๆ เหล่านั้นของตนเองเป็นที่ยอมรับให้ได้ หากใครรับไม่ได้ก็ให้ข้ามไป ทั้งที่ความจริงแล้ว “เกรียน” กับ “ถ่อย” มันห่างจากกันแค่นิดเดียว

แต่ “ถ่อย” ไม่ได้ทำให้ดูเท่

หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่าการทำตัวเป็นคนตรง ๆ แรง ๆ ไม่สร้างภาพ ไม่เสแสร้งพูดจาดี ๆ ประมาณว่าคิดอะไรก็พูดก็ทำแบบนั้นคือความจริงใจที่จะมอบให้คนอื่น แต่จริง ๆ แล้วการจะเข้าสังคมเราต้องคำนึงถึงมารยาทในการอยู่ร่วมกันด้วย จะไปเป็นคนตรง ๆ โดยไม่มีมารยาทกับคนอื่นไม่ได้ โดยเฉพาะคนที่เขาไม่ได้รู้สึกอินด้วย จะต้องคำนึงว่าขอบเขตที่สังคมอนุญาตให้มีสิทธิ เสรีภาพที่จะทำมันอยู่ตรงไหน ไม่เสแสร้ง ไม่ใส่หน้ากาก แต่ทุกอย่างมีขอบเขต

ยกตัวอย่างง่าย ๆ การพูดจาสุภาพไม่ใช่ความเสแสร้ง แต่เป็นมารยาทพึงมี เพราะมันไม่ใช้เรื่องที่เราจะไปพูกกระโชกโฮกฮากหรือพูดคำหยาบ คำแรง ๆ ใส่คนอื่น เรื่องอื่น ๆ ก็เช่นกัน เพราะหลาย ๆ เรื่องก็ไม่ได้เป็นที่ยอมรับของสาธารณชน เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมตามกรอบวัฒนธรรม เมื่อดันทุรังจะทำแบบนั้น ก็อาจมีคนอื่น ๆ รู้สึกไม่พอใจ

เพราะการมีคาแรคเตอร์ถ่อย ๆ มันดูเรียกร้องให้คนมาสนใจได้ไม่ว่าจะสนใจแบบชื่นชมหรือก่นด่า หลายคนจึงเข้าใจว่าพฤติกรรมแบบนี้มันดูเท่ แต่จริง ๆ แล้วไม่เลย ถ่อยก็คือถ่อย คนทั่วไปก็รู้สึกว่ามันเป็นพฤติกรรมที่ไม่มีมารยาทและน่ารังเกียจที่จะทำต่อสาธารณชน หลายพฤติกรรมก็มีเหตุและผลในตัวมันเองว่าทำไมจึงไม่สมควรที่จะทำ และทำไมสังคมจึงรับไม่ได้

เช่น การขึ้นไปยืนบนโต๊ะอาหาร ซึ่งเป็นโต๊ะในร้านสาธารณะ การมองว่าเท้าเป็นอวัยวะต่ำอาจเป็นกรอบความคิดที่โบราณ คนรุ่นใหม่ที่ต่อต้านกรอบความคิดเดิม ๆ อาจจะรู้สึกว่าแล้วยังไงล่ะ เท้าก็แค่อวัยวะหนึ่ง แต่จริง ๆ แล้วสิ่งที่ควรโฟกัสก็คือ นั่นคือโต๊ะที่เราใช้กินข้าว มันก็ไม่สมควรที่จะขึ้นไปเดินไปเหยียบ เพราะเราใช้เท้าเดินไปทั่วบนพื้น เท้าจึงไม่ควรจะขึ้นไปอยู่บนโต๊ะที่ใช้กินข้าวอยู่แล้ว ที่สำคัญ โต๊ะร้านอาหารก็จะมีคนอื่น ๆ มาใช้ต่อ ต่อให้เช็ดทำความสะอาดอย่างดีก็รู้สึกไม่สบายใจอยู่ดี

นี่คือวิธีคิดง่าย ๆ ที่ไม่ต้องเถียงกันว่าเป็นความคิดโบราณอะไรเลย แค่หลักตรรกะง่าย ๆ เท่านั้น แม้ว่าจะมีคนเตือนและอธิบายว่าทำไมถึงไม่สมควร แต่ก็ไม่เปิดใจฟัง คิดเองเสมอว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นดีแล้ว ถูกแล้ว ยังคงเถียงข้าง ๆ คู ๆ ต่อไป และเฟียสใส่คนอื่น ๆ ที่เห็นต่าง ซึ่งก็ไม่แปลกที่สุดท้ายมันจะกลายเป็นเรื่องดราม่าที่พาทัวร์ไปลงมากมาย ต่อให้ยังมีลูกหาบที่คอยแก้ต่างและสนับสนุน แต่สุดท้ายแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมที่ทำมาทั้งหมดนั้นไม่ได้ดูเท่เลยสักนิด แถมยังดูถ่อยนั่นเอง

ก็เพราะว่าสังคมยังให้ค่าคอนเทนต์เกรียน ๆ มากกว่าคอนเทนต์ดี ๆ

อันที่จริงจะไปโทษคนทำคอนเทนต์ลักษณะนั้นฝ่ายเดียวก็ไม่ถูกเสียทีเดียว ในเมื่อการนำเสนอของคนกลุ่มนี้ยึดตามกลุ่มเป้าหมาย ตามพฤติกรรมการเสพคอนเทนต์ของแต่ละคน คอนเทนต์ที่ผลิตออกมาจึงต้องตอบโจทย์ หากคนเสพชอบแบบแรง คนเสนอก็ต้องแรงตาม เมื่อมีคอนเทนต์แรง ๆ มากเข้า กลายเป็นต้นแบบหรือมาตรฐานว่าถ้าอยากให้คนสนใจก็ต้องแรงให้ได้มากกว่านี้ พอถูกนำมาเสนอในแง่ความบันเทิง สนุก ตลก ฮา อาจมีความรู้ด้วยนิดหน่อย คอนเทนต์แรง ๆ จึงเป็นคอนเทนต์ปกติในโซเชียลมีเดีย ที่มีแนวโน้มว่าจะแรงได้มากกว่านี้อีก

ทุกครั้งที่มีดราม่าแบบนี้ ก็จะยังคงมีคนที่คอยแก้ต่าง โพสต์อวย หรือยังคงสนับสนุนอยู่ดี พร้อมกับไล่คนเห็นต่างว่า “ไม่พอใจก็ไม่ต้องดู ไม่ถูกใจก็แปลว่าไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายของเขา” นั่นก็เท่ากับว่าเราเมินเฉยต่อพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และมองว่าถ้าคิดว่าไม่ดีก็ไม่ต้องดู ทั้งที่ความจริงมันไม่ควรมีใครทำคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสมแต่แรกแล้วหรือเปล่า ต่อให้คนกลุ่มนี้ทำผิด ทำไม่ดี ก็จะยังมีคนคอยให้ค่า ให้แสง ดีไม่ดีคือดังกว่าเดิม สิ่งที่สังคมควรทำคือช่วยกันกรองสิ่งที่คิดว่าไม่เหมาะสม ตักเตือนกัน เพื่อมอบสิ่งดี ๆ ให้สังคม ให้สังคมน่าอยู่ขึ้นกว่านี้

ในทางกลับกัน คอนเทนต์ดี ๆ มีสาระ หรือเน้นพูดคุยกันด้วยภาษาดอกไม้กลับได้รับความนิยมไม่เท่ากับคอนเทนต์เกรียน ๆ สาเหตุก็เป็นเพราะสังคมให้ค่ากับคอนเทนต์เกรียน ๆ มากกว่า ยิ่งฉาวก็ยิ่งดัง ต่อให้ดังเพราะถูกด่าถูกทัวร์ลงก็ตาม แต่มันก็เป็นช่องทางที่ทำให้มีคนสนใจ เป็นช่องทางให้คนรู้จัก เป็นช่องทางที่จะกลายเป็นกระแสให้จุดติดนั่นเอง

ไม่จำเป็นต้องให้ “ความเกรียน” เป็นคาแรกเตอร์นำ

อย่างไรก็ดี มีคอนเทนต์และผู้สร้างคอนเทนต์จำนวนไม่น้อยที่ยังคงยืนหยัดที่จะสร้างคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์และจรรโลงสังคมมากกว่าจะบ่อนทำลาย เพราะมีจำนวนไม่น้อยที่สามารถโด่งดังและปังได้โดยไม่ต้องพึ่งพาคาแรคเตอร์เกรียน ๆ ให้คนเสพรู้สึกอึดอัดหรือไม่สบายใจ ของแบบนี้อยู่ที่กลวิธีหรือเทคนิคว่าจะเรียกร้องให้คนสนใจอย่างไรโดยไม่ต้องพึ่งความฉาวหรืออาศัยทัวร์มาลงจนเป็นที่รู้จัก

แน่นอนว่ามันอาจใช้เวลา เพราะการนำเสนอหลาย ๆ อย่างมันไม่สะดุดตา สะดุดหู สะดุดใจได้เร็วเท่ากับพวกคำพูดแรง ๆ หรือบุคลิกเกรียน ๆ แต่เชื่อเถอะว่าหากคอนเทนต์นั้นดีและมีคุณภาพจริง ๆ ก็จะค่อย ๆ เรียกให้คนมาสนใจ เกิดการบอกต่อ แล้วมันก็จะปังได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคาแรกเตอร์เกรียน ๆ ถ่อย ๆ รวมถึงไม่จำเป็นต้องใช้สรรพนามกู-มึง เพื่อสร้างความสนิทสนมกับผู้เสพคอนเทนต์ขนาดนั้นด้วยซ้ำไป ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเนื้อหาและความพยายามที่จะดึงดูดคนเข้าไปเสพคอนเทนต์

สำหรับผู้ที่สร้างคอนเทนต์ เราเลือกได้ว่าจะให้คนอื่น ๆ พูดถึงเราในลักษณะไหน อยากให้คนชื่นชมหรือทัวร์ลงทุกวัน เลือกได้ว่าอยากดังเพราะเรื่องดี ๆ หรือเรื่องฉาว ๆ เลือกได้ว่าอยากจะค่อย ๆ เป็นที่รู้จัก ค่อย ๆ ปัง แต่ปังไปนาน ๆ หรือปังแค่ประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็พัง ทุกอย่างอยู่ที่เราจะทำตัวเอง ถ้าเรามีความสามารถจริง ๆ ไม่ว่าอะไรก็ขวางไม่ได้ เพราะ “ถ่อย” หรือ “เกรียนจัด ๆ” ไม่ได้ทำให้ใครดู “เท่” มันอาจทำให้คอนเทนต์ที่สร้างปังขึ้นมาชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท้ายที่สุด มันก็จะถูกตั้งคำถามว่าเหมาะสมแล้วหรือที่จะนำเสนออะไรแบบนี้