ดราม่าเพราะคาดหวังในตัวคนดัง จำเป็นแค่ไหนที่ต้องไหลตาม

ในยุคที่ใคร ๆ ก็สามารถแจ้งเกิดและเป็นคนดังได้ในชั่วข้ามคืน โดยอาศัยเครื่องมือที่เรียกว่าโลกออนไลน์เป็นสื่อกลาง เริ่มมาจากการจุดติดอะไรบางอย่างจนกลายเป็นไวรัล ทำให้เรื่องนั้น ๆ ถูกแชร์ออกไปอย่างรวดเร็ว พอมีคนสนใจเรื่องนั้นมากเข้าก็จะกลายเป็นกระแส คนที่เป็นต้นเรื่องของไวรัลก็จะเป็นที่รู้จัก กลายเป็นคนดัง เมื่อเป็นคนดังชีวิตก็เปลี่ยนไป เริ่มมีคนอื่น ๆ ที่ไม่รู้จักมากระหน่ำกดไลก์ กดแชร์ เริ่มถูกอวยจากกลุ่มคนที่ตั้งตัวเป็นลูกหาบเพราะรู้สึกชื่นชอบ ชื่นชม เริ่มมีแสงไฟส่องมาหาจากทุกทิศทาง ซึ่งคนเหล่านี้ก็มักใช้โอกาสนี้สร้างโอกาสของตัวเองขึ้นมา

การอยู่ในที่สว่าง เวลาทำอะไรก็จะมีคนจับตามอง ถ้ายังรักษากระแสได้ดีอยู่เรื่อย ๆ ก็จะเริ่มมีอิทธิพลต่อสังคมในทางใดทางหนึ่ง มีอำนาจที่สามารถชี้ทางซ้ายขวา จนอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางความคิดหรือการกระทำบางอย่างของคนในสังคม เหมือนกับว่าความดังนั้นมาพร้อมกับหน้าที่ในฐานะ “คนของสาธารณะ” ความคาดหวังจากคนในสังคมจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คนเริ่มกดดันว่าจะต้องทำอะไร ๆ ที่มันคู่ควรกับแสงสว่างที่ได้จากสาธารณชน ถ้าทำไม่ได้หรือไม่ทำ สังคมที่สร้างคนดังคนนั้นขึ้นมาก็พร้อมจะเหยียบให้จมทางเหมือนกัน

ด้วยความที่อินเทอร์เน็ตสามารถเชื่อมคนจำนวนมากเข้าหากันได้ในคราวเดียว ทำให้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นสามารถมองเห็นได้ง่ายขึ้นกว่าเมื่อก่อน โดยเฉพาะอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในช่องทางที่สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้ง่ายอย่างโซเชียลมีเดีย ความดังและชื่อเสียงของบุคคลจะกลายเป็นตัวตนที่ถูกสร้างขึ้นให้ทุกคนได้เสพ ไม่มีใครรู้หรอกว่าตัวตนจริง ๆ ของเขาเป็นอย่างไร เพราะสาธารณะรู้จักเขาแบบนี้ การกระทำที่คิดน้อยเกินไป ไม่ได้ไตร่ตรองให้ดี หรือก็แค่ทำอย่างที่ใจนึกจะย้อนกลับมาทำร้ายได้ในพริบตา ต่อให้โพสต์ปุ๊บและลบปั๊บ ก็ยังจะเจอพวกที่แคปทันไวกว่าอยู่ดี

หลังจากนั้นก็อยู่ที่ว่าจะเลือกเดินทางไหน จะเลือกปิดบังตัวตนจริง ๆ ของตนเองแล้วรักษาตัวตนที่สาธารณะรู้จักต่อไป มีการออกมาขอโทษขอโพยสังคม หงายการ์ดรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขอสังคมให้โอกาส แต่สุดท้ายตัวตนจริง ๆ ก็ปิดบังไม่มิดอยู่ดี เรื่องน่าผิดหวังยังคงเกิดขึ้นแบบวันเว้นวัน หรือจะเลือกเปิดเผยตัวตนจริง ๆ ของตนเองแล้วค่อย ๆ หาทางประนีประนอม หากไม่ร้ายแรง สังคมก็ให้อภัย ความเดือดดาลลดลง หรืออีกทางเลือกก็คือท้าชนกับแรงต้านของสังคมไปเลย ใครใคร่ตามตาม ใครไม่พอใจก็ไม่ต้องมาตาม หรือบางคนก็พอกันทีกับวิถีการเป็นคนดัง

เมื่อคนดังต้องมาสวมหัวโขนการเป็นคนของสาธารณะ พวกเขาจะมีสิทธิพิเศษบางอย่างมากกว่าคนธรรมดาทั่วไป อย่างน้อยที่สุดก็คือการที่คนเหล่านี้สามารถเข้าถึงคนได้เป็นจำนวนมาก บทบาทหน้าที่ใหม่ ๆ ก็จะตามมาจากการที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงชีวิตพวกเขาได้ คนในสังคมจึงเริ่มมองว่าการออกมาขับเคลื่อนสังคมหรือเป็นแบบอย่างที่ดีก็เป็นหน้าที่หนึ่งที่คนดังควรจะต้องทำ เพราะการกระทำของพวกเขามีคนรู้เห็นมากกว่าคนทั่วไป และอาจมีผลต่อคนจำนวนมาก

คาดหวังว่าเขาต้องทำ แล้วถ้าเขาไม่ทำมีสิทธิ์ด่าไหม?

เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกอย่างที่เกี่ยวกับคนดังจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจเสมอ แม้ว่าคนดังคนนั้นจะยังถูกตั้งคำถามว่า “ใครวะ?” ก็ตาม แต่ถ้ามีคนจำนวนหนึ่งรู้จักเขา สิ่งที่เขาทำก็กลายเป็นข่าวได้ หากเป็นข่าวฉาวด้วยแล้วยิ่งกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็น กระตุ้นอารมณ์อยากจะมีส่วนร่วม เพราะการอยู่ในที่สว่าง ภาพลักษณ์ในการวางตัวในจุดที่เป็นคนของสังคมจึงตามมา เวลาที่มีคนรักมาก ๆ คนชังก็มีเหมือนกัน เพียงแต่ยังหลบอยู่ในมุมมืดไม่เช่นนั้นจะเป็นการสวนกระแส นั่นหมายความว่าเมื่อไรก็ตามที่ล้ม ก็มีคนที่รอเหยียบซ้ำพอ ๆ กับคนที่ให้กำลังใจนั่นเอง

เมื่อคนดังมีข่าวในด้านลบ ความรู้สึกผิดหวัง (จากการไปคาดหวัง) ก็เกิดขึ้น เพราะสิ่งที่เห็นในเวลานี้มันช่างแตกต่างจากเขาที่เราเคยรู้จัก รู้สึกเหมือนถูกหลอกลวงให้เชื่อภาพมายาที่สร้างขึ้น หลาย ๆ คนที่เคยสนับสนุน เคยศรัทธา เคยเชื่อถือก็เลิกเข้าข้างแล้วหันมาเป็นปฏิปักษ์ ด่าว่าเสีย ๆ หาย ๆ แทน ในทางกลับกันเราก็อาจไม่ทันคิดว่าเราเองหรือเปล่าที่ไปคาดหวังกับเขาเองว่าเขาต้องดีแบบนั้นแบบนี้ รวมถึงก็ไม่ได้พิจารณาว่าภาพที่เรารู้จักเขาก่อนหน้านี้ก็อาจจะไม่ใช่ภาพมายาที่เขาจงใจสร้างก็ได้ มันก็เป็นแค่สิ่งที่เขาทำแค่บังเอิญดังเท่านั้นเอง

“สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” คนดังก็ยังเป็นคนหาใช่พระเจ้า หรือแม้แต่พระเจ้าในตำนานต่าง ๆ ก็ยังมีเรื่องไม่พึงปรารถนาเลย ฉะนั้นแล้ว ทุกคนก็ทำผิดพลาดได้ทั้งนั้นไม่ว่าเขาจะเป็นใครก็ตาม หากเขารู้ตัวว่าผิดจริง สำนึกผิดแล้ว ก็ควรให้อภัยในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง แต่ถ้าเขาไม่สำนึกก็แค่ปล่อยให้ความไร้สามัญสำนึกของเขาลงโทษตัวเขาเองไป เพราะสุดท้ายแล้วคนเราก็มักจะแพ้ภัยตัวเองเสมอ แต่ถ้าเขาผิดเพราะทำให้เราผิดหวัง เขาผิดเพราะไม่เป็นในแบบที่เราไปคาดหวังเขา เราก็ไม่มีสิทธิ์จะไปด่าเขาเสีย ๆ หาย ๆ เช่นกัน ต้องไม่ลืมว่าเราไปคาดหวังเขาเอง แต่จะวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นที่เขาละเลยอะไรบางอย่างไปนั่นก็อีกเรื่อง แยกแยะเป็นกรณีไป

ดราม่าสังคม จำเป็นแค่ไหนที่ต้องไหลตาม

พอขึ้นชื่อว่าเรื่องดราม่าแล้ว ประเด็นดราม่าที่ว่าจะอยู่ในความสนใจของคนในสังคมอยู่ราว ๆ 4-5 วันเลยทีเดียว ยิ่งดราม่าใหญ่ ๆ ก็อาจจะถูกพูดถึงกันในโลกออนไลน์อยู่เป็นสัปดาห์ และตลอดระยะเวลาที่ดราม่ากำลังระอุ อยู่ในความสนใจของคนจำนวนมาก รถทัวร์ก็จะขนทัวร์จำนวนมากไปเยือนเจ้าตัวถึงที่ เหตุก็มาจากความไม่พอใจ ความผิดหวัง เมื่อรวมกับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ชังเป็นทุนเดิม ก็จะร่วมปั่นให้ดราม่ามันใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ

คำถามคือเวลาที่เกิดเรื่องดราม่า เราควรเอาตัวเองไปยืนอยู่ในจุดไหน ในฐานะคนนอก จำเป็นแค่ไหนที่ต้องไหลตามดราม่าแล้วไปผสมโรงด่าร่วมกับคนอื่น ๆ จนมีการแท็กทีมเข้าข้างคนนั้นไม่เข้าข้างคนนี้เกิดขึ้น เกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โตลากยาวไปเป็นสัปดาห์ โดยเฉพาะเรื่องที่เราเองก็ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรเลย มันจำเป็นขนาดนั้นจริง ๆ เหรอ?

เราจำเป็นต้องด่าคนที่อยู่ในดราม่าหรือไม่? คือสิ่งที่เราทุกคนควรฉุกคิดสักนิด เรามีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นก็จริง คนดังมีสิทธิ์ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในบางเรื่องก็ใช่ แต่มันควรจะเป็นไปในทางสร้างสรรค์ สิ่งที่เราโพสต์ด่านั้น จริง ๆ ก็เป็นเพียงแค่การแสดงออกทางความคิดเห็นและระบายความรู้สึกคุกรุ่นเท่านั้น การด่าจึงถูกนำมาเป็นอาวุธในการทำร้ายคนอื่นมากกว่าที่จะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ฉะนั้น จะแสดงความคิดเห็นอะไรก็ขอให้คิดให้เยอะ ๆ และระมัดระวัง ไม่เช่นนั้นมันจะเป็นการลงโทษมากกว่าความผิดที่เขาก่อ

การวิพากษ์วิจารณ์จะทำได้ก็แค่สิ่งที่เขาทำผิด บนพื้นฐานว่า “วิพากษ์วิจารณ์≠ด่า” และไม่ควรลามไปถึงชีวิตส่วนตัว เพราะการวิพากษ์วิจารณ์คือการติหรือชมด้วยเหตุและผล ไม่ใช่การด่าให้เสียหายด้วยถ้อยคำหยาบคาย การเอาแต่ด่าไม่ชี้แนะ ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นเลย ซ้ำร้ายยังอาจกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่เริ่มจะสนุกไม่ออก อย่าคิดแค่สนุกปาก บันเทิงใจตัวเองเท่านั้น หากเขาทำให้เราผิดหวัง แค่หันหลังให้เขาเฉย ๆ ก็ได้ ไม่สนับสนุน ไม่ติดตามอีกต่อไปแล้ว ไม่เห็นต้องไปตามด่าเอาเป็นเอาตาย

เพราะเรื่องแบบนี้ไม่มีใครอยากเจอ ที่จู่ ๆ คนทั้งสังคมก็หันมารุมประณาม จริงอยู่ที่ว่าเขาอาจจะทำผิด ทำไม่ดี มูลเหตุสมควรถูกลงโทษ แต่มันเกินกว่าเหตุที่เขาก่อหรือไม่ การลงโทษมันก็มีขอบเขตอยู่ สิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็นคนเรามีเหมือนกันทุกคน แต่สิทธิ์ที่อีกฝ่ายจะปกป้องตนเองก็มีเช่นกัน หากเราไม่ได้รู้ตื้นลึกหนาบางเท่าที่ควร การตามเสพอยู่ห่าง ๆ อาจง่ายและเหมาะสมกับเรามากกว่าการเข้าไปมีส่วนร่วมในดราม่าก็ได้ ต้องระวังเขาจะดำเนินตามกฎหมายด้วย

ท้ายที่สุดแล้วเราไปคาดหวังในตัวคนดังมากเกินไปหรือเปล่า

สิ่งที่เราอาจจะลืมไปก็คือ “ตัวตนจริง ๆ ของบุคคล” หน้าม่านเขาอาจเป็นอย่างและหลังม่านก็อาจไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด การคาดหวังในตัวคนดังว่าเขาต้องอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่เราอาจลืมนึกไปว่าในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เขาก็มีตัวของเขาที่มันอาจจะไม่ถูกใจเราทุกอย่าง ถ้าเราผิดหวัง ก็เป็นสิทธิ์ที่เราจะหันหลังให้ ไม่ให้ค่า ไม่ให้ราคา เพียงเท่านี้ก็เป็นการลงโทษที่เพียงพอแล้ว ไม่ใช่การตามด่าแบบกะเอาให้จมดิน เพราะมันก็ไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นขนาดนั้นที่เขาต้องทำทุกอย่างตามที่สังคมต้องการ ในเมื่อเขาก็มีสิทธิ์เลือกที่จะทำที่จะเป็น ตามสิทธิเสรีภาพที่พึงมี โดยไม่ต้องเอาอกเอาใจสังคมหรือใคร ๆ

บางทีเราอาจต้องแยกให้ออกว่าเขาทำผิดจริงหรือแค่ไม่ทำในแบบที่เราอยากเห็นจนทำให้เราผิดหวัง และที่เราผิดหวังนั้น เป็นเพราะเราไปคาดหวังให้เขาเป็นอย่างที่เราต้องการหรือเปล่า การวิพากษ์วิจารณ์เป็นสิ่งที่ทำได้ แต่สิ่งที่ต้องระวังให้มาก ๆ ก็คือเส้นกั้นบาง ๆ ระหว่างการวิจารณ์พฤติกรรมที่เขาทำกับการตราหน้าตัวบุคคลจนหมดที่ยืนในสังคมด้วยการด่าและวัฒนธรรมการแบน

การได้มาซึ่งชื่อเสียง ก็อาจทำให้คนดังต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น ทว่าเราอาจต้องตระหนักด้วยว่าเราจะเอาตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมในชีวิตของคนอื่นขนาดนั้นเพื่ออะไร คนดังก็แค่เป็นคนที่มีชื่อเสียงมากกว่าคนอื่น ไม่ได้แปลว่าจะเป็นคนดีมากกว่าคนอื่น หากแต่พวกเขาก็เป็นเหมือนคนทั่ว ๆ ไป ต่างมีข้อบกพร่อง มีข้อเสีย คาดหวังว่าเขาต้องเป็นคนดีในแบบที่เราต้องการให้น้อยลง และจงเชื่อว่าในทุกการกระทำมีผลลัพธ์อยู่ในตัวเองเสมอ ถ้าเขาทำไม่ดี เขาก็จะแพ้ภัยตัวเองไปในที่สุดโดยที่เราไม่ต้องไปดราม่าอะไรเลย หากสิ่งที่เขาทำนั้นไม่เหมาะสม เขาก็จะสะดุดขาตัวเองเข้าสักวัน