9 สิ่งที่ เจ ชนาธิป บอกไว้ชัด ๆ สำหรับนักบอลรุ่นใหม่และเก่า (ตอนที่ 2)

หลังจากคอลัมน์ที่ผ่านมา ได้เกริ่นถึงที่มาที่ไปของคอลัมน์ “9 สิ่งที่ เจ อยากบอก” ซึ่งในคอลัมน์ที่แล้วเป็นเพียงแค่ตอนที่ 1 โดยในหัวข้อนี้จะมีทั้งหมด 9 ตอน ทยอยเขียนมาฝากท่านผู้อ่านในคอลัมน์ชีวิตติดรองเท้า

สิ่งที่อยากจะเพิ่มเติมก็คือ จากภาพเป้าหมายในตอนที่ 1 ที่อยากให้มีนักเตะไทยได้ออกไปค้าแข้งในต่างประเทศในสัดส่วนที่มากขึ้น มันอาจจะดูยากมากในการทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นในเร็ววัน พูดง่าย ๆ คือมันไม่มีทางลัดด้วยการใช้เงิน เราไม่สามารถโยนงบประมาณจำนวนระดับหลายหมื่นล้านลงไป แล้วทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมายได้ทันที ขนาดกาตาร์ที่มีเงินถุงเงินถัง สร้างโปรเจ็กต์ Aspire พัฒนาฟุตบอลระดับ 4 หมื่นล้าน ก็ยังต้องใช้เวลาบ่มเพาะถึง 15 ปี กว่าจะคว้าแชมป์ระดับเอเชียได้

แต่ถ้าถามความเห็นส่วนตัวของผม ผมว่ามันมีโอกาสเป็นไปได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินงบประมาณในระดับกาตาร์เพราะว่านักเตะไทยมีศักยภาพจำนวนมาก เพียงแค่เพิ่มบางสิ่งบางอย่างลงไปอย่างที่เจได้บอก ผสมผสานกับการใช้เทคโนโลยีและโซเชียลให้ได้ประโยชน์ นักเตะไทยก็พร้อมที่จะออกไปผจญภัยในต่างประเทศได้ทันที

และเมื่อเราใช้หลักการสมัยใหม่อย่าง “การคิดใหญ่ ทำเล็ก ทำทันที” โดยแบ่งเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของเราออกเป็นเป้าหมายเล็ก ๆ อย่างเช่น การเพิ่มการส่งออกนักเตะไทยเพิ่มปีละ 1 คน แล้วก็ขยับเป็น 2 เป็น 5 เป็น 10 ต่อไปเรื่อย ๆ เป้าหมายใหญ่ของเราก็จะมีโอกาสสำเร็จมากขึ้นอย่างเป็นแบบแผนและคาดการณ์ล่วงหน้าได้

วันนี้มาต่อในเรื่องที่ 2 กันครับ

9 สิ่งที่ เจ ชนาธิป บอกไว้ชัด ๆ เรื่องที่ 2 พัฒนาระยะทางการวิ่งต่อเกม

เรื่องที่ 2 นี้ เจได้พูดไว้ในการสัมภาษณ์ในรายการของพี่ซิโก้ ใจความว่า “ไปเล่นที่ญี่ปุ่นต้องวิ่งทั้งเกมระยะทาง 11-12 กิโลเมตร จากเดิมที่เล่นในไทยวิ่งแค่ 7 กิโลเมตรเท่านั้น”

และเมื่อผมเอาข้อมูลมาเสริมกับที่พี่ซิโก้เคยบอกตอนให้สัมภาษณ์ในรายการหนึ่งใจความว่า “ตอนไปเล่นฟุตบอลที่อังกฤษ มีความเข้มข้นมากกว่าที่เคยซ้อมในไทยถึง 5 เท่า”

หรืออย่างตอนที่ธีรศิลป์ไปค้าแข้งที่สเปนก็เคยได้บอกว่าความเข้มข้นของการฝึกซ้อมในแต่ละครั้ง มันมากกว่าบ้านเราเยอะ”

รวมทั้งตัวเลขที่เรามักเห็นในกราฟิกการถ่ายทอดสดฟุตบอลสโมสรในยุโรป จะเห็นว่านักเตะกองกลางที่มีความฟิตอย่าง เอ็นโกโล ก็องเต้, จอร์จินโญ่ ก็ต้องวิ่งในระยะทางระดับ 12 กิโลเมตรต่อเกม เพื่อให้เกมของทีมตนเองได้เปรียบกว่าฝ่ายตรงข้าม หรือนักเตะกองหน้าอย่าง ไค ฮาแวทซ์ ที่เป็นกองหน้าสมัยใหม่ที่ต้องไล่บอลในแดนหน้า ก็ยังต้องวิ่งในระยะทางระดับ 11-12 กิโลเมตรเช่นกัน

ดังนั้น ถ้าเราเตรียมความพร้อมตั้งแต่ตอนนี้ เวลาที่ต้องไปทดสอบฝีเท้ากับทีมในต่างประเทศ เราก็จะสามารถปรับตัวได้ทันที แต่ถ้าความฟิตเราไม่พร้อม แล้วได้โอกาสไปทดสอบแค่ 2 อาทิตย์ โอกาสที่เขาจะได้เห็นฟอร์มที่ดีจากเราก็ยาก เพราะเห็นได้ชัดว่าความฟิตไม่ถึง

สำหรับเรื่องตารางการฝึกซ้อมให้มีความฟิตระดับนี้นั้น ผมว่าสามารถสอบถามผู้รู้ในไทยได้ไม่ยาก หรือจะค้นหาจากในยูทูบ กูเกิล ก็น่าจะค้นเจอ (อย่าลืมว่าเราต้องมี Growth Mindset จากตอนที่ 1)

ส่วนการวัดระยะทางในการแข่งขันหรือฝึกซ้อมด้วยอุปกรณ์ที่ใช้กันในระดับสากลอาจจะมีราคาแพงสำหรับนักเตะทั่วไป ดังนั้น ผมมีทางแก้สำหรับการวัดระยะทางในการฝึกซ้อมที่ไม่ต้องลงทุนเพิ่มเลยก็คือ การใช้โทรศัพท์มือถือของตนเอง ไปโหลดแอปฯ ประเภทวัดความเร็ว และระยะทางมาใช้ อย่างเช่น Speedometer แล้วนำมือถือมาติดไว้ที่แขน หรือที่ลำตัว แล้วแต่ความสะดวกในการฝึกซ้อม ก็ช่วยให้สามารถวัดระยะทางในการวิ่งได้อย่างแม่นยำ

หรือถ้าจะไปซื้อนาฬิกาวิ่งที่มี GPS ราคาหลักร้อยมาใส่ก็เห็นมีขายในท้องตลาด ซึ่งถือว่าเป็นการลงทุนที่ไม่ได้มากจนเกินไป แค่นั้นเราก็จะพัฒนาตนเองขึ้นมาได้อีกระดับ

เรื่องที่ 2 ถือเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับฟุตบอลสมัยใหม่ สำหรับเรื่องที่ 3 จะเป็นเรื่องอะไรนั้น ผมจะนำไปเขียนต่อในคอลัมน์หน้าครับ ผมชื่อต้นนะครับ อย่าลืมติดตาม เป็นกำลังใจฝากกด Like & Share ด้วยนะครับผม