“หอชมเมืองกรุงเทพ” ความทับซ้อนที่ไม่ซับซ้อน

ดราม่าในแต่ละสัปดาห์ของโลกโซเชียลนั้นหมุนเวียนกันไม่ซ้ำทุกสัปดาห์ สำหรับช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนเข้าสู่ช่วงกลางปี 2560 อย่างเป็นทางการ เรื่องที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้สร้าง “หอคอยชมเมือง กรุงเทพ” มูลค่า 4.6 พันล้านบาท กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ร้อนแรงในโลกโซเชียล ชนิดที่รับไม้ต่อมาจากรถไฟฟ้าความเร็วสูง เมื่อสัปดาห์ก่อนเลยทีเดียว

เมื่อโลกโซเชียล คู่ขนานไปกับการใช้ชีวิตของคนในปัจจุบัน พื้นที่ในสื่อสังคมออนไลน์ทุกประเภท กลายเป็นที่แสดงความคิดเห็นได้แบบที่เรียกว่า “บิดหมดปลอก” เรื่องของ “หอชมเมืองกรุงเทพ” จึงมีทั้งคนที่ตั้งข้อสงสัย ทั้งที่เชียร์หมดใจ หรือแม้แต่เฝ้ามองดูเหตุการณ์ เพราะโครงการระดับ 4.6 พันล้านที่รัฐบาลบอกว่าเป็นเงินลงทุนจากภาคเอกชน ที่มาขอเช่าที่ดินของราชพัสดุ นั้นถือว่าเป็นอภิมหาโปรเจคในรอบปีที่คนในวงการอสังหาฯรู้ดีว่า ที่ดินตาบอดเนื้อที่กว่า 4 ไร่ในซอยคลองสาน 7 นั้น หากตอกเข็มโครงการลงไปเมื่อใด มูลค่าที่ดินละแวกใกล้เคียง จะพุ่งขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว

แต่ก่อนที่จะไปถึงวันที่โครงการ “หอชมเมืองกรุงเทพ” สำเร็จเสร็จสิ้นเราคงต้องไปดูประเทศอื่นที่มีหอชมเมืองเช่นเดียวกันว่าในแต่ละปีนั้นช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวมากขนาดไหน เริ่มกันที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง มาเลเซีย ที่มีหอคอยกัวลาลัมเปอร์เป็นจุดขายและสามารถสร้างรายได้นับร้อยล้านริงกิตหลังจากที่หอคอยนี้สร้างเสร็จในปี 2538 เช่นเดียวกับ โตเกียวทาวเวอร์ ในกรุงโตเกียว หอไอเฟล และ มหาวิหารโนเทรอดาม ในกรุงปารีส รวมไปถึง ลอนดอนอาย หรือ แม้แต่ ท็อปออฟเดอะร็อค ในนครนิวยอร์ก ที่ล้วนแล้วเรียกเงินจากกระเป๋านักท่องเที่ยวได้ปีละไม่น้อย และยังช่วยส่งเสริมให้การท่องเที่ยวในพื้นที่คึกคักตามไปด้วย

หากความจะมีแต่ด้านดีของการสร้าง “หอคอยกรุงเทพ” ก็คงจะไม่ใช่มุมมองของโลกโซเชียล เพราะในสภาพเศรษฐกิจ ที่คนทำมาหากินทั้งหลายบอกว่า “เงียบเหลือเกิน นวลจ๋า” รัฐบาลยังหันไปสนับสนุนให้มีอภิมหาโปรเจคที่ไม่ได้กระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น หากแต่เป็นการสร้างความหวังในระยะยาว แถมตอนอนุมัติโครงการโฆษกรัฐบาลก็ไม่ปรึกษากันให้ดี แถลงตัวเลขผิด แถมยังใส่คำประเภท “ไม่ต้องประมูล” ให้รู้สึกระคายหัวใจ

สุดท้ายดราม่าก็บังเกิด จนทำให้ต้องมีการออกมาชี้แจงของอธิบดีกรมธนารักษ์ ที่แจกแจงว่า “เนื่องจากโครงการมีลักษณะเชิงสังคมไม่ใช่เชิงพาณิชย์ ประกอบกับ เป็นการดำเนินงานประชารัฐ ตามแนวนโยบายประชารัฐที่เกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วนและขั้นตอนของกฎหมายร่วมลงทุน จึงนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโดยไม่ต้องใช้วิธีการประมูล อันจะสามารถสนับสนุนการเผยแพร่ถึงการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” มาใช้ในการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม”

ส่วนข้อข้องใจอื่นอย่างเช่น “หอชมเมือง ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนควรจะไปดูแลเรื่องเศรษฐกิจก่อนไหม” เรื่องนี้ก็มีคำตอบอยู่ในการจัดสร้างอยู่แล้ว รัฐเพียงแต่ให้เช่าที่ เอกชนเป็นฝ่ายออกเงินสร้าง รัฐไม่ได้เกี่ยวข้อง เรื่องปากท้องประชาชนรัฐฯต้องดูแลอยู่แล้ว เพียงแต่ ดราม่า นี้เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลไม่ได้สื่อสารแบบสองทางเพื่อสร้างความเข้าใจ เพราะพลเมืองไม่ใช่พลทหารที่จะสั่งซ้ายหันขวาหันได้ ทุกคนต่างมีสิทธิที่จะคิดหรือตั้งข้อสงสัยกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองตนเอง

เมื่อทำความเข้าใจที่มาที่ไปของอภิมหาโปรเจคนี้เรียบร้อยแล้ว เสาเข็มต้นแรกของ “หอชมเมืองกรุงเทพ” คงได้ปักลงบนที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาผืนนี้ในเวลาอันใกล้ และ งานก่อสร้างก็จะดำเนินการคู่ไปกับโครงการ ICONSIAM ซึ่งเป็นโครงการที่ พัฒนาให้ที่ดินโดยรอบ “หอชมเมืองกรุงเทพ” กลายเป็น 7 Wonder of ICONSIAM และจากนี้ชีวิตของคนคลองสานคงเปลี่ยนไปส่วนคนในพื้นที่จะดีใจหรือไม่คงต้องถามใจตัวเองดู