ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สโมสรแมนฯ ยูไนเต็ด มีการประกาศชื่อผู้จัดการทีมคนใหม่ มาแบบหลายคนงง ๆ ว่าทำไมหวยจึงไปออกที่ “โปรเฟสเซอร์” ราล์ฟ รังนิก หาใช่กุนซือมีชื่อเสียงอย่าง ซีเนอร์ดิน ซีดาน หรือ เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่ อย่างที่สื่อมวลชนหลายแขนงคาดเอาไว้
การเลือกรังนิก ด้วยสัญญา 6 เดือน บวกกับตำแหน่งที่ปรึกษาอีก 2 ปี ถ้ามองเผิน ๆ คงเดาว่าเป็นการขัดตาทัพเพื่อรอใครบางคนซึ่งสโมสรเล็งเอาไว้แล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่ว่าง จะขอมาทำงานในช่วงซัมเมอร์
มองอย่างนี้ก็น่าจะเหลือตัวเลือกในอนาคตแค่สองคนคือ เอริค เทน ฮาก กับ เมาริซิโอ โปเช็ตติโน่ ซึ่งมีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกันออกไป
แต่ถ้ามองลึกลงไปอีกหน่อย จะบอกว่านี่คือวางแผนเพื่ออนาคต ในการวางรากฐานทีมขึ้นมาใหม่ มีระบบระเบียบและสไตล์การเล่นที่แน่ชัด รวมทั้งการปั้นนักเตะรุ่นใหม่ขึ้นมาแบบมี “พิมพ์เขียว” ของ รังนิก ซึ่งอดีตเคยเป็นผู้อำนวยการกีฬาของ ไลป์ซิก และ ซัลส์บวร์ก ก็ย่อมได้
นั่นเป็นบทบาทซึ่ง “เดอะ โปรเฟสเซอร์” ถนัดที่สุดในการใช้บารมีและประสบการณ์มาวางรากฐาน “ปีศาจแดง” ต่อด้วยการดูแลให้คำปรึกษาอีก 2 ปี นั่นเท่ากับแมนฯ ยูไนเต็ด ตัดสินใจฝากอนาคตด้านฟุตบอลและทิศทางของทีมไว้กับผู้ชายคนนี้แบบเต็มตัว
อีกนัยหนึ่งคือการยุติและป้องกันการพึ่งพาความคิดเห็นจากขั้วอำนาจเก่าอย่าง เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน
ถึงเวลาที่สโมสรจะต้องสลัดอดีตอันยิ่งใหญ่ไว้เบื้องหลัง และเดินหน้าต่อไปด้วยสไตล์การทำทีมแบบยุโรปเต็มตัว เน้นระบบและแทคติคการเล่นมากยิ่งขึ้น ไม่อาศัยการซื้อซูเปอร์สตาร์มาช่วยทีมแบบสะเปะสะปะเหมือนที่ผ่านมา
รังนิก นั้นเคยวางรากฐานจน ไลป์ซิก และ ซัลส์บวร์ก ประสบความสำเร็จมาแล้ว คงไม่ผิดนักหากคล็อปป์ จะกล่าวว่า สโมสรอื่นโชคร้ายแล้วที่ แมนฯ ยูไนเต็ด ได้ผู้ชายคนนี้มาบริหารทีม
“เดอะ โปรเฟสเซอร์” นั้นเป็นเจ้าทฤษฎีในเรื่องของการเล่นแบบ “เพรสซิ่ง” หรือเพรสสูงในแดนคู่ต่อสู้ ซึ่งเขาได้อิทธิพลมาจาก อาริโก้ ซาคคี่ กุนซือ เอซี มิลาน ยุค 90 มาอีกที แล้วนำมาพัฒนาให้เข้มข้นและรวดเร็วยิ่งขึ้น จนกลายเป็นสิ่งที่เฮดโค้ชชาวเยอรมันยุคใหม่อย่าง เยอร์เก้น คล็อปป์ และโธมัส ทูเคิ่ล ให้ความชื่นชมและมอบศรัทธาให้เป็นอย่างมาก
ถึงขนาดนี้ กุนซือคนต่อไปของผีแดงจะเป็นคนชื่อ เอริค เทน ฮาก ผมก็ไม่แปลกใจแม้แต่น้อย เพราะนอกจากสไตล์จะไปด้วยกันได้แล้ว สายสัมพันธ์ระหว่าง แมนฯ ยูไนเต็ด กับ อาแจ็กซ์ โดยมี เอ็ดวิน ฟาน เดอร์ ซาร์ ผู้บริหารเป็นโซ่ข้อกลาง ยังค่อนข้างสนิทแนบแน่น
“เฮดโค้ช” คนต่อไปยังเป็นตำแหน่งสำคัญที่สุด เพราะ รังนิก นั้นเป็นเจ้าทฤษฎี เป็นสายบุ๋น แต่ถ้าลงมือทำงานจริง ๆ แล้ว เขายังคงต้องการ “แม่ทัพ” ฝีมือเก่งฉกาจ แก้เกมเฉพาะหน้าได้ดี และเหมาะสมกับสถานการณ์ในการมาทำหน้าที่เป็นผู้จัดการทีมฤดูกาลต่อไป
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในถิ่น โอลด์ แทร็ฟฟอร์ด จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนช่วงจากนี้ไปจนถึงซัมเมอร์หน้า จับตาดูกันครับ.