เลื่อนจ่าย “เงินชราภาพ” อายุ 60 ปี เพื่อคุณภาพชีวิต หรือเงินไม่พอ?

ภาพจาก Pixabay

เป็นที่แน่นอนแล้วว่า ใครที่เตรียมรอรับ “เงินชราภาพ” จากสำนักงานประกันสังคม  (สปส.) ตอนอายุครบ 55 ปี จะต้องร้องเพลงรอต่อไปอีก 5 ปี เมื่อกระทรวงแรงงานมีคำสั่งอย่างเป็นทางการให้สำนักงานประกันสังคม แก้กฎหมายจ่ายเงินชราภาพให้กับผู้ประกันตนใหม่ ด้วยการขยายเวลารับเงินจากเดิมอายุ 55 ปี ไปเป็น 60 ปี

โดยให้เหตุผลว่า กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตที่มั่นคงของแรงงาน ทั้งในช่วงที่อยู่ในระบบแรงงาน และเมื่อต้องออกจากระบบแรงงานไปแล้ว จึงเป็นที่มาของการขยายเวลาในการรับเงินสำหรับผู้ประกันตนออกไปอีก 5 ปี  ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนได้อยู่ในระบบไปจนถึงอายุ 60 ปี

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตราที่ 77 ทวิ ระบุไว้ว่า  “ในกรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน ให้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ ตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์  เว้นแต่เมื่อมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และความเป็นผู้ประกันตนยังไม่สิ้นสุดลงตามมาตรา 38 หรือมาตรา 41 ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

และในกรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน และความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลงตามมาตรา 38 หรือมาตรา 41 ให้ผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ”

สรุปง่ายๆ ว่า หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับเงิน “บำนาญชราภาพ”  คือผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 เดือน (15 ปี), ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง (ลาออกจากงานหรือถูกเลิกจ้าง) และมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์

ขณะที่ “บำเหน็จชราภาพ” จะมอบให้กับผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบไม่ครบ 180 เดือน, ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง (ลาออกจากงานหรือถูกเลิกจ้าง)  มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือเป็นผู้ทุพพลภาพ หรือถึงแก่ความตาย

อย่างไรก็ตาม การขยายเวลารับเงินออกไปอีก 5 ปี  จากอายุ 55 เป็น 60 ปี ทำให้เกิดคำถามว่า สาเหตุที่แท้จริงเป็นเพราะเงินคงคลังไม่เพียงพอในการจ่ายให้ผู้ประกันตนหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา มีผู้ยื่นความจำนงขอรับสิทธิ์ในการรับเงินชราภาพจำนวนมาก

ที่สำคัญ ข้อสงสัยดังกล่าว สอดคล้องกับที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ เคยประเมินค่าทางคณิตศาสตร์ประกันภัยไว้ด้วยว่า อีก 37 ปีข้างหน้า เงินในกองทุนชราภาพของสปส.จะถูกใช้หมดไป หากไม่มีการปรับปรุงระบบกองทุน  ทั้งที่เพิ่งเริ่มจ่ายเงินบำนาญชราภาพครั้งแรกในปี 2557 หรือ เมื่อ 3 ปีก่อน นับตั้งแต่สปส. เริ่มเก็บเงินชราภาพครั้งแรกมาตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2541

โดยปีนี้ คาดว่าจะมีจำนวนผู้ประกันตนเข้ารับเงินชราภาพเพิ่มเป็น 200,000 ราย และภายใน 10 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีผู้ประกันตนที่มีอายุครบกำหนดในการยื่นขอรับสิทธิ์เพิ่มขึ้นเป็น  1 ล้านคน  คิดแล้วเป็นเงินที่รัฐบาลต้องจ่ายสูงเกือบ 250,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

นอกจากนี้  ภายในปี 2568 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ด้วย จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าภาระหนักในการจ่ายเงินชราภาพจะไปตกอยู่ที่สำนักงานประกันสังคมแบบเต็มๆ