รู้ทันนักการตลาด กับจิตวิทยาเพื่อสร้างความรู้สึก “ว้าว” ให้กับแบรนด์

โลกทุกวันนี้เรียกได้ว่าผู้คนอยู่ในมหาสมุทรของข้อมูล เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าข้อมูลไหนสำคัญที่สุด ขณะที่เหล่านักการตลาดทั้งหลายต้องปรับตัวเข้าสู่การตลาดยุคดิจิทัล เครื่องมือสำคัญของพวกเขาที่ใช้ในการทำให้สินค้าหรือ ผลิตภัณฑ์ได้รับความสนใจ คือการใช้จิตวิทยาเข้ามาเป็นอาวุธลับในการส่งข้อมูลต่อกลุ่มเป้าหมายและทำให้กลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายของพวกเขาสนใจ ซึ่งอาวุธลับทางจิตวิทยาเหล่านั้นล้วนมาจากการคิดวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้คนในโลกปัจจุบัน ส่วนจะปรับใช้มาเป็นวิธีการใดบ้างนั้นมาดูรายละเอียดกันเลย

1. สี สำคัญมากในแวดวง Marketing

ผู้เชี่ยวชาญในการทำการตลาดดิจิทัล นั้นรู้ดีว่า “สี” มีผลต่อการสร้างความสนใจให้กับแบรนด์ได้เพียงใด ยิ่งถ้าได้สีที่ไปกันได้ดีกับโลโก้ด้วยแล้ว ความลงตัวของแบรนด์นั้นยิ่งมีมากขึ้น และสร้างความรู้สึกประทับใจและอยากใช้ให้กับกลุ่มเป้าหมาย และนั่นทำให้การเลือก “สี” มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เวลาที่จะเลือกสีให้กับแบรนด์ของคุณหรือ แม้แต่ลูกค้า จึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากเพราะส่งผลต่อการรับรู้ของคนที่ได้เห็น ทั้งดีและร้ายจะกลายเป็นภาพจำที่คนไม่ลืม หากเกิดความผิดพลาดจะกลับมาแก้ไขก็จะทำได้ยาก

2. การสร้างความน่าเชื่อถือของแบรนด์

เมื่อมีคนจดจำแบรนด์ได้แล้ว ความน่าเชื่อถือของแบรนด์คือสิ่งที่ต้องตามมา ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยข่าวปลอม ข่าวลวง ทำให้คนทั่วไปไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าควรจะเชื่อเรื่องไหนดี ดังนั้น จิตวิทยาในการสร้างความน่าเชื่อถือ จึงถูกใช้เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือของเหล่านักการตลาดเพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับแบรนด์ และการสร้างความน่าเชื่อถือนั้น คือการทำให้เกิดความรับรู้แบบบอกต่อ หรือการบอกมาจากคนที่พวกเขาไว้ใจ

หรือการสร้างความไว้ใจด้วยการอ้างตัวเลข สถิติ และตราประทับเพื่ออ้างอิงเหล่านี้ เราจะเห็นนักการตลาดปรับมาใช้ในรูปแบบของการรีวิวสินค้า การโชว์ยอดผู้เข้ามาติดตาม (อาทิ ป้ายของยูทูบ เมื่อมีจำนวนยอดผู้ติดตามอยู่ในเกณฑ์) จำนวนของการแชร์บทความ ใบประกาศที่ได้รับความชื่นชมจากลูกค้า โลโก้ของลูกค้าที่ใช้บริการ หรือแม้แต่ป็อปอัปที่แสดงให้เห็นถึงความปลอดภัยในการเข้าสู่หน้าเว็บไซต์

3. การเปิดเผยข้อมูลและบริการของสินค้า ส่งผลต่อการตัดสินใจ

ข้อมูลของสินค้าและากรบริการในปัจจุบันนั้นสำคัญมากต่อการตัดสินใจในการซื้อแต่ละครั้งของกลุ่มเป้าหมาย ถ้าข้อมูลคุณไม่ครบหรือราคาไม่ชัดเจน มีรูปให้เลือกดูน้อย การตัดสินใจของคนซื้อก็จะเอียงไปในทางไม่ซื้อ เพราะผู้คนส่วนใหญ่เมื่อให้ความสนใจต่อสินค้าหรือบริการใด พวกเขาจะพยายามหาข้อมูลอย่างเต็มที่เพื่อประกอบการตัดสินใจ ดังนั้น การนำเสนอข้อมูลในทุก ๆ แพลตฟอร์ม จึงเป็นสิ่งสำคัญ ยิ่งได้เห็นข้อมูลของแบรนด์มากเท่าไร ยิ่งทำให้กลุ่มเป้าหมายตัดสินใจได้เร็วขึ้นมากเท่านั้น

4. ยิ่งมีตัวตนในโลกโซเชียลมากเท่าไรยิ่งทำให้แบรนด์ได้รับการจดจำมากขึ้นเท่านั้น

โลกในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่โลกของการเก็บตัวทำงานเงียบ ๆ แล้วรอให้ผลงานนั้นแสดงความเป็นตัวตนของคุณออกมา แต่โลกในยุคนี้ผู้คนให้ความสนใจคนที่สามารถพรีเซนต์ผลงานได้อย่างชาญฉลาด และสร้างความว้าวให้กับคนฟัง ดังเช่นที่เราคุ้นเคยกับการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ของแอปเปิล ที่ต้องมีซีอีโอออกมาพรีเซนต์สินค้า อันกลายเป็นแนวทางนิยมของซีอีโอทั่วโลกที่ต้องใส่เฮดเซตและพรีเซนต์ผลงานของบริษัทตนเอง เพราะนอกจากจะทำให้รู้สึกถึงความไม่ตกยุคสมัยแล้ว ยังทำให้เห็นว่าเขาหรือเธอเหล่านั้นมีความสามารถจริง ๆ

5. การสร้างความรู้สึกกลัวให้กับผู้บริโภค

เครื่องมือทางจิตวิทยาที่นักการตลาดใช้กันมาอย่างเนิ่นนานและแม้แต่ในยุคดิจิทัล การสร้างความรู้สึกกลัวที่สินค้าจะขาดก็ยังคงใช้ได้อยู่ อาทิ แบรนด์หนึ่งทำโปรโมชันและเติมท้ายด้วยคำว่าจำนวนจำกัด ก็จะสร้างความรู้สึกอยากไปซื้อสินค้าหรือซื้อสินค้าชิ้นนั้นมากกว่าปกติเพราะคำว่า “จำนวนจำกัด” (ที่ไม่เคยมีอยู่จริง) หรือการสร้างกระแสข่าวว่า ผลิตภัณฑ์ชนิดใดกำลังขาดตลาด ผู้คนก็มักจะซื้อสินค้าชิ้นนั้นมากกว่าปกติ เพราะกลัวว่าสินค้าจะขาดตลาด (ซึ่งเอาเข้าจริงแค่โรงงานผลิตน้อยกว่าปกติ)

6. เป็นมิตรกับกลุ่มเป้าหมาย ไม่สร้างความน่ารำคาญ

หลายครั้งที่แบรนด์และนักการตลาดเดินผิดทางด้วยการซื้อโฆษณาผ่านป็อปอัป หรือแม้แต่ในเว็บไซต์ที่แทรกเอา ลิงก์เนื้อหาขายของอันทำให้คนอ่านรู้สึกไม่เป็นมิตรและไม่เข้าสู่เว็บไซต์นั้นอีกเลย ความเป็นมิตรในเนื้อหาสามารถทำได้ผ่านการทำ Advertorial หรือสร้างแบนเนอร์ให้เป็นที่จดจำ และทำให้เห็นบ่อยในพื้นที่ที่ไม่สร้างความน่ารำคาญ

7. Decoy Effect การตั้งราคาที่ทำให้เราตัดสินใจซื้อแบบไม่คิด

การใช้ Decoy Effect นั้นมีมานานานแล้ว และในโลกการตลาดดิจิทัลนั้นยิ่งสำคัญ เพราะเป็นโลกของการบอกต่อแบบปากต่อปาก หากราคาที่ตั้งทำให้คนซื้อรู้สึกถึงความคุ้มค่า เรื่องราวก็จะถูกแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และการซื้อสินค้าด้วยกลไกราคาแบบนี้ทำให้คนทั่วไปตัดสินใจซื้ออย่างรวดเร็ว

8. คำว่า “ฟรี” มีผลต่อใจนักช้อปเสมอ

ในยุคดิจิทัล การใช้คำว่า “ฟรี” ยังคงทรงพลัง และเรียกความสนใจได้ไม่น้อย ยิ่งในยุคดิจิทัลการใช้บริการที่มีคำว่า free trial ต่อท้ายยิ่งทำให้ผู้คนเข้าไปดาวน์โหลดแอปฯ มาใช้งานได้อย่างรวดเร็วชนิดที่เรียกว่าแทบไม่ต้องคิดกันเลยทีเดียว

9. การใช้ AI เพื่อให้เกิดการเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค

ทุกวันนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคนั้นเปลี่ยนไปแทบจะรายชั่วโมง และทำให้การทำงานของนักการตลาดยากมากขึ้น การมีตัวช่วยเป็น AI (Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ที่ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล พฤติกรรม รวมไปถึงการติดตามกลุ่มเป้าหมายเพื่อประมวลข้อมูลในการสร้างความสนใจให้กับกลุ่มเป้าหมาย หรือสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับใจกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งการวิเคราะห์แต่ละครั้งนั้นส่วนใหญ่จะมาจากการนำเอาหลักจิตวิทยาเบื้องต้นมาใช้ในการวิเคราะห์