ภาษี e-Service กฎหมายที่อาจเกิดผลกระทบกับผู้บริโภค

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา เป็นวันที่กฎหมายภาษี e-Service ได้เริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ที่ผ่านมา คุณอาจจะได้เห็นประเด็นเกี่ยวกับ “กฎหมายภาษี e-Service” ผ่านตามาบ้าง แต่เพราะว่ามันดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว เรื่องภาษี ซึ่งเป็นเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ที่เข้าใจยากสำหรับใครหลายคน ดูเหมือนไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตัวเอง ก็เลยปล่อยผ่านไม่ได้สนใจ

อันที่จริง คนทุกคนก็อาจไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกฎหมายฉบับนี้โดยตรง แต่เมื่อกฎหมายบังคับใช้จริง มันก็เป็นหน้าที่หนึ่งของพลเมืองที่ควรจะรู้กฎหมายใกล้ตัวไว้บ้าง เพราะถ้าเราบังเอิญไปกระทำผิดเข้า เราจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้! ที่สำคัญ ไม่ว่าจะกฎหมายใด ย่อมมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราทุกคนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง จะปล่อยผ่านโดยไม่สนใจเลยสักนิดเลยก็คงไม่ได้เช่นกัน

กฎหมาย e-Service คืออะไร

กฎหมาย e-Service หรือภาษี e-Service คือ การจัดเก็บ VAT จากผู้ให้บริการต่างประเทศและแพลตฟอร์มต่างประเทศที่ให้บริการทางออนไลน์แก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทย ที่มีรายได้จากการให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ให้อำนาจกรมสรรพากรเป็นผู้จัดเก็บ ในอัตราร้อยละ 7 ต่อปี ซึ่งให้เสียภาษีจากภาษีขายโดยไม่ให้นำภาษีซื้อมาหัก และผู้ให้บริการต่างประเทศจะต้องยื่นจดทะเบียนชำระภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร

ธุรกิจที่ต้องยื่นจดทะเบียนและดำเนินการทางภาษีกับกรมสรรพากร มี 5 ธุรกิจหลัก ประกอบด้วย

  1. ธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับขายของออนไลน์
  2. ธุรกิจให้บริการพื้นที่โฆษณาออนไลน์
  3. ธุรกิจให้บริการจองโรงแรม ที่พัก และการเดินทาง
  4. ธุรกิจให้บริการเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย
  5. ธุรกิจให้บริการสมาชิกดูหนังฟังเพลงออนไลน์ เกม และแอปพลิเคชันต่าง ๆ

กฎหมาย e-Service เกี่ยวข้องอะไรกับคนไทย

เพราะกฎหมายฉบับนี้จะครอบคลุมผู้ประกอบการที่ให้บริการ e-Service หากพิจารณาจาก 5 ธุรกิจข้างต้นจะพบว่าบริการเหล่านี้ล้วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราทั้งสิ้น อย่างการดาวน์โหลดภาพยนตร์ เพลง เกม สตรีมมิ่งดูหนังดูซีรีส์ สติกเกอร์ นายหน้า สื่อโฆษณา แอปพลิเคชันต่าง ๆ แทบทุกสิ่งอย่างที่เราใช้งานกันบนโลกออนไลน์ ล้วนเป็นแพลตฟอร์มของต่างประเทศที่ให้บริการในประเทศไทยแทบทั้งหมด เช่น Apple, Google, Facebook, Netflix, LINE, YouTube, TikTok, Joox, Shopee, Lazada และพวกเว็บไซต์จองที่พักโรงแรม Agoda, airbnb

ทีนี้จะเริ่มเห็นภาพชัดเจนแล้วว่ากฎหมายนี้ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด อันที่จริง กฎหมายฉบับนี้มีการประกาศลง ราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ. 2564 คือ พระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 โดยบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ผู้บริโภคในไทยที่ใช้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ของผู้ให้บริการต่างชาติเหล่านี้ จะต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มหรือไม่ ทั้งนี้ทั้งนั้น กรมสรรพากรก็ชี้แจงว่า จะเก็บเพิ่มหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการและลูกค้าว่าจะตกลงอย่างไร นั่นหมายความว่าถ้าผู้ให้บริการจะเก็บเพิ่ม ส่วนที่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT เราจะต้องจ่ายเอง เช่น หากเราเคยจ่ายค่าบริการอยู่ที่ 100 บาท หากผู้ให้บริการจะเก็บเพิ่มร้อยละ 7 หรือ 7 บาท และถ้าเราเคยจ่ายค่าบริการอยู่ที่ 500 บาท ผู้ให้บริการจะเก็บเพิ่มอีก 35 บาท รวมแล้วเราต้องจ่าย 535 บาท!

อย่างไรก็ตาม หากผู้ให้บริการไม่เรียกเก็บเพิ่ม (ในวันนี้) ก็จะไม่ส่งผลกระทบอะไรกับผู้บริโภคอย่างเรา เพราะค่าบริการยังเท่าเดิม เคยจ่ายเท่าใดก็จ่ายเท่านั้น แต่กฎหมายนี้เป็นที่สนใจสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ทั่วไป ที่จำเป็นต้องใช้ช่องทางแพลตฟอร์มต่างประเทศเหล่านี้ในการยิงโฆษณา หากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างประเทศเรียกเก็บ VAT เพิ่ม ภาษีดังกล่าวจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้บริการของคนกลุ่มนี้ ขณะผู้บริโภคอย่างเราไม่ได้สนใจเพราะคิดว่าไม่กระทบตนเอง

แต่อย่าลืมว่าหากต้นทุนในการทำโฆษณาของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์สูงขึ้น จะส่งผลต่อการตั้งราคาขายทันที เพื่อกำไรหรือคุ้มทุน พ่อค้าแม่ค้าอาจตั้งราคาสินค้าหรือบริการสูงขึ้น ขายของให้เราแพงขึ้น ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่ความผิดของพ่อค้าแม่ค้าแต่ประการใด เพราะว่าต้นทุนมันสูงขึ้นนั่นเอง! คนค้าขายต้องการกำไร พวกเขาไม่ได้ทำการกุศล!

นั่นหมายความว่าผู้บริโภคอย่างเราจะได้รับผลกระทบแน่ ๆ หากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศผลักภาระภาษีทั้งหมดหรือบางส่วนมาให้ผู้ใช้บริการรับผิดชอบ ด้วยการเรียกเก็บ VAT เพิ่มจากผู้ใช้บริการ จะกลายเป็นต้นทุนในการใช้บริการแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์จะมีต้นทุนค่ายิงแอดโฆษณาใน Facebook สูงขึ้น ค่าซื้อโฆษณาใน Google Ads สูงขึ้นทันทีร้อยละ 7

ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 มีนัยสำคัญต่อผลประกอบการและสภาพคล่องของธุรกิจ ผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียน VAT ก่อนหน้านี้จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้กำไรลดลงทันที ทำให้การตั้งราคาขายสินค้าและบริการต้องพิจารณา VAT ร้อยละ 7 ที่จะถูกเรียกเก็บเพิ่มเป็นต้นทุนด้วย และผู้บริโภคอย่างเราก็จะซื้อสินค้าและบริการในราคาแพงขึ้น!

ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศเหล่านั้นจะผลักภาระภาษีมาให้ผู้บริโภคอย่างเรารับผิดชอบทั้งหมด หรือร่วมกันรับผิดชอบบางส่วน หรือจะใจดีรับไว้เองทั้งหมด หรือในวันนี้อาจยังไม่เรียกเก็บเพิ่ม แต่ในอนาคตก็ไม่แน่ ต้องรอดูกันต่อไป

ข้อดีของกฎหมาย e-Service

จริง ๆ แล้ว ข้อดีของกฎหมายฉบับนี้ คือ เพื่อแก้ปัญหาความได้เปรียบเสียเปรียบการทำธุรกิจของผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการต่างประเทศ โดยผู้ให้บริการทั้งสองจะต้องจ่ายภาษีอย่างเท่าเทียม เพราะก่อนหน้านี้ มีเพียงผู้ประกอบไทยเท่านั้นที่ต้องจ่ายภาษีส่วนนี้ อย่างไรก็ดี VAT ร้อยละ 7 ผู้ให้บริการไทยก็เรียกเก็บจากผู้ใช้บริการอย่างเราอยู่แล้ว เช่น เวลาที่มีใบแจ้งค่าใช้บริการอินเทอร์เน็ต หากเป็นเดือนละ 499 ก็จะบวกเอา VAT ร้อยละ 7 เข้าไปด้วย เราจึงต้องจ่ายค่าบริการทั้งสิ้น 533.93 บาททุกเดือนนั่นเอง

ฉะนั้น ปัญหาที่สำคัญ คือผู้ประกอบการไทยที่จำเป็นต้องใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ของต่างประเทศในการดำเนินธุรกิจ จะบริหารธุรกิจอย่างไรหลังจากมีการเรียกเก็บภาษีซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบกับลูกค้า เพราะผู้บริโภคหลายคนคงไม่สะดวกใจถ้าจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่แพงขึ้นจากที่เคยจ่ายอยู่ทุกเดือน ถึงจะแค่ร้อยละ 7 แต่ถ้าค่าบริการยิ่งสูง VAT ก็ยิ่งสูงตาม เมื่อคิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อปีก็มากโข ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ต้องหาวิธีไม่ให้ตนเองต้องแบกรับต้นทุนสูงเกินไปด้วยเช่นกัน คือต้องพึงพอใจทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ

อันที่จริง การจัดเก็บภาษี e-Service ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะกฎหมายการเก็บภาษีลักษณะนี้บังคับใช้แล้วใน 61 ประเทศทั่วโลก ในเอเชียก็มีประเทศที่จัดเก็บภาษีดังกล่าว คือ เกาหลีใต้ ซาอุดีอาระเบีย ไต้หวัน บังกลาเทศ ภูฏาน มาเลเซีย เวียดนาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ อินเดีย อุซเบกิสถาน โดยใช้หลักการเดียวกัน คือ ผู้ประกอบการต่างประเทศต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้หน่วยงานรัฐจัดเก็บ

การจัดเก็บภาษี e-Service จึงสร้างความเป็นธรรมในการเสียภาษีระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการจากต่างประเทศ เพราะกฎหมายบังคับให้ผู้ประกอบการจากต่างประเทศต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกับผู้ประกอบการไทยที่จดทะเบียนอยู่แล้ว อีกทั้ง การจัดเก็บภาษีนี้ก็จะทำให้รัฐมีรายได้มาใช้ในการบริหารประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2564 และอาจนำข้อมูลตรงนี้มาใช้คำนวณฐานภาษีใหม่ในอนาคตเพื่อเพิ่มรายได้เข้าภาครัฐ

ข้อมูลจาก Facebook : กรมสรรพากร, iTAX, กรมสรรพากร