เนื่องด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมจากโควิด-19 เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ จนสถานพยาบาลต่าง ๆ ไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ป่วยส่วนหนึ่งต้องพักรักษาตัวและกักตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสนาม ซึ่งมีอยู่ทุกภาคของประเทศ ขณะที่ในกรุงเทพมหานครก็เร่งขยายพื้นที่ในการจัดตั้งรพ.สนามเพิ่มขึ้น หลังจากมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการไม่รุนแรง มีอาการน้อย หรืออาการดีขึ้นแล้ว จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษา ไม่ต่างจากผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง รพ.สนามจึงเป็นทางเลือกในการรักษาตัวและกักตัวเป็นเวลา 14 วัน ก่อนจะกลับไปพักฟื้นต่อที่บ้าน
เมื่อต้องมาอยู่รวมกันกับคนหมู่มาก ซึ่งล้วนเป็นผู้ป่วยโควิด-19 จึงต้องปฏิบัติตนตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ดังต่อไปนี้
ด้านความปลอดภัย
- ไม่ให้บุคคลอื่นมาเยี่ยมระหว่างที่แยกตัว
- ต้องอยู่ในรพ.สนามตลอดเวลา หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับบุคคลอื่น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กเล็ก ผู้ป่วยโรคเรื้อรั้งต่าง ๆ ควรสวมหน้ากากอนามัยหากยังมีอาการไอ จามเป็นระยะ ๆ
- หากจำเป็นต้องเข้าใกล้ผู้อื่นต้องสวมหน้ากากอนามัย และอยู่ห่างอย่างน้อย 1 เมตร ยกเว้นในกรณีที่เป็นมารดาให้นมบุตร ยังสามารถให้นมบุตรได้ เนื่องจากไม่พบเชื้อในน้ำนม แต่มารดาควรสวมหน้ากากอนามัยและล้างมืออย่างเคร่งครัดทุกครั้งก่อนสัมผัสหรือให้นมบุตร
- หากไอ จาม ไม่ควรเข้าใกล้ผู้อื่น หรืออยู่ห่างอย่างน้อย 2 เมตร
- หากไอ จาม ขณะที่สวมหน้ากากอนามัยอยู่ ไม่ต้องเอามือมาปิดปาก เนื่องจากมืออาจเปรอะเปื้อน
- หากไอ จาม ขณะที่ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ให้ใช้แขนหรือข้อศอกปิดปาก จมูก
- แยกสิ่งของส่วนตัว ไม่ใช้ร่วมกับผู้อื่น อาทิ จาน ชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์
- ไม่ร่วมรับประทานอาหารกับผู้อื่น แยกรับประทานคนเดียว
- นอนพักผ่อนมาก ๆ ในห้องที่มีอากาศไม่เย็นเกินไป และมีอากาศถ่ายเทสะดวก
- ดื่มน้ำะอาดให้เพียงพอ งดดื่มน้ำเย็นจัด พยายามรับประทานอาหารให้ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ
ด้านสุขอนามัย
- ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือถูมือด้วยแอลกอฮอล์เจล (หากมือเปรอะเปื้อน) เป็นประจำ ทั้งก่อนสัมผัสจุดเสี่ยงที่มีผูอื่นใช้ร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได และภายหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ขณะไอ จาม หรือหลังจากถ่ายปัสสาวะ / อุจจาระ
- ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน ให้ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำทำความสะอาดโถส้วมสุขภัณฑ์
- หากต้องใช้พื้นที่ที่อาจเปื้อนเสมหะ น้ำมูก อุจจาระ ปัสสาวะ หรือสารคัดหลั่ง ให้ทำความสะอาดด้วยน้ำและน้ำยาฟอกผ้าขาว โซเดียมไฮโปคลอไรด์เข้มข้น 0.5 เปอร์เซ็นต์ (ผสมน้ำยาฟอกขาว 1 ส่วน ต่อน้ำ 9 ส่วน)
- ซักเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู ฯลฯ ด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอก ถ้าทำได้ให้ซักผ้าด้วยน้ำร้อนที่อุณหภูมิน้ำ 60-90 องศาเซลเซียส
- แยกถุงขยะของตนต่างหาก ขยะทั่วไปให้ทิ้งลงถุงได้ทันที ขยะที่อาจปนเปื้อนเสมหะ น้ำมูก สารคัดหลั่งอื่น ๆ เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู่ ให้ทิ้งถุงพลาสติก เทน้ำยาฟอกผ้าขาวโซเดียมไฮโปคลอไรท์ 0.05 เปอร์เซ็นต์ (น้ำยาฟอกขาว 1 ส่วน ต่อน้ำ 99 ส่วน) ลงในถุง เพื่อฆ่าเชื้อก่อนแล้วผูกปากถุงให้สนิท ก่อนทิ้งรวมกับขยะทั่วไป หลังจากนั้นต้องล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง
- ระหว่างแยกตัว ทำความสะอาดเป็นประจำบริเวณพื้นที่ที่ผู้ป่วยพักหรือจับต้องและเครื่องเรือนเครื่องใช้ เช่น เตียง โต๊ะ เก้าอี้ โทรศัพท์ ด้วยน้ำและผงซักฟอกอย่างเหมาะสมกับวัสดุอุปกรณ์
- ภายหลังครบกำหนดการแยกตัว ให้ทำความสะอาดให้ทั่วถึงที่สุดเท่าที่ทำได้ด้วยน้ำยาฟอกผ้าขาวโซเดียมไฮโปคลอไรท์เข้มข้น 0.5 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการป่วยเกิดขึ้นใหม่ หรืออาการเดิมมากขึ้น เช่น ไข้สูง ไอมาก เหนื่อย แน่นหน้าอก หอบ หายใจไม่สะดวก เบื่ออาหาร ให้รีบติดต่อเจ้าหน้าที่พยาบาลทันที เพราะโควิด-19 อาจมีอาการรุนแรงมากขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของความเจ็บป่วยได้
การปฏิบัติตัวหลังกักตัวครบ 14 วัน
- จำเป็นต้องสวมหน้าหากอนามัยตลอดเวลา เมื่อต้องเข้าใกล้ผู้อื่นหรือออกนอกห้องส่วนตัว
- ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือถูมือด้วยแอลกอฮอล์เจล (หากมือเปรอะเปื้อน) เป็นประจำ โดยเฉพาะภายหลังสัมผ้สน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ ขณะไอ จาม หรือหลังจากถ่ายปัสสาวะ หรืออุจจาระ ก่อนสัมผีสจุดเสี่ยงที่มีผู้อื่นใช้ร่วมกัน อาทิ ลูกบิดประตู ราวบันได
- สามารถออกนอกบ้านพักอาศัยได้เมื่อมีความจำเป็น โดยยังคงหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด
- ใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำร่วมกัน ให้ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำทำความสะอาดโถส้วมสุขภัณฑ์
- ไม่ร่วมรับประทานอาหารกับผู้อื่น ควรแยกรับประทานคนเดียว
ข้อมูล : กระทรวงสาธารณสุข