ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบโดส “สร้างภูมิคุ้มกัน” นานแค่ไหน?

แม้ว่าส่วนใหญ่ทราบดีว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 จำเป็นต้องฉีด 2 โดส เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน แต่สิ่งที่หลายคนอยากรู้มากกว่าคือเมื่อฉีดครบ 2 เข็มแล้ว จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้นานแค่ไหน?

สำหรับในประเทศไทยนั้น เพิ่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้ประชาชนไปกว่า 1.6 ล้านโดส ใน 77 จังหวัด โดยในจำนวนนี้ มีกว่า 4.5 แสนคนที่ได้รับครบทั้ง 2 โดสแล้ว ขณะที่ในเดือนมิ.ย. เป็นต้นไป จะเริ่มดำเนินการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ขณะที่กลุ่มประชาชนทั่วไปจะเริ่มให้ลงทะเบียนจองวัคซีนได้ตั้งแต่เดือนก.ค. และเริ่มฉีดวัคซีนในเดือนส.ค.เป็นต้นไป

ส่วนประเทศที่มีการแพร่ระบาดสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลกอย่างสหรัฐอเมริกานั้น ขณะนี้ ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ได้รับการฉีดวัคซีนไปแล้วเกือบ 130 ล้านคน หรือคิดเป็น 50.4 เปอร์เซ็นต์ และมีประชากรราว 84 ล้านคน หรือ 32.5 เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้ว

หากคิดสัดส่วนในการฉีดวัคซีนต่อจำนวนประชากร 100 คน สหรัฐฯ ฉีดไป 61.6 โดส ส่วนประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงสุดของโลก คือ อิสราเอล ที่ฉีด 119.2 โดส ต่อประชากร 100 คน โดยเมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา อิสราเอลเป็นประเทศแรกของโลกที่ประกาศให้ประชาชนไม่ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยในที่สาธารณะที่เปิดโล่ง หลังเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้ประชาชนมาตั้งแต่เดือนธ.ค.2563

ฉีดครบ 2 โดส ป้องกันได้นานแค่ไหน?

ทั้งบริษัท Pfizer-BioNTech และ Moderna ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลิตวัคซีนชนิด mRNA เหมือนกัน ต่างประกาศว่าวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทตนเองมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ได้นานอย่างน้อย 6 เดือน

โดย Pfizer ระบุในแถลงการณ์ผ่านเว็บไซต์ทางการ เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมาว่าจากการทดลองทางคลินิกในระยที่ 3 (เฟส 3) แสดงให้เห็นว่าวัคซีนของ Pfizer มีประสิทธิภาพสูงถึง 91.3 เปอร์เซ็นในการป้องกันโควิด-19 ได้นาน 6 เดือน แต่หลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 กลับมีประสิทธิภาพ 100 เปอร์เซ็นต์ ในการป้องกันโรครุนแรงตามที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention – CDC) ได้กำหนดไว้

เช่นเดียวกับ Moderna ที่ลงประกาศในวารสารการแพทย์ The New England Journal of Medicine เมื่อวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมาว่านักวิจัยพบว่าการทำงานของแอนติบอดี้ของผู้ที่ได้รับวัคซีนยังคงอยู่ในระดับสูง หลังจากฉีดวัคซีนครั้งที่ 2 ในทุกกลุ่มอายุ ในการทดลองเฟส 3 และมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 อยู่ที่ 180 วัน (6 เดือน)

โดย Richard Watkins ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ และศาสตราจารย์ด้านอายุรศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยการแพทย์  Northeast Ohio Medical University วิเคราะห์ว่าการที่วัคซีนของ Pfizer และ Moderna ต่างมีผลลัพธ์คล้ายกันนั้น เนื่องจากเป็นวัคซีนชนิด mRNA เหมือนกัน จึงกระตุ้นการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายในลักษณะเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทั้งสองบริษัทระบุว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 ได้นาน 6 เดือน แต่ Amesh A. Adalja ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ระบุว่าในทางปฏิบัติไม่ได้หมายความว่าวัคซีนจะใช้ได้ดีเพียงหกเดือนเท่านั้น แต่น่าจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันในร่างกายได้นานกว่านั้น ซึ่งรวมถึงวัคซีนอื่น ๆ ที่คล้ายกันด้วย

จำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ทุกปีหรือไม่?

ในกรณีของวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่นั้นจำเป็นต้องได้รับการฉีดเป็นประจำทุกปี เพื่อให้มั่นใจว่ามีประสิทธิภาพมากพอที่จะป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ เนื่องจากมีการกลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว (กลายพันธุ์ 25 ครั้ง /10,000 นิวคลีโอไทด์ต่อปี) และมีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้ดี โดยเฉพาะสายพันธุ์เอ (H3N2)

ด้วยเหตุนี้ นักวิจัยจึงตั้งข้อสังเกตว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำเป็นต้องฉีดทุกปีเช่นเดียวกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ด้วยหรือไม่ โดย Charité มหาวิทยาลัยการแพทย์ในกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้เพื่อประเมินว่าในระยะยาวเชื้อไวรัสโควิด-19 (SARS-CoV-2) มีความสามารถในการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันของมนุษย์เทียบเท่ากับไวรัสไข้หวัดใหญ่หรือไม่ ซึ่งการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ถือว่าช้ากว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่ประมาณ 4 เท่า หรือใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี

อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาดังกล่าวซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Virus Evolution แนะนำว่าเมื่อฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วยังจำเป็นต้องฉีดทุกปีต่อเนื่องประมาณ 2-3 ปี แต่หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดผ่านไปแล้วสัก 2-3 ปี ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องฉีดเป็นประจำทุกปี

ทั้งนี้ นักวิจัยคาดการณ์ด้วยว่าในระหว่างที่ยังมีการระบาดของโควิด-19 อยู่นั้น การพัฒนาคุณภาพของวัคซีนยังคงต้องมีอย่างต่อเนื่องเนื่องด้วยการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส แต่ก็เชื่อมั่นว่าในอนาคตมีแนวโน้มที่วัคซีนจะคงประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายได้ยาวนานยิ่งขึ้น

อ้างอิงข้อมูล :  apnews.com/ biospace.com / prevention.com