เตรียมเดินทางข้ามประเทศได้ ไทยมีวัคซีนพาสปอร์ตแล้ว

ตลอดช่วงการระบาดของ COVID-19 ที่ระบาดไปทั่วโลก ทำให้คนทั่วโลกถูกจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ เพราะประเทศปลายทางเองก็กังวลว่าผู้ที่เดินทางเข้าไปจะนำเอาเชื้อเข้าไปสู่ประเทศ ส่วนประเทศต้นทางก็ต้องดำเนินการตามมาตรการการควบคุมโรคเช่นกัน แต่การจำกัดการเดินทางนี้ไม่สามารถทำได้นานตราบเท่าที่การระบาดจะสิ้นสุด เพราะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเปิดประเทศกันให้เร็วที่สุดเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป

เพื่อให้คนสามารถเดินทางข้ามประเทศได้ แต่ละประเทศจึงต้องหาวิธีการที่จะรับคนต่างชาติเข้าพื้นที่ โดยไม่เสี่ยงที่คนผู้นั้นจะนำเชื้อเข้ามาด้วย ซึ่งเราน่าจะคุ้นหูกันมาบ้างแล้วกับเอกสารที่เรียกว่า “วัคซีนพาสปอร์ต (Vaccine Passport)” ที่กำลังจะกลายเป็นเอกสารสำคัญในการเดินทางระหว่างประเทศที่นักเดินทางทุกคนต้องมี เพื่อยืนยันว่าตนเองผ่านการฉีดวัคซีนแล้ว และจะไม่นำโรคที่ว่านี้เข้าไปแพร่ในประเทศนั้น ๆ

ภาพจาก ราชกิจานุเบกษา

ล่าสุด ทางการไทยก็ออกรูปแบบของวัคซีนพาสปอร์ตอย่างเป็นทางการเพื่อใช้งานจริง ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 16 เมษายน 2564 เพื่อให้คนไทยใช้สำหรับเป็นหนังสือรับรองการเดินทางระหว่างประเทศ โดยวัคซีนพาสปอร์ต หรือหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 หน้าปกจะมีรายละเอียดดังนี้

  • ข้อความภาษาอังกฤษ “DEPARTMENT OF DISEASE CONTROL MINISTRY OF PUBLIC HEALTH THAILAND” (กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย)
  • ตราครุฑ
  • ข้อความภาษาอังกฤษ “COVID-19 CERTIFICATE OF VACCINATION” (หนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019)
  • เลขที่หนังสือรับรอง ขึ้นต้นด้วยปี ค.ศ. 
  • ข้อความภาษาอังกฤษ “Issue to …” (ออกให้กับ…)
  • ข้อความภาษาอังกฤษ “Passport No. … or National identification …” (เลขที่หนังสือเดินทาง… หรือเลขประจำตัวประชาชน…)

ส่วนเนื้อหาในหนังสือรับรอง จะมีข้อความเป็นภาษาอังกฤษว่าเพื่อใช้สำหรับรับรองการเดินทางระหว่างประเทศ ระบุชื่อผู้เดินทาง, วันเดือนปีเกิด, เพศ, สัญชาติ และรายละเอียดของวัคซีนที่ฉีด ซึ่งจะต้องฉีดครบทั้ง 2 โดส ระบุชื่อวัคซีน วันที่ฉีดวัคซีน บริษัท (หรือสาขา) ที่ผลิตวัคซีน วันที่ออกใบรับรอง และลายเซ็นของผู้มีอำนาจที่ได้รับอนุญาตให้ลงนามการออกหนังสือ พร้อมประทับตราหน่วยงาน

ภาพจาก ราชกิจจานุเบกษา

วัคซีนพาสปอร์ตของไทย จะได้รับการรับรองโดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไข คือ

  • เอกสารรับรองนี้เป็นการรับรองเฉพาะการได้รับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยยาของราชอาณาจักรไทย หรือได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก
  • ต้องมีลายมือชื่อของอธิบดีกรมควบคุมโรค หรือผู้ที่อธิบดีกรมควบคุมโรคมอบหมายให้ออกเอกสารรับรอง พร้อมประทับตราหน่วยงานของผู้ที่ออกเอกสารรับรองนั้น
  • เจ้าหน้าที่อาจไม่รับพิจารณาเอกสารรับรองที่มีรอยแก้ไข ขูดลบ ขีดฆ่า หรือมีข้อความไม่สมบูรณ์
  • กรอกข้อมูลในเอกสารรับรองเป็นภาษาอังกฤษอย่างครบถ้วน จะมีข้อความภาษาอื่น ๆ ควบคู่กับภาษาอังกฤษด้วยก็ได้
  • เอกสารรับรองนี้รับรองเป็นรายบุคคลเท่านั้น ไม่ให้ใช้ร่วมกันเป็นหมู่คณะ
  • ต้องออกเอกสารรับรองแยกสำหรับเด็กด้วย ให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองลงลายมือชื่อในเอกสารรับรองแทน หากเด็ก (อายุต่ำกว่า 7 ปี) ยังเขียนหนังสือไม่ได้ สำหรับผู้ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้ ให้ผู้นั้นพิมพ์ลายนิ้วมือแทน (ปกติให้ใช้นิ้วหัวแม่มือขวา)

หนังสือรับรองนี้ มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สังกัดกรมควบคุมโรค ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร หรือ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) เป็นผู้ที่มีอำนาจออกหนังสือรับรอง ทั้งนี้อาจมอบหมายให้เจ้าหน้าที่สังกัดกรมควบคุมโรค หรือเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายให้ไปช่วยราชการหรือปฏิบัติราชการในสังกัดกรมควบคุมโรคผู้มีรายนามต่อไปนี้เท่านั้น เป็นผู้ที่มีอำนาจออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคได้เช่นกัน ได้แก่

  1. นายโรม บัวทอง นายแพทย์เชี่ยวชาญ กองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค
  2. น.ส.สิริรักษ์ ธนะสกุลประเสริฐ นายแพทย์ชำนาญการ กองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค
  3. นายรวินันท์ โสมา นายแพทย์ชำนาญการ กองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค
  4. นางรณิดา เตชะสุวรรณา นายแพทย์ชำนาญการ กองโรคติดต่อทั่วไป
  5. น.ส.กมลทิพย์ อัศววรานันต์ นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง
  6. น.ส.ปริณดา วัฒนศรี นายแพทย์ชำนาญการ สถาบันเวชศาสตร์ป้องกันศึกษา กรมควบคุมโรค

เพราะฉะนั้น ถ้าอยากจะเดินทางไปต่างประเทศ แล้วไม่ถูกประเทศปลายทางปฏิเสธการเข้าประเทศล่ะก็ ฉีดวัคซีนให้ครบทั้ง 2 โดส แล้วไปขอหนังสือรับรองที่เรียกว่า “วัคซีนพาสปอร์ต” นี้ได้เลย