ทุกครั้งที่เราเหยียบเบรกรถแบบกะทันหัน ทุกคนคงจะประสบอาการเดียวกันนะครับ นั่นก็คืออาการหัวทิ่ม ทิ่มจะมาก ทิ่มจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับความเร็วที่เราขับมา ซึ่งไอ้เจ้าอาการหัวทิ่มนี่แหละครับที่เขาเรียกกันว่า แรง g หรือ g-forces
ที่หยิบเรื่องแรง g มาพูดคุยกันในวันนี้ เนื่องจากว่าผมเพิ่งจะเห็นข่าวผลการสืบสวนกรณีอุบัติเหตุของ ไทเกอร์ วูดส์ ที่ขับรถชนต้นไม้จนได้รับบาดเจ็บสาหัสไปเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการเปิดเผยถึงสปีดความเร็วขณะเกิดเหตุออกมาแล้ว
แรง g นั้น ในทางฟิสิกส์ มันมาจากคำว่า gravity ถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติซึ่งทำให้วัตถุดึงดูดเข้าหากัน ยกตัวอย่างเช่น แรงดึงดูดของโลกที่ยึดเหนี่ยววัตถุทุกอย่างเอาไว้กับพื้นโลก อย่างไรก็ดี แรง g ที่พูดถึงกันอยู่นี้ ถือเป็นแรงที่มีการเปลี่ยนสภาพการเคลื่อนที่ตามกฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน
ยกตัวอย่างคือ หากเราขับรถไม่ว่าจะเร็วขนาดไหนก็ตาม แต่ความเร็วคงที่ ณ วินาทีนั้นจะถือว่าไม่มีแรง g แต่หากรถมีการเปลี่ยนทิศทาง หยุด หรือเร่งเมื่อไหร่ นั่นแหละครับ แรง g เกิดขึ้นทันที จะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านความเร็ว น้ำหนักวัตถุ อัตราเร่ง การเบรก รวมถึงการเปลี่ยนทิศทาง
ตามรายงานข่าวนั้นระบุว่า ไทเกอร์ ที่วันนั้นขับรถเอสยูวี สายพันธุ์หรู ยี่ห้อเจเนซิส (Genesis) รุ่น GV80 กดคันเร่งมาเต็มเกินความเร็วที่กฎหมายกำหนด คือขับด้วยความเร็ว 135-140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่สปีดลิมิตอยู่ที่ 72 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น
ส่วนจังหวะที่ชนกับต้นไม้ ความเร็วอยู่ที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่สำคัญ “กล่องดำ” ในรถของไทเกอร์ (สหรัฐฯ กำหนดให้รถใหม่ต้องติดตั้งกล่องดำจากโรงงานตั้งแต่ปี 2015) ยังแสดงข้อมูลว่า “พญาเสือ” เหยียบคันเร่ง แทนที่จะเหยียบเบรกหลังรถเสียหลัก ก่อนจะชนต้นไม้และพลิกคว่ำในที่สุด
จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำให้เจ้าตัวมีอาการค่อนข้างสาหัส โดยเฉพาะมีอาการหักของกระดูกหลาย ๆ จุด เพราะการเหยียบคันเร่งสุดท้ายน่าจะเป็นการเพิ่มแรงบวกในการชนให้มากขึ้นไปอีกครับ เพราะมันไม่ใช่แค่ชนที่ความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น แต่ก่อนจะชนรถมีความเร่งเพิ่มเข้ามาอีก
ผมพยายามจะนำข้อมูลมาเพื่อคำนวณว่าจังหวะชนนั้นมีแรง g ถาโถมใส่อดีตโปรมือหนึ่งของโลกมหาศาลขนาดไหน แต่ในเมื่อมีข้อมูลบอกว่าไทเกอร์เหยียบขันเร่งก่อนชน ทำให้เราไม่รู้ตัวเลขที่เป็นอัตราเร่งที่เพิ่มเข้ามาแบบเป๊ะ ๆ ซึ่งคงจะคำนวณออกมาลำบาก อย่างไรก็ดีหากไปเทียบกับอุบัติเหตุในเอฟวัน ผมว่ามีระดับ 50g แน่นอน
อุบัติเหตุของ โรแมง โกรส์ฌอง จากศึกเอฟวันที่บาห์เรนเมื่อปีที่แล้ว รายงานบอกว่าจังหวะชนมีแรงชนถึง 50g ซึ่งถือว่าเป็นแรงชนที่สูงมาก ๆ เพราะหากแรงชนขึ้นไปถึงระดับ 70-100g ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะอันตรายถึงชีวิตครับ แต่ในเคสไทเกอร์ครั้งนี้ก็ต้องถือว่ายังโชคดีที่อุปกรณ์ความปลอดภัยในรถพอที่จะบรรเทาอาการเจ็บไม่ให้หนักไปกว่านี้
งานนี้เป็นเหมือนสิ่งเตือนใจคนใช้รถทุกท่านนะครับ ว่าความเร็วมักจะมาคู่กับความอันตรายเสมอ และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ “สติ” ครับ ที่จะสามารถช่วยให้ผ่อนหนักเป็นเบาได้หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นบนท้องถนน