กรณีที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ติด COVID-19 หลังจากที่ฉีดวัคซีน Sinovac เข็มแรกไปแล้วตั้งแต่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา ทำให้หลายคนสงสัยว่าฉีดวัคซีนแล้วแต่ยังติดเชื้อได้อีกได้ยังไง เพราะเรามองว่าวัคซีนคือความหวังของโลกที่จะยุติการระบาดของ COVID-19 แต่ถ้าฉีดแล้วก็ยังติดเชื้อได้จะฉีดไปทำไม แล้วสุดท้ายเราจะปลอดภัยกันได้แค่ไหน
ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของวัคซีน
ต้องอธิบายเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีนก่อน ความสมบูรณ์แบบของวัคซีนที่ใคร ๆ อยากได้ คือ วัคซีนที่มีประสิทธิภาพป้องกันโรค 100 เปอร์เซ็นต์ และมีความปลอดภัยที่จะใช้ 100 เปอร์เซ็นต์ (หรือเกือบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ แบบมีผลข้างเคียงน้อยมากจนถึงไม่มีเลย) แต่วัคซีนต้าน COVID-19 ที่โลกเรามีอยู่ในขณะนี้ ยังไม่มีวัคซีนตัวใดที่สมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ทั้งเรื่องของประสิทธิภาพและความปลอดภัย วัคซีนทุกตัวยังมีผลข้างเคียง มากน้อยอยู่ที่ตัววัคซีนและร่างกายของผู้รับวัคซีน
วัคซีนที่มีประสิทธิภาพที่สูงที่สุดเวลานี้ คือวัคซีนของ Pfizer BioNTech ที่มีประสิทธิภาพจากการทดสอบทางคลินิกอยู่ประมาณ 95 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อนำวัคซีนมาใช้ในจริง อาจมีปัจจัยเรื่องของสภาพแวดล้อมและร่างกายของผู้ที่ได้รับวัคซีนเข้ามาเป็นตัวแปร ที่จะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลงได้
เมื่อมองในมุมกลับกัน เมื่อ Pfizer มีประสิทธิภาพในการป้องกันอยู่ที่ 95 เปอร์เซนต์ (ผลทดสอบทางคลินิก) นั่นหมายความว่าอีก 5 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ ก็คือเรามีโอกาสที่จะติด COVID-19 นั่นเอง
วัคซีนที่ใช้อยู่ในไทยปัจจุบันเป็นวัคซีนของ AstraZeneca และ Sinovac ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคของ AstraZeneca อยู่ที่ประมาณ 60-90 เปอร์เซ็นต์ ส่วน Sinovac ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน เพราะผลการทดสอบขึ้นอยู่กับประเทศที่นำไปใช้งาน แต่ข้อมูลประสิทธิภาพของ Sinovac ที่ต่ำที่สุดคือ 50 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น (ผลการทดสอบประสิทธิภาพวัคซีน Sinovac ทางคลินิกของที่บราซิลพบว่ามีเพียง 50.4 เปอร์เซ็นต์ สวนทางกับผลการทดสอบทางคลินิคที่ตุรกีอยู่ที่ 91.25 เปอร์เซ็นต์)
ต้องฉีดให้ครบ 2 โดส ถึงจะสร้างภูมิคุ้มกัน
ผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในเมืองซันติอาโก ประเทศชิลี ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ฉีดวัคซีนให้กับประชากรสูงสุดในแอฟริกาใต้ พบว่าการฉีดวัคซีนของ Sinovac เพียงโดสเดียวไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อ COVID-19
โดยการศึกษาของมหาวิทยาลัยชิลี พบว่าการฉีดวัคซีน Sinovac มีประสิทธิภาพ 56.5 เปอร์เซ็นต์ หลังได้รับวัคซีนแล้ว 2 สัปดาห์แต่มีประสิทธิภาพเพียง 27.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นในช่วง 2 สัปดาห์แรก
นั่นหมายความว่าวัคซีน Sinovac ซึ่งเป็นวัคซีนที่นายศักดิ์สยามฉีดเพิ่งฉีดไปแค่เข็มเดียวนั้น มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคต่ำมากจนแทบป้องกันโรคไม่ได้เลย แต่จะต้องฉีดให้ครบ 2 เข็ม และรอต่อไปอีก 2 สัปดาห์ ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคจึงจะสูงขึ้นถึงขีดสุดของประสิทธิภาพของวัคซีน (ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านกายภาพอีกเช่นเดียวกัน)
ผลการศึกษาการฉีดวัคซีน Sinovac ในไทย พบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว 1 โดส จำนวน 2 ใน 3 ช่วงก่อนฉีดโดสที่ 2 เพียง 3 สัปดาห์ ตรวจเจอระดับภูมิต้านทานแล้ว (เริ่มมีภูมิคุ้มกันแล้ว) แต่อีก 1 ใน 3 ต้องฉีดวัคซีนโดสที่ 2 ก่อนถึงจะเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันโรคได้ (ช่วงรอยังป้องกันอะไรไม่ได้ เพราะภูมิคุ้มกันยังไม่ขึ้น) ดังนั้น หากฉีดครบ 2 โดสแล้ว ระดับภูมิคุ้มกันถึงจะเพิ่มขึ้นมาถึงขีดสุด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะป้องกันโรคได้ 100 เปอร์เซ็นต์อยู่ดี
หรือพูดให้ง่ายกว่านั้นก็คือ ประสิทธิภาพของ Sinovac ที่ค่าประสิทธิภาพต่ำที่สุดคือ 50 เปอร์เซ็นต์นั้น เป็นประสิทธิภาพที่ฉีดครบ 2 โดสแล้ว ถ้าฉีดเพียงโดสเดียว ประสิทธิภาพก็จะต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ลงไปอีก ทำให้โอกาสที่จะติดเชื้อในช่วงที่รอวัคซีนเข็มที่ 2 มีอยู่สูงมากทีเดียว นอกจากนี้ การติดเชื้อหลังฉีดวัคซีนก็มีความเป็นไปได้สูงอีก หากผู้ป่วยได้รับเชื้อมาก่อนที่จะฉีดวัคซีน หรือฉีดวัคซีนไปแล้วยังไม่ครบ 2 สัปดาห์
จะฉีดไปเพื่อ? ในเมื่อฉีดวัคซีนแล้วก็ยังติดเชื้อได้
วัคซีน COVID-19 ที่พัฒนาขึ้นมาใช้ในครั้งนี้ ถือเป็นวัคซีนที่ผลิตขึ้นโดยใช้เวลาสั้นที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ของการผลิตวัคซีน เพราะฉะนั้น จุดประสงค์หลักของการฉีดวัคซีนในเวลานี้ คือ ฉีดเพื่อลดความรุนแรง ทั้งความรุนแรงของโรคและความรุนแรงในการระบาด และสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ดังนั้น ต่อให้ฉีดวัคซีนแล้วจะยังติดเชื้อได้ แต่อาการจะไม่รุนแรงเท่ากับผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนเลย
แม้แต่องค์การอนามัยโลกและสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ก็ยังให้คำแนะนำว่า ต่อให้วัคซีนจะป้องกัน COVID-19 ไม่ได้สมบูรณ์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีความจำเป็นต้องฉีด เพื่อที่ถ้าติดเชื้อขึ้นมาจริง ๆ อาการจะได้ไม่รุนแรงมาก และลดโอกาสที่จะแพร่เชื้อต่อ เพราะร่างกายเริ่มสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาแล้ว
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่าการฉีดวัคซีนที่แม้จะป้องกันโรคไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ฉีดเพื่อลดอาการของโรคให้น้อยลง ลดภาระโรงพยาบาล และลดโอกาสที่จะเสียชีวิตในผู้ติดเชื้อ ง่าย ๆ ก็คือ การผ่อนหนักให้เป็นเบามากกว่าที่จะป้องกันสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์ และสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อลดโอกาสในการแพร่เชื้อต่างหาก
นอกจากนี้ นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีน COVID-19 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ยังอธิบายตามหลักการฉีดวัคซีนในทางวิทยาศาสตร์ ว่าหากฉีดเข็มแรกไปแล้ว นับจากวันที่ฉีดไปอีก 2 สัปดาห์-1 เดือนหรือเมื่อครบ 1 เดือนแล้ว แต่ยังไม่มีการฉีดเข็มที่ 2 โอกาสป้องกันการติดเชื้อ จะมีเพียง 60 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น (มีโอกาสติดเชื้อ 40 เปอร์เซ็นต์)
และถ้าช่วงระหว่าง 2 สัปดาห์แรกหลังฉีด มีการไปสัมผัสคนติดเชื้อเข้า วัคซีนที่ฉีดไปแล้วก็ไม่มีความหมาย เพราะร่างกายยังไม่ทันสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา แต่เมื่อฉีดครบ 2 เข็ม หลังจากนั้นอีก 1-2 สัปดาห์ ถึงจะป้องกันการติดเชื้อได้สูงสุดตามประสิทธิภาพของวัคซีน
Ennio Vivaldi อธิการบดีมหาวิทยาลัยชิลี ยังได้บอกชาวโลกในงานแถลงข่าวว่า “การได้รับวัคซีนช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อลงอย่างมาก แต่ก็ไม่สามารถกำจัดเชื้อได้ ดังนั้นคุณควรต้องฉีดวัคซีน”
ภาวะการติดเชื้อหลังจากฉีดวัคซีนไปแล้วนั้นมีโอกาสขึ้นได้ดังที่อธิบายไปแล้ว (และก่อนหน้านี้ก็เคยมีหมออธิบาย) ทั้งนี้การติดเชื้อที่ว่าไม่ใช่การติดเพราะฉีดวัคซีนเข้าร่างกาย แต่ติดเพราะประสิทธิภาพในการป้องกันโรคของวัคซีนยังไม่สูงพอที่จะกระตุ้นเม็ดเลือดขาวให้สร้างภูมิต้านทานต่างหาก
เพราะฉะนั้น วิธีการป้องกันตัวเองอย่างเข้มงวดจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจาก COVID-19 คือล้างมือบ่อย ๆ สวมใส่หน้ากากอนามัยให้ถูกวิธีทุกครั้งที่ต้องออกนอกบ้าน เว้นระยะห่างระหว่างกัน กินข้าวแยกช้อนใครช้อนมัน และถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรออกไปเสี่ยงเชื้อโรคนอกบ้าน เพื่อความปลอดภัยของคุณเอง
ข้อมูลจาก ABS CBN News