ประเพณีสงกรานต์ที่หลายคนเฝ้ารอคอย หลังจากงดไป 1 ปีเต็ม ๆ กำลังจะกลับมาอีกครั้งในวิถีใหม่ที่หลายคนต้องปรับตัว เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังไม่นิ่ง หลังจากเกิดคลัสเตอร์ใหม่ที่ตลาดบางแค จนทำให้หลายคนหวั่นว่าจะมีการติดเชื้อในวงกว้างจนเกิดการระบาดระลอกใหม่อีกครั้ง
ตัวเลขผู้ติดเชื้อแบบเป็นกลุ่มก้อนในครั้งนี้ จึงเท่ากับเป็นการดับฝันของคนที่รอคอยที่จะเล่นน้ำในเทศกาลสงกรานต์ช่วงวันหยุดยาว 6 วัน ระหว่างวันที่ 10-15 เม.ย.นี้ไปโดยปริยาย
เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย และแพทย์หลายท่านออกมาเตือนว่าควรงดกิจกรรมสงกรานต์ที่มีคนมารวมตัวกันหากไม่อยากให้เกิดการระบาดอีกระลอก เพราะบ้านเราเพิ่งจะเริ่มมีการฉีดวัคซีนไปเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ซึ่งกว่าจะครบทั้งประเทศต้องใช้เวลานานเกือบปี จากที่รัฐบาลตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ได้ 10 ล้านโดสต่อปี ทำให้สงกรานต์ปีนี้จะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ
จัดสงกรานต์แบบ New Normal
แม้ว่าไม่ยกเลิก แต่ก็ต้องจัดกิจกรรมแบบ New Normal นั่นคือ งดการสาดน้ำในทุกกรณี! ในคอนเซ็ปต์ “ริน รด พรม ใส่หน้ากาก ไม่สาดน้ำ” โดยจากการหารือของ 3 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เห็นพ้องต้องกันให้งดกิจกรรมดังต่อไปนี้
- งดกิจกรรมรวมกลุ่มคนจำนวนมาก
- งดกิจกรรมรวมกลุ่มสาดน้ำ
- งดการจัดคอนเสิร์ต
- งดกิจกรรมที่มีการสัมผัสกันใกล้ชิด งดประแป้ง
- งดการเล่นปาร์ตี้โฟม
แต่ยังคงจัดกิจกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ได้ ทั้งการจัดพิธีสรงน้ำพระ รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ทางศาสนา เช่นเดียวกับพิธีรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ตามประเพณี ที่สามารถทำได้ตามรูปแบบที่กระทรวงวัฒนธรรมกำหนด ขณะที่การเดินทางข้ามจังหวัด เพื่อกลับไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ หรือท่องเที่ยวยังคงสามารถทำได้ในทุกพื้นที่
ที่สำคัญ กิจกรรมใด ๆ ก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการจัดในพื้นที่คับแคบ หรือในพื้นที่ห้องปรับอากาศ หากจะจัดควรเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง ที่อากาศระบายได้ดี หลีกเลี่ยงการสัมผ้ส พร้อมทั้งยึดมาตรการ D-M-H-T-T อย่างเคร่งครัด
- D (Distancing) เว้นระยะห่างกับคนอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร
- M (Mask Wearing) สวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อลดการฟุ้งกระจายของละอองฝอย
- H (Hand Washing) หมั่นล้างมือบ่อยๆ ทั้งน้ำสบู่ และเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ
- T (Testing) ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายสม่ำเสมอ
- T (Thai Cha Na) สแกนแอปพลิเคชันไทยชนะและหมอชนะทุกครั้งที่เดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ
ขณะที่การดำเนินกิจกรรมของจังหวัดต่าง ๆ นอกเหนือจากนี้ ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร
หากมองในแง่ดี กิจกรรมต่าง ๆ ที่งดเว้นไปนั้น ไม่ได้ทำให้การสืบสานวัฒนธรรมไทยหายไปแต่อย่างใด เพราะยังคงไว้ทั้งพิธีทางศาสนา และการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่
เพียงแต่ความสนุกสนานแบบเต็มรูปแบบ จำเป็นต้องงดไปก่อน เพื่อไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ ๆ ขึ้นมาอีกครั้ง เพราะไม่เช่นนั้น ก็อาจจะเกิดการติดเชื้อทั่วประเทศ จนหาต้นตอไม่เจอก็เป็นได้!