การกลายพันธุ์ของเชื้อ COVID-19 ทำให้วงการแพทย์ต้องทำงานหนักยิ่งขึ้น แม้ทางการแพทย์ระบุว่าธรรมชาติของไวรัสจะมีการกลายพันธุ์ได้ตลอดเวลาก็ตาม ซึ่งประเทศไทยพบไวรัสกลายพันธุ์แล้ว 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ B.1.1.7 จากอังกฤษ และสายพันธุ์ B.1.351 หรือ 501.V2 จากแอฟริกาใต้
แม้ว่าทั้งสองสายพันธุ์ล้วนมาจากกลุ่มคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ แต่ก็มีสิทธิ์แพร่กระจายในวงกว้างได้หากไม่มีมาตรการควบคุมที่เข้มงวด หลังจากพบว่าสายพันธุ์อังกฤษมีผู้ป่วยแล้ว 9 ราย ขณะที่สายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่เพิ่งพบครั้งแรกในผู้ป่วยที่เดินทางมาจากแทนซาเนีย ล่าสุดจำนวนผู้ป่วยก็เพิ่มขึ้นเป็น 3 รายแล้ว
ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องระวังเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์มากเป็นพิเศษ เพราะเชื้อเหล่านี้มีความสามารถในการแพร่กระจายได้ง่าย โดยเฉพาะสายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่มีแนวโน้มว่ามีความรุนแรงกว่าสายพันธุ์อังกฤษ
พบสายพันธุ์แอฟริกาใต้กว่า 40 ประเทศ
ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.351 จากแอฟริกาใต้ พบครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2020 ให้หลังจากค้นพบสายพันธุ์ B.1.1.7 ของอังกฤษได้ไม่นาน ซึ่งสิ่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์เป็นกังวลคือการกลายพันธุ์จำนวนมากของสายพันธุ์ดังกล่าว โดยเฉพาะส่วนของ Spike Protein ที่เป็นโครงสร้างชั้นนอกของไวรัสที่ใช้ในการเกาะติดกับเซลล์ของมนุษย์ และเป็นตัวการที่ทำให้ไวรัสสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ง่ายยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ รายงานจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่ามีกว่า 40 ประเทศทั่วโลกที่พบว่ามีผู้ป่่วยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ โดยในทวีฟแอฟริกา อาทิ กานา คองโก โมซัมบิก แซมเบีย พบว่ามีผู้ป่วยเคสใหม่จากสายพันธ์ุนี้ราว 80-90 เปอร์เซ็นต์ จนทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมเกิน 1 ล้านคนไปแล้ว นอกจากนี้ ยังพบในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย รวมถึงประเทศในทวีปยุโรปด้วย อาทิ อังกฤษ เบลเยียม ฝรั่งเศส และสเปน ขณะที่ในเอเชียเริ่มพบผู้ป่วยแล้วเช่นกัน ซึ่งนอกจากประเทศไทย ยังพบผู้ป่วยติดเชื้อในสิงคโปร์ และเกาหลีใต้ด้วย
โควิดกลายพันธุ์ลดประสิทธิภาพวัคซีน
แอฟริกาใต้ซึ่งเป็นต้นตอของไวรัสกลายพันธุ์ B.1.351 ตัดสินใจยุติการใช้วัคซีน AstraZeneca-Oxford เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ หลังพบว่าวัคซีนดังกล่าวไม่สามารถป้องกันเชื้อโควิด-19 ในอาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองทางคลินิกจากอาการป่วยเล็กน้อยหรือปานกลางได้ เมื่อมีการติดเชื้อซ้ำจากสายพันธุ์ B.1.351
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าวัคซีน AstraZeneca จะสามารถใช้ป้องกันในกรณีที่รุนแรงขึ้นได้ โดยพิจารณาจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่ตรวจพบในตัวอย่างเลือดจากผู้ที่ได้รับวัคซีน ซึ่งหากใช้แล้วเห็นผลจริง ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของแอฟริกาใต้จะพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการกลับมาใช้วัคซีนดังกล่าวอีกครั้ง
ขณะที่วัคซีนของ Pfizer และ Moderna ต่างระบุว่าจากการศึกษาในขั้นตอนของห้องปฏิบัติการเบื้องต้นนั้นพบว่าไวรัสสายพันธุ์ B.1.351 ทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโควิด-19 ของวัคซีนทั้งสองลดน้อยลง
สายพันธุ์แอฟริกาใต้แพร่เชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์เดิม
จากผลการวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ พบว่าเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ สามารถแพร่เชื้อได้มากกว่าสายพันธุ์เดิม 50-70 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว แต่ยังไม่มีหลักฐานที่ระบุว่าสายพันธุ์ B.1.351 ทำให้โรคมีความรุนแรงขึ้น หรือทำให้ผู้ที่ติดเชื้อเป็นอันตรายแก่ชีวิต แต่เนื่องด้วยเชื้อดังกล่าวสามารถแพร่กระจายได้มากกว่าสายพันธุ์อื่น และวัคซีนที่มีอยู่ยังไม่สามารถตอบสนองได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พบผู้ป่วยมากขึ้น และมียอดผู้เสียชีวิตมากขึ้นตามไปด้วย
อ้างอิงข้อมูล : reuters.com / usatoday.com / nytimes.com