น้ำมันปลา VS น้ำมันตับปลา ชื่อคล้ายกัน แต่ต่างกันมาก!

แม้ว่าเราทราบกันดีอยู่แล้วว่าหากรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เพียงพอและเหมาะสม ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งวิตามินหรืออาหารเสริม แต่ด้วยปัจจัยแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ในทุกวัน อาหารเสริมและวิตามินจึงกลายเป็นทางเลือกของคนที่ใส่ใจสุขภาพ ซึ่งในจำนวนนั้นก็มีชื่อของ “น้ำมันปลา” และ “น้ำมันตับปลา” รวมอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้วยชื่อที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน จึงทำให้เกิดความสับสนกันอยู่บ่อย ๆ ว่าทั้งสองอย่างนั้นคือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมชนิดเดียวกัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

สกัดจากคนละส่วน!

น้ำมันปลา (Fish Oil)

คือน้ำมันที่ได้จากการ สกัดส่วนของเนื้อ หัว หาง และหนังของปลาทะเล อาทิ ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า ปลาแซลมอน  ซึ่งเป็นแหล่งของกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่จำเป็นต่อร่างกาย คือ กลุ่มโอเมกา 3 ที่ประกอบไปด้วยกรดสำคัญอย่าง EPA (Eicosapentaenoic Acid) และ DHA (Docosahexaenoic Acid) ซึ่งร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้

น้ำมันตับปลา (Cod Liver Oil)

คือน้ำมันที่ได้จากการ สกัดจากตับของปลาทะเล อาทิ ปลาค็อด ปลาแมคเคอเรล ปลาซาร์ดีน ซึ่งมีส่วนประกอบสำคัญคือ “วิตามินเอ” และ “วิตามินดี” ซึ่งล้วนเป็นวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่สามารถพบได้ในอาหารต่าง ๆ โดยวิตามินเอ ได้จากอาหารประเภทเนื้อสัตว์และผักต่าง ๆ  อาทิ ผักบุ้ง ตำลึง แครอท ส่วนวิตามินดีมีมากในตับและไข่แดง แต่ร่างกายสามารถสร้างวิตามินดีได้จากการที่ผิวหนังได้รับแสงแดดนั่นเอง

ประโยชน์ก็ต่างกัน!

น้ำมันปลา

กรด EPA ที่อยู่ในน้ำมันปลา ช่วยลดระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือด, ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคทางระบบหลอดเลือดและหัวใจ เนื่องจากไปเสริมสร้างความแข็งแรงของระบบหลอดเลือดและหัวใจ, ลดความดันโลหิตสูงให้อยู่ในระดับปกติ รวมถึงมีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบต่าง ๆ ในร่างกายได้

ขณะที่กรด DHA เป็นส่วนประกอบในเซลล์สมอง ประสาท และจอประสาทตา ซึ่งหากได้รับ DHA ในปริมาณที่มากพอ จะช่วยให้ความคิดและการจดจำดีขึ้นได้ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ระบุว่าอาจช่วยป้องกันภาวะซึมเศร้า และโรคที่เกี่ยวกับความจำได้

น้ำมันตับปลา

เนื่องจากน้ำมันตับปลามีวิตามินเอสูง มีบทบาทสําคัญในการสร้างเยื่อบุผิวปกติและกระดูก รวมถึงการสร้างภูมิต้านทาน และช่วยให้มองเห็นในที่มืดหรือที่มีแสงสลัวได้ดี ซึ่งคนที่มีภาวะขาดวิตามินเอจะมีอาการแสดงทางผิวหนังและเยื่อบุตา โดยอาการจะเริ่มต้นที่ตา ได้แก่ อาการตาบอดกลางคืน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาในเวลาที่เหมาะสมอาจตาบอดได้

ในน้ำมันตับปลาก็มีวิตามินดีสูงด้วยเช่นกัน ซึ่งมีบทบาทสําคัญในการช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมและฟอสฟอรัสจากอาหารผ่านเยื่อบุลําไส้เข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ วิตามินดียังมีความสําคัญต่อการสร้างกระดูกให้เป็นไปอย่างปกติด้วย

กินมากไปอันตราย!

น้ำมันปลา

ในกรณีต้องการรับประทานน้ำมันปลาในรูปแบบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ควรรับประทานในปริมาณที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำ และไม่ควรรับประทานน้ำมันปลาในปริมาณมากเกินไป เพราะทำให้มีเลือดออกและเลือดไม่แข็งตัวได้ และหากมีโรคประจำตัว อาทิ โรคหัวใจ หรือผู้ที่ต้องการควบคุมระดับไขมันเลือด ควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณการบริโภคที่เหมาะสมด้วย

น้ำมันตับปลา

วิตามินเอและวิตามินดี เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน หากได้รับวิตามิน 2 ชนิดนี้ในปริมาณที่มากเกินไป จะทำให้มีการสะสมและเพิ่มระดับวิตามินในเลือด จนอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากระดับวิตามินที่สูงมาก และก่อให้เกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะหญิงมีครรภ์ที่ได้รับวิตามินเอในปริมาณมาก อาจเสี่ยงต่อการแท้งบุตรหรือทารกพิการแต่กำเนิดได้

ข้อมูล : rama.mahidol.ac.thmedthai.com / pobpad.com