“ห่วงใยใส่ใจกัน” คำแนะนำจาก WHO รอดพ้นวิกฤติ COVID-19

ในสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในรอบใหม่นี้ สร้างความกระอักกระอ่วนใจให้พวกเราอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะเราต่างปฏิเสธไม่ได้ว่าเราก็ระแวงคนใกล้ตัวอยู่เหมือนกัน คนที่ยังต้องออกไปทำงาน คนที่ไปสถานที่เสี่ยงตามที่เป็นข่าว และคนที่เดินสวนกัน เราไม่รู้เลยว่าเขาจะเป็นพาหะนำเชื้อมาสู่เราหรือเปล่า

แต่กุญแจสำคัญที่จะช่วยให้พวกเรารอดพ้นวิกฤติโรคระบาดนี้ไปด้วยกัน คือ การห่วงใยใส่ใจกัน ดูแลซึ่งกันและกัน ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อน ว่าคงไม่มีใครอยากจะเป็นโรคนี้ และเจ้าตัวที่ติดมาก็คงไม่รู้ตัวด้วยเช่นกัน ถึงกระนั้น จึงจำเป็นที่ต้องเริ่มที่ตัวเรา ดูแลตัวเอง ห่วงใยคนรอบข้าง และเชื่อมั่นในบุคลากรทางการแพทย์

ทาง WHO South-East Asia จึงได้ให้คำแนะนำ “การดูแลกันและกัน” ที่มีคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เพื่อให้ประชาชนร่วมมือกันป้องกันทั้งตนเอง และคนรอบข้างให้ปลอดภัยจาก COVID-19 ให้มากที่สุด อินโฟกราฟิกที่จัดทำขึ้นนี้ จัดทำโดย กรมประชาสัมพันธ์ มีคำแนะนำหลัก ๆ ในการดูแลคน 3 กลุ่ม ดังนี้

ภาพจาก Facebook : PR Thai Government

ดูแลตัวเอง

ด้านสุขลักษณะ

  • หมั่นล้างมือบ่อย ๆ
  • หากไม่สะดวกล้างมือด้วยน้ำ ก็ควรพกแอลกอฮอล์เจลติดตัวไว้สำหรับทำความสะอาดแทน

ด้านสุขภาพ

  • หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัด
  • เว้นระยะห่างจากบุคคลอื่น 6 ฟุต หรือประมาณ 2 เมตร
  • ติดตามคำแนะนำในการดูแลสุขภาพจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

หากสงสัยว่ามีอาการ

  • สวมหน้ากากอนามัย (ควรสวมเป็นประจำ)
  • รับผิดชอบตัวเอง กักตัว ไม่ออกไปแพร่เชื้อให้คนอื่น
  • หาคำแนะนำการดูแลสุขภาพอย่างเร่งด่วน

ด้านสภาพจิตใจของตนเอง

  • หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ นอกจากเสริมสร้างภูมิต้านทาน ยังช่วยคลายเครียดจากการอยู่บ้านนาน ๆ ด้วย
  • จำกัดการเสพข่าวสารด้านลบที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจ
  • เสพข่าวจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้เท่านั้น และอย่าด่วนเชื่อข่าวที่ยังเป็นข่าวลือ
  • ใช้เวลาอยู่กับสิ่งที่ตัวเองรักให้มากขึ้น

ห่วงใยคนรอบข้าง

ดูแลและปกป้องผู้อื่น

  • หากมีอาการไอ มีไข้ หายใจลำบาก ต้องพยายามอยู่ให้ห่างจากผู้อื่น
  • สวมหน้ากากอนามัย
  • หมั่นล้างมือบ่อย ๆ

แสดงความห่วงใย

  • พยายามให้เรื่องราวหรือข่าวในแง่บวก
  • ช่วยเหลือดูแลกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย และผู้สูงอายุ
  • แสดงความเห็นอกเห็นใจ ให้กำลังใจกับผู้ที่มีอาการป่วย รวมถึงครอบครัวของเขา

ปลอบใจด้วยคำพูด

  • แยกแยะข้อเท็จจริงและข่าวลือ อย่าเผยแพร่ข่าวที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน จะทำให้คนตื่นตระหนก
  • การพูดคุยข่าวสาร ควรอ้างอิงแหล่งข้อมูลที่มาของข่าว (ที่เชื่อถือได้)
  • แสดงออกถึงความเข้าอกเข้าใจ

ดูแลคนใกล้ตัวที่ป่วย

  • ดูแลให้แน่ใจว่าพวกเขาได้พักผ่อน ดื่มน้ำ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอ
  • พยายามรักษาสภาพจิตใจพวกเขาให้ดีอยู่เสมอ
  • อย่าลืมสวมหน้ากากอนามัยและป้องกันตัวเองเมื่อต้องอยู่ใกล้ผู้ป่วย

เชื่อมั่นผู้ที่ดูแลเรา (บุคลากรทางการแพทย์)

เชื่อฟัง

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ในการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด เพราะพวกเขาต้องทำงานอย่างหนักเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาด
  • มีส่วนร่วมในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดโรคตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์

สนับสนุน

  • ส่งกำลังใจให้พวกเขาดูแลตัวเองเป็นอย่างดีระหว่างปฏิบัติงาน
  • พวกเขาและครอบครัวจะต้องปลอดภัยเมื่อพบกัน

ยกย่องการทำงาน

  • เชื่อมั่นและยกย่องในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์รอบข้าง
  • นั่นเป็นเพราะพวกเขาต้องใช้ชีวิตบนความเสี่ยงมากกว่าพวกเรา และเสียสละเพื่อพวกเรามากจริง ๆ

ข้อมูลจาก Facebook : PR Thai Government