อ่านให้จบ! ปล่อยสัตว์แบบไหนได้บุญ รอดทั้งสัตว์-ระบบนิเวศ

การทำบุญปล่อยสัตว์ ปล่อยนก ปล่อยปลาในโอกาสสำคัญต่าง ๆ เพื่อเป็นการต่อชะตาชีวิต สะเดาะเคราะห์ หรือแก้กรรม ยังคงเป็นความเชื่อที่อยู่คู่กับคนไทยมายาวนาน โดยเฉพาะในโอกาสสำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นช่วงปีใหม่ วันเกิด หรือวันพระต่าง ๆ

แต่บ่อยครั้งที่การปล่อยสัตว์ที่ถูกจับมาขายเพื่อมุ่งหวังจะให้ชีวิตกับสัตว์เหล่านั้น กลายเป็นดราม่าในสังคม เพราะมองว่าได้บาปมากกว่าบุญเมื่อนำสัตว์ไปปล่อยไม่ถูกที่ถูกทาง เหมือนเช่นกรณีของคู่รักคนดัง ก้อย รัชวิน และ ตูน บอดี้สแลม ที่ทำบุญช่วงปีใหม่ด้วยการปล่อยกบและเต่าในแม่น้ำ ทำให้มีแฟนคลับเข้ามาทักท้วงว่าอาจทำให้สัตว์เหล่านั้นตายได้ จนต้องออกมาชี้แจงและลบรูปภาพดังกล่าวออกไปในภายหลัง

ที่มาของความเชื่อ “ต่อชะตาชีวิต” จากการปล่อยปลา

จากข้อมูลของสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง สงขลา ระบุว่าความเป็นมาของการปล่อยปลาเท่าที่มีการบันทึกไว้ในพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ พระสารีบุตรซึ่งเป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้ามีศิษย์เป็นสามเณรรูปหนึ่ง ด้วยชะตาชีวิตจะต้องมรณภาพในอีก 7 วันข้างหน้าจึงเป็นที่น่าเวทนา หากสามเณรมิได้ร่ำลาบิดามารดาเป็นครั้งสุดท้ายก่อนมรณภาพ

พระสารีบุตรจึงบอกให้สามเณรรูปนั้นเดินทางกลับบ้าน เพื่อกลับไปร่ำลาบิดามารดาเป็นครั้งสุดท้ายก่อนมรณภาพ  แต่เมื่อเวลาผ่านไปเลย 7 วันแล้ว สามเณรยังคงมีชีวิตแข็งแรงดีอยู่ และกลับมาจำพรรษาที่วัดตามเดิม

พระสารีบุตรจึงได้ถามสามเณรว่า ขณะเดินทางกลับไปเยี่ยมบิดามารดานั้นได้ปฏิบัติกิจอันใดบ้าง สามเณรจึงเล่าว่าขณะเดินทางกลับบ้านนั้น ระหว่างทางเห็นปลาเล็กปลาน้อยจำนวนหนึ่งรวมกันอยู่ในหนองน้ำข้างทางที่กำลังจะแห้ง หากปล่อยทิ้งไว้ก็จะแห้งตายหมด จึงจับปลาขึ้นมารวบรวมใส่จีวร แล้วนำไปปล่อยในแม่น้ำที่อยู่ใกล้ ๆ ก่อนเดินทางต่อเพื่อกลับบ้าน 

พระสารีบุตรจึงพิจารณาเห็นได้ว่า ปลาเหล่านั้นคืออดีตเจ้ากรรมนายเวรของสามเณรผู้นั้น และเมื่อสามเณรได้ช่วยเหลือนำปลาไปปล่อยลงแม่น้ำ เท่ากับได้ทำบุญกุศล ต่ออายุให้ปลาเหล่านั้น เจ้ากรรมนายเวรจึงได้อโหสิกรรมให้กับสามเณรเป็นการตอบแทน และกล่าวว่า “การให้ชีวิตกับผู้อื่น เป็นการสร้างกุศลที่ต่อชีวิตให้เราได้ยืนยาวต่อไป” เมื่อผู้คนทั่วไปได้ทราบเรื่องราวจึงปฏิบัติเป็นประเพณีสืบมา แต่ในปัจจุบัน นอกจากการปล่อยปลาแล้ว ยังมีการปล่อยนก ปล่อยสัตว์ชนิดอื่น ๆ ด้วย

อยากได้บุญ ต้องปล่อยให้รอด ไม่ทำลายระบบนิเวศ

เมื่อคิดจะสร้างกุศลเพื่อต่อชะตาชีวิตให้ตนเองและได้บุญจริง ๆ ก็ต้องต่อชีวิตให้สัตว์ที่เราจะนำไปปล่อยด้วย เพราะหากปล่อยในสถานที่ที่ไม่เหมาะสมกับการดำรงชีวิต อาจทำให้สัตว์เหล่านั้นตายได้ แทนที่จะได้บุญจะได้บาปกลับไปโดยไม่รู้ตัว และต้องคำนึงถึงระบบนิเวศด้วยว่าจะไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อสิ่งแวดล้อม ชีวิตของพืชและสัตว์อื่น ๆ ในบริเวณนั้น

โดย  ดร. นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศน้ำจืด เจ้าของหนังสือ “ปลาน้ำจืดไทย” และเจ้าของรางวัล ASEAN Biodiversity Heroes คนแรกของประเทศไทย ที่หลายคนขนานนามว่า “ดร.ปลา” ได้ให้ความรู้ในเว็บไซต์ กลุ่มอนุรักษความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม  เกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการปล่อยสัตว์ให้รอดและไม่กระทบระบบนิเวศไว้อย่างละเอียด ซึ่ง Tonkit360 รวมรวมนำมาสรุปไว้ดังนี้

นก

ไม่ควรปล่อย เพราะเป็นการสนับสนุนให้มีการจับนกมาขาย ซึ่งเป็นการทรมานนก และนกที่พบตามธรรมชาติที่ถูกจับมานั้นเป็นสัตว์คุ้มครอง ถือว่าผิดกฎหมาย อีกทั้งการนำไปปล่อยในสถานที่ที่ไม่ใช่ถิ่นอาศัยของนก ถือว่าได้บาปมากกว่าบุญ

เต่า

ไม่ควรปล่อย เพราะเต่าน้ำจืดทุกชนิดของไทยเป็นสัตว์คุ้มครอง ถือว่าผิดกฎหมายเช่นกัน และโดยธรรมชาติ เต่าต้องอาศัยอยู่ตามแหล่งที่มีทั้งน้ำตื้นและน้ำลึก มีชายตลิ่งให้ขึ้นมาเกาะพัก แต่ท่าน้ำวัดมักอยู่ริมคลองขนาดใหญ่หรือริมแม่น้ำ ซึ่งมีท่าชันหรือเป็นท่าคอนกรีต จึงมีโอกาสรอดยาก

ตะพาบ

ห้ามปล่อยเด็ดขาด เพราะตะพาบตัวเขียวเล็ก ๆ คือพันธุ์ตะพาบไต้หวัน ถือเป็นสัตว์ต่างถิ่น ไม่ควรปล่อยลงแหล่งน้ำไทย จะกระทบต่อระบบนิเวศได้ ส่วนตะพาบสายพันธุ์ไทย (ลำตัว-คอมีจุดสีเหลือง) เป็นสัตว์คุ้มครองหายากทุกชนิด ถือว่าผิดกฎหมายเช่นกัน

กบ

ควรปล่อยตามพื้นที่ชื้นแฉะ มีน้ำท่วมขัง มีป่าหรือหญ้ารก ๆ เพราะกบที่นำมาขายส่วนใหญ่เป็นกบนา ที่อยู่ตามท้องนา และไม่ควรปล่อยรวมกันที่เดียวเยอะ ๆ เพราะกบเป็นสัตว์ผู้ล่า หากปล่อยจำนวนมาก ๆ จะกระทบระบบนิเวศ ส่งผลต่อสัตว์เล็กสัตว์น้อยในบริเวณนั้นได้ และการปล่อยในลำคลอง แม่น้ำ ก็ถือเป็นการทรมานทำให้กบตายได้

ปลา

กลุ่มปลาที่ไม่ควรปล่อยเด็ดขาด คือพวกปลาต่างถิ่นต่างๆ ที่จะกระทบระบบนิเวศ

อาทิ ปลาซัคเกอร์ ปลาจาระเม็ดน้ำจืด ปลานิล ปลาทับทิม ปลาไน ปลาคาร์พ ปลาต่างถิ่นจากจีน ปลาเลี้ยงสวยงาม ปลาดุก (ส่วนใหญ่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างปลาดุกยักษ์จากทวีปแอฟริกากับปลาดุกอุยของไทย) 

กลุ่มปลาที่เลือกปล่อยได้ตามความเหมาะสม 

ปลาช่อน – ปล่อยในแหล่งน้ำที่มีพืชน้ำขึ้นรก ๆ หรือตามชายตลิ่งชายคลองที่มีพืชน้ำขึ้น และไม่ควรปล่อยทีละมาก ๆ เพราะจะส่งผลต่อปลาเล็กปลาน้อยในท้องที่

ปลาไหล – ปล่อยในแหล่งน้ำตื้นที่มีพืชขึ้นรก ๆ ป่าหญ้าลอยน้ำ ไม่ควรปล่อยลงคลอง แม่น้ำใหญ่ ๆ โอกาสรอดน้อยลง

ปลาหมอไทย – ปล่อยกระจายในแหล่งน้ำนิ่ง มีพืชน้ำ และไม่แนะนำให้ปล่อยลงคลอง แม่น้ำ แม้ว่าปลาหมอไทยปรับตัวเก่งและมีโอกาสรอดได้ก็ตาม

ปลาสวาย – ควรปล่อยตัวที่มีขนาด 3-4 นิ้วขึ้นไป โอกาสรอดจะสูงขึ้น และการปล่อยลงคลองโอกาสรอดเยอะกว่าปล่อยลงแม่น้ำใหญ่

ปลาบู่ทราย – ปล่อยบริเวณที่เป็นกองหิน มีขอนไม้ใต้น้ำ มีไม้ชายน้ำ และควรเลือกที่ตัวโตหน่อย จะทำให้มีโอกาสรอดได้สูงกว่า

ปลากราย – ควรปล่อยตัวที่มีขนาด 4-5 นิ้วขึ้นไป โอกาสรอดจะสูงขึ้น สามารถปล่อยลงคลองหรือแม่น้ำได้ แต่ควรหาจุดที่ตลิ่งมีพืชน้ำหรือวัสดุใต้น้ำเยอะ ๆ

ปลาตะเพียน – ควรปล่อยตัวที่มีขนาดอย่างน้อย 1 นิ้วขึ้นไป หาจุดที่ตลิ่งมีพืชน้ำขึ้นเยอะ ๆ และ อย่าปล่อยตรงจุดที่มีปลาชนิดอื่นขึ้นน้ำเยอะ ๆ ไม่เช่นนั้นจะถูกกินหมด

ปูทะเล

ไม่แนะนำให้ปล่อย หากแยกไม่ออกว่าเป็นปูที่จับจากไทยหรือประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมีความเสี่ยงเรื่องความบริสุทธิ์ของยีนได้ แต่ถ้าอยากปล่อย สามารถปล่อยตามป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ได้

กุ้งก้ามกราม

ปล่อยได้ เพราะเป็นกุ้งไทย แต่ให้ปล่อยตามแม่น้ำใหญ่ ๆ และไม่ควรปล่อยในปริมาณมากเกินไป เพราะเป็นสัตว์ผู้ล่า จึงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศได้

หอยโข่ง หอยขม

ปล่อยได้ แต่แนะนำให้ปล่อยในแหล่งที่มีน้ำคุณภาพค่อนข้างดี และไม่ลึกจนเกินไปนัก หากปล่อยตามคลองในกทม.หรือชานเมืองมีโอกาสรอดน้อย ให้สังเกตตามคลองหรือแม่น้ำที่นำไปปล่อยว่าหอยปีนขึ้นมาเกาะอยู่ตามผนังที่ผิวน้ำหรือไม่ หากพบเห็นแสดงว่าบริเวณนั้นมีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม

จากข้อมูลเหล่านี้จะเห็นได้ว่ามีสัตว์หลายชนิดที่ไม่ควรปล่อยเพราะอาจทำให้สัตว์ตายได้ หากต้องการปล่อยเพื่อให้ได้บุญจริง ๆ ก็จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลให้ดีเสียก่อนว่าควรนำไปปล่อยในแหล่งใด ซึ่งการปล่อยให้สัตว์ได้อยู่ตามธรรมชาติเป็นสิ่งที่ดีที่สุด จึงไม่ควรสนับสนุนพ่อค้าแม่ค้าที่จับสัตว์มาขาย เพราะจะเป็นการส่งเสริมให้ฆ่าสัตว์ทางอ้อมโดยไม่รู้ตัว

ข้อมูล : สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง สงขลา / ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระด้านระบบนิเวศน้ำจืด