เคยรู้สึกว่าตัวเองเก่งไม่พอไหม รู้สึกว่าทำอะไรก็ไม่ได้ดั่งใจหวัง ทำอะไรก็ดูจะไม่ประสบความสำเร็จ ไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองทำ และหลาย ๆ ครั้งเมื่อต้องออกไปเจอโลกที่กว้างขึ้น เจอผู้คนหลากหลาย ก็อดไม่ได้ที่จะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น จากนั้นก็มารู้สึกแย่ หมดกำลังใจ หมดศรัทธาในตัวเอง
ถ้าคุณมีอาการที่ว่านี้ คุณเป็น Impostor Syndrome หรือโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง จริง ๆ แล้วอาการนี้เป็นอาการทางจิตชนิดหนึ่ง เป็นขั้นกว่าของคนที่รู้สึกไม่มั่นใจในตัวเอง พูดง่าย ๆ ก็คือ คนเหล่านี้ไม่ใช่เพียงไม่มั่นใจในตัวเอง แต่กังวลเรื่องความสามารถของตนเองด้วย ในหัวจะบอกตัวเองเสมอว่าตัวเองนั้นไม่เก่งพอ ไม่มีความสามารถ ทุกอย่างที่ได้มาเป็นเพราะโชคช่วย ในบางคนกังวลถึงขั้นที่ว่าถ้าเจองานยาก มีคนคาดหวังมาก ๆ ตนเองอาจจะถูกจับได้ว่าไม่เก่งจริง ถูกจ้องจับผิดตลอดเวลา แล้วโทษว่าเป็นความผิดตัวเองร่ำไป
อาการ Impostor Syndrome ที่ว่านี้ ถูกค้นพบมาตั้งแต่ปี 1978 โดยสองนักจิตวิทยา Pauline Rose Clance และ Suzanne Imes ในงานวิจัยระบุว่าอาการนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่ในต่อมาก็ค้นพบว่าไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย หรือวัยไหน ๆ ก็มีโอกาสที่จะมีอาการนี้ได้ โดยที่ทุกวันนี้ Impostor Syndrome ก็ยังไม่ได้รับการรับรองให้เป็นโรคทางจิตเวช ทั้งที่ความจริงแล้วอาการเช่นนี้ส่งผลต่อชีวิตประจำวันและหน้าที่การงานมากเลยทีเดียว
โดยทั่วไป คนเราจะรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองก็ต่อเมื่อประเมินความสามารถในขั้นต้นแล้วว่าอาจทำได้ไม่ดีพอ หรือเคยมีเรื่องผิดพลาดมาก่อน ถ้าลงมือทำแล้วผ่านไปได้ก็จะรู้สึกดี ภาคภูมิใจในตัวเอง แต่ไม่ใช่กับผู้ที่มีอาการ Impostor Syndrome เพราะคนกลุ่มนี้จะกังวลและไม่มั่นใจในตัวเองในทุกเรื่องที่ทำ ทำออกมาแล้วก็คิดว่าดีไม่พอ อยากทำใหม่ให้ดีขึ้นกว่านี้แล้วกดดันตัวเอง และไม่ใช่อาการที่แว่บขึ้นมาเป็นพัก ๆ แต่เป็นส่วนใหญ่หรือทุกครั้งที่ทำงาน ออกแนวดูถูกศักยภาพการทำงาานของตัวเอง
เช็กลิสต์ มีอาการ Impostor Syndrome หรือไม่?
หากไม่แน่ใจว่าตนเองมีอาการดังกล่าวหรือไม่ ลองเช็กดูจากอาการต่อไปนี้
- คิดว่าตัวเองทำอะไรก็ไม่สำเร็จ ไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน หรือต่อให้สำเร็จก็เป็นเพียงเรื่องบังเอิญ ไม่ใช่เพราะความสามารถของตัวเอง
- กลัวความผิดพลาด กังวลสิ่งที่ต้องเผชิญแม้ว่าจะยังไม่เกิดขึ้นก็ตาม
- ทำทุกอย่างด้วยตัวเองตลอด แต่ถ้าไม่ดีพอก็โทษว่าตัวเองไม่ได้เรื่อง
- พลาดไม่ได้ ทุกอย่างต้องเพอร์เฟค (ต่อให้เพอร์เฟคก็คิดว่าไม่เพอร์เฟค) ถ้าพลาดจะต้องถูกเยาะเย้ยหรือถูกจับได้ว่าเก่งไม่จริง
- คิดว่าคำชมเชยจากคนอื่นเป็นเรื่องจอมปลอม เขาทำดีด้วยตามมารยาท
- บ้างาน ทำงานหนัก พยายามจะพิสูจน์ตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะตั้งเป้าหมายเอาไว้สูงเกินความเป็นจริง โดยเข้าใจว่าการทำงานหนักจะนำมาซึ่งความสำเร็จ
- ไม่พอใจกับสิ่งแวดล้อมรอบตัว ไม่พอใจกับงานที่ออกจากมือตัวเอง คิดเพียงแค่ว่าครั้งหน้าจะต้องดีกว่านี้ แม้ว่าตัวเองจะลำบากมากกว่าเดิมก็ตาม
- รู้สึกด้อยค่าและอับอายหากต้องเอ่ยปากขอความช่วยเหลือจากคนอื่น เหมือนกับว่าตัวเองเก่งไม่มากพอ ถึงต้องแบกหน้าไปขอความช่วยเหลือ และก็ไม่รู้ด้วยว่าเขาจะทำได้ดีเหมือนที่เราทำเองไหม
- เข้าใจว่าใคร ๆ ก็มองว่าตัวเองเป็นพวก Perfectionist ทำให้กดดันตัวเองว่าต้องทำออกมาให้ดี แต่ในใจลึก ๆ ก็ไม่เชื่อว่าตัวเองมีความสามารถจะทำได้
- มีความคิดว่าคนอื่นไม่เห็นต้องพยายามอะไรมาก แต่ทำไมเขาถึงทำได้ดี หรือมองพวกที่เอาแต่บ่น ไม่เห็นจะมีใครพยายามได้เท่ากับตัวเอง
การเอาชนะเป็นสิ่งที่ท้าทาย
ด้วยอาการที่คิดว่าตัวเองไม่เก่ง ตัวเองดีไม่พอ หรือกลัวคนมองว่าตัวเองไม่เก่งจริง บั่นทอนทั้งสภาพจิตใจและศักยภาพในการทำงาน เพราะฉะนั้น หากเรามัวแต่กังวลอยู่กับความสามารถของตัวเองจนไม่กล้าทำอะไร ไม่กล้าเริ่มต้น ก็จะทำให้เราติดอยู่ในเซฟโซนโดยไม่ไปไหน เพื่อให้ตัวเองได้กล้าทำในสิ่งที่ใหญ่ขึ้น ก้าวหน้าขึ้น การเอาชนะความรู้สึกด้านลบของตัวเองให้ได้จะเป็นอีกก้าวที่จะพาตัวเองไปสู่การเริ่มต้นใหม่ที่ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะเป้าหมายในการทำงาน ซึ่งมีคำแนะนำ 5 ข้อนี้
1. ยอมรับความจริง
ยอมรับทั้งตัวเองและยอมรับความเป็นจริงของโลก เราควรจะรู้ตัวเองก่อนว่าตัวเรามีอาการแบบนี้ และโลกใบนี้ก็ไม่มีใครที่ไม่เคยผิดพลาด ไม่มีใครสมบูรณ์แบบไปเสียทุกอย่าง คนเรามีผิดมีพลาดกันได้เป็นเรื่องปกติ เข้าใจความรู้สึกและความปรารถนาของตัวเอง อาจเริ่มจากการรู้ว่าชอบอะไร ถนัดอะไร แล้วค่อย ๆ สร้างเป้าหมายชีวิต ไม่ใช่เรื่องที่จะมากังวลกับความสามารถของตัวเอง เมื่อยอมรับได้แล้ว ก็ให้ปฏิบัติตามข้อต่อ ๆ ไป
2. รักตัวเอง มองให้เห็นคุณค่าของตัวเอง
การให้ความสำคัญกับความรู้สึกและสภาพจิตใจของตัวเองเป็นเรื่องที่สำคัญมาก การที่เรามองตัวเองต่ำต้อยด้อยค่าอยู่ตลอดเวลาเป็นการบั่นทอนจิตใจโดยใช่เหตุ ต้องมองให้ออกว่าเรามีข้อดีอะไรอยู่บ้าง หมั่นทบทวนและค่อย ๆ แสดงมันออกมา เวลาที่มีคนชมว่าทำงานดีก็ขอให้เชื่อมั่นว่าเราทำได้ดีเขาถึงชม และก็ต้องชื่นชมและให้กำลังใจตัวเองด้วย ใจดีกับตัวเองให้มาก ๆ ที่ผิดพลาดก็ให้เป็นครูค่อย ๆ เรียนรู้และหาทางแก้ไขกันไป
3. มองโลกในแง่ดี
การแก้อาการนี้ด้วยตนเอง ต้องเริ่มจากการปรับทัศนคติให้มองโลกในมุมมองที่เป็นมุมบวกมากขึ้น เข้าใจใหม่ว่าบนโลกนี้ไม่ได้มีใครมาโฟกัสกับเรามากขนาดนั้น เราไม่ได้ถูกจับจ้อง ไม่ได้ถูกจับผิด หรือถูกกดดันตลอดเวลา ตราบใดที่เราตัดสินใจทำแล้วก็แปลว่ามันดีแล้ว ต้องมั่นใจกับทุกผลงานของตัวเองที่ตั้งใจทำเป็นอย่างดี มองคนรอบข้างว่าเขาเป็นมิตร ไม่ได้มาคอยจะหัวเราะเยาะหรือซ้ำเติมเมื่อเราผิดพลาด
4. ให้โอกาสตัวเองและผู้อื่น
เมื่อปรับทัศนคติ มองโลกในแง่ดีได้แล้ว จะต้องให้โอกาสกับตัวเอง ยอมรับในความสามารถของตัวเอง เลิกเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น เข้าใจว่าคนเราถนัดไม่เหมือนกัน ดังนั้น การขอความช่วยเหลือจากคนอื่นไม่ได้แปลว่าเราไม่เก่ง อย่าไปกลัว อย่าปิดกั้นโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่จากคนอื่น เปิดใจว่าเขาไม่ได้ทำดีกับเราตามมารยาท แต่เขาอาจจะอยากเป็นเพื่อนกับเราจริง ๆ ก็ได้ จะช่วยให้เราสับสนน้อยลง
5. ถ้ารู้สึกหนักมากจนหมดศรัทธาในตัวเอง ต้องไปพบจิตแพทย์หรือปรึกษานักจิตวิทยา
เนื่องจากอาการดังกล่าวสามารถนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ ด้วยความรู้สึกที่ว่าตัวเองไม่เก่งพอ ไม่มีคุณค่ามากพอ เมื่อทำผิดก็โทษแต่ตัวเองซ้ำ ๆ ความคิดเช่นนี้จะทำให้เราหมดศรัทธาในตัวเอง รบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและชีวิตต่อการทำงาน จึงควรต้องไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา ซึ่งการหาหมอไม่ได้หมายความว่าเราบ้า แต่ให้คิดว่าไปเพื่อบำบัดให้ตัวเองรู้สึกมีความสุขขึ้น ผู้เชี่ยวชาญจะมีวิธีการที่ช่วยให้เราปรับจากอาการเหล่านี้ได้