อ่านดี ๆ เงื่อนไขของการอนุญาตยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2

หากพูดถึงสารเสพติดที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ นอกจากกัญชาแล้ว ยังมีมอร์ฟีน ที่เป็นสารสกัดจากฝิ่น และโคเคน ที่เป็นสารสังเคราะห์จากต้นโคคา ซึ่งการใช้สารเสพติดเหล่านี้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ มีใช้มานานแล้ว หากแต่ต้องอยู่ในความควบคุมของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะสารเสพติด เป็นสารที่ทำให้ร่างกายเสพติดได้ และทำให้มีโทษต่อร่างกาย ทรัพย์สินส่วนตัว ครอบครัว และยังเป็นปัญหาสังคมด้วย

แต่ประเด็นที่มีการพูดถึงเกี่ยวกับกฎกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การอนุญาตจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 พ.ศ. 2563 ที่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 นั้น อาจทำให้มีหลายคนเข้าใจผิดหรือเข้าใจคลาดเคลื่อนได้

เพราะแท้จริงแล้วใจความสำคัญของการอนุญาตจำหน่ายและมีไว้ในครอบครองที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับนี้ มีข้อกำหนดเพื่อใช้ทางการแพทย์และการศึกษา Tonkit360 จะชวนมาทำความเข้าใจว่า กฎกระทรวงฉบับนี้สื่อถึงอะไร

ว่าด้วยยาเสพติดให้โทษประเภท 2

ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ได้แบ่งยาเสพติดออกเป็น 5 ประเภท คือ

  • ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ได้แก่ เฮโรอีน แอลเอสดี แอมเฟตามีน หรือยาบ้า ยาอี
  • ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 เป็นยาเสพติดที่สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ โดยต้องใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์ และใช้เฉพาะกรณีที่จำเป็นเท่านั้น ได้แก่ ฝิ่น มอร์ฟีน โคเคน หรือโคคาอีน โคเดอีน และเมทาโดน
  • ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 3 เป็นยาเสพติดให้โทษที่มียาเสพติดประเภทที่ 2 ผสมอยู่ มีประโยชน์ทางการแพทย์ การนำไปใช้เพื่อจุดประสงค์อื่น หรือเพื่อเสพติด จะมีบทลงโทษกำกับไว้ ยาเสพติดประเภทนี้ ได้แก่ ยาแก้ไอที่มีตัวยาโคเดอีน ยาแก้ท้องเสียที่มีฝิ่นผสมอยู่ ยาฉีดระงับปวดต่าง ๆ เช่น มอร์ฟีน เพทิดีน ซึ่งสกัดจากฝิ่น
  • ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 4 คือ สารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 หรือประเภทที่ 2 ไม่มีการนำมาใช้ประโยชน์ในการบำบัดโรคแต่อย่างใด และมีบทลงโทษกำกับไว้ด้วย
  • ยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 เป็นยาเสพติดให้โทษที่มิได้เข้าข่ายอยู่ในยาเสพติดประเภทที่ 1 ถึง 4 ได้แก่ ทุกส่วนของพืชกัญชา ทุกส่วนของพืชกระท่อม และเห็ดขี้ควาย

สำหรับยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 นั้นเป็นยาเสพติดให้โทษทั่วไป แต่ใช้เป็นยาที่มีประโยชน์ในการรักษาโรคในระดับน้อยจนถึงมากได้ อย่างไรก็ดี การใช้ยาเสพติดประเภทนี้ต้องระมัดระวังและอยู่ในความดูแลของแพทย์ เพราะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเสพติดยาในระดับที่ต้องพึงระวัง ตัวอย่างยาเสพติดประเภทที่ 2 ที่นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เช่น

มอร์ฟีน (Morphine)

มอร์ฟีน เป็นสารประกอบที่สกัดจากฝิ่น สรรพคุณทางการแพทย์ของมอร์ฟีน คือ ใช้ระงับอาการปวด เช่น ใช้ระงับอาการปวดหลังผ่าตัด ระงับอาการปวดจากไฟไหม้ ใช้ระงับอาการปวดระยะสุดท้ายในผู้ป่วยโรคมะเร็ง นอกจากนี้ในยังใช้มอร์ฟีนเป็นยาแก้ไอ ในผู้ป่วยในรายที่มีอาการไออย่างรุนแรง

มอร์ฟีนมีลักษณะเป็นผงสีขาวนวล สีครีม สีเทา ไม่มีกลิ่น รสขม ละลายน้ำง่าย สำหรับข้อบ่งใช้ทางการแพทย์ แพทย์จะให้มอร์ฟีนกับผู้ป่วย ทั้งใช้เป็นยาฉีด (ฉีดเข้าเส้นเลือด ฉีดเข้าผิวหนัง หรือเป็นแผ่นติดผิวหนัง) ยากิน (ทั้งยาเม็ดและยาน้ำ) และยาเหน็บ

ส่วนโทษของมอร์ฟีน จะเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยได้รับมอร์ฟีนต่อเนื่องเป็นเวลานาน จะทำให้ผู้ป่วยต้องการยาในปริมาณมากกว่าเดิม ผู้ที่เสพติดมอร์ฟีน ระยะช่วงแรก มอร์ฟีนจะช่วยคลายความวิตกกังวล ทำให้มีอาการง่วงซึมนอนหลับง่าย บรรเทาอาการเจ็บปวดได้ แต่ระยะต่อมา ผู้เสพติดจะมีอาการเหม่อลอย เซื่องซึม ร่างกายซูบผอม ทรุดโทรม หูอื้อ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน จนถึงขั้นชักและหมดสติ รวมถึงอาจมีภาวะโรคแทรกซ้อนได้

ส่วนโทษของมอร์ฟีนต่อภาวะจิตและระบบประสาท จะทำให้ผู้เสพติดมีอารมณ์แปรปรวน กังวล ขี้หงุดหงิด กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ มีอาการก้าวร้าว หวาดระแวง

โคเคน (Cocaine)

หรือโคคาอีน เป็นสารเสพติดธรรมชาติที่ได้จากการสังเคราะห์ส่วนใบของต้นโคคา ซึ่งเป็นพืชที่นิยมปลูกกันมากในประเทศแถบอเมริกาใต้ และอเมริกากลาง ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทส่วนกลางเช่นเดียวกับแอมเฟตามีน (ยาม้า) แต่เสพติดได้ง่ายกว่า มีลักษณะเป็นผงละเอียดสีขาว รสขม ไม่มีกลิ่น นิยมเสพด้วยวิธีสูบ ฉีด หรือสูดพ่นเข้าไปในจมูก

สรรพคุณทางการแพทย์ของโคเคน ถูกใช้เป็นยาชา เนื่องจากโคเคนจะมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้เกิดอาการไร้ความรู้สึก ชา แต่จะรู้สึกกระปรี้กระเปร่า ไม่เหนื่อย เมื่อหมดฤทธิ์ยาร่างกายจะอ่อนเพลียเมื่อยล้าในทันที จนเริ่มมีอาการเซื่องซึม หากถึงขั้นเสพติด จะเกิดผลต่อร่างกาย คือ หัวใจเต้นแรง ความดันโลหิตสูง ตัวร้อน มีไข้ตลอดเวลา นอนไม่หลับ และหากได้รับเกินขนาด ทำใหเกิดพิษเฉียบพลัน ฤทธิ์ของยากดการทำงานของหัวใจ ทำให้หายใจไม่ออก ชัก และเสียชีวิตได้

ใจความสำคัญที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เนื่องจากราชกิจจานุเบกษาเป็นเอกสารราชการที่ค่อนข้างอ่านยาก แต่ใจความสำคัญที่แท้จริงของการพิจารณาอนุญาตออกใบอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 2 อนุญาตในกรณีเฉพาะเท่านั้น คือ

  • เพื่อการรักษาหรือป้องกันโรคให้แก่ผู้ป่วยหรือสัตว์ป่วยในทางการแพทย์
  • เพื่อการวิเคราะห์หรือการศึกษาวิจัยทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์
  • เพื่อประโยชน์ทางราชการ

โดยผู้ที่ประสงค์จะขออนุญาตเพื่อมีไว้ในครอบครอง จะต้องมีคำร้องขออนุญาต ซึ่งจะมีเกณฑ์พิจารณาอนุญาตเฉพาะกรณีต่อไปนี้

  • เพื่อการผลิตยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 3 (ยาเสพติดให้โทษที่มียาเสพติดให้โทษในประเภท 2 เป็นส่วนผสมอยู่ด้วย ตามที่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับไว้)
  • เพื่อเป็นตัวอย่างเพื่อการศึกษา
  • เพื่อการวิเคราะห์หรือการศึกษาวิจัยทางการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์
  • เพื่อประโยชน์ของทางราชการ
  • เพื่อใช้ประจำในการปฐมพยาบาลหรือกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในเรือหรือเครื่องบินที่ใช้ในการขนส่งสาธารณะระหว่างประเทศที่จดทะเบียนในราชอาณาจักร

ข้อมูลจาก ราชกิจจนุเบกษา