เพราะในช่วงเวลานี้ “โรคติดต่อ” เป็นโรคที่ประชากรโลกต่างก็ให้ความสำคัญกันกันมาก นอกจากจะยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ได้อย่างเป็นทางการ สถานการณ์การระบาดและภาวะเจ็บป่วยก็รุนแรงจนน่าเป็นห่วง รวมถึงการมีอยู่ของโรคติดต่อนี้โดยที่ยังไม่มีวิธีทำให้เชื้อหายไปก็ร่วม 1 ปีแล้ว จึงทำให้เราอาจละเลยเรื่อง “โรคไม่ติดต่อ” ไปบ้าง แต่เชื่อว่าทุกคนเคยได้ยินโรคนี้ และบางคนก็รู้ซึ้งเป็นอย่างดี นั่นคือ “โรคเบาหวาน”
โรคเบาหวาน จัดอยู่ในโรคไม่ติดต่อ แต่ผู้ป่วยจะมีอาการเรื้อรัง และนั่นก็เป็นสาเหตุให้คนไทยเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อนี้ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างสูง จากฐานข้อมูล HDC (Health Data Service Center) ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าอัตราการป่วยตายด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนี้มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะโรคความดันโลหิดสูงและอัตราการป่วยด้วยโรคเบาหวาน
นับตั้งแต่ปี 2556-2563 อัตราผู้ป่วยโรคเบาหวานพบว่าอยู่ในช่วงวัยทำงาน คือ กลุ่มอายุ 15-39 ปี กลุ่มอายุ 40-49 ปี และกลุ่มอายุ 50-59 ปี มีอัตราการป่วยที่เพิ่มขึ้นทุกกลุ่มอายุเลยทีเดียว (ข้อมูลใันที่ 31 ม.ค. 2563)
อย่างไรก็ดี ที่นำเอาสถานการณ์ของโรคเบาหวานมาเล่าสู่กันฟัง ไม่ได้มีเจตนาจะขู่ให้กลัวแต่อย่างใด แต่อยากให้ทุกคนตระหนักว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนี้เป็นโรคที่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ ซึ่งทำได้โดยการส่งเสริมสุขภาพของประชาชน จนเกิดเป็นความรู้ด้านสุขภาพที่จะช่วยให้คนเราสามารถจัดการและแก้ไขปัญหาสุขภาพได้ด้วยตนเอง
14 พฤศจิกายน วันเบาหวานโลก
“ทุก ๆ 8 วินาที มีคนเสียชีวิตเพราะโรคเบาหวาน”
สำหรับโรคเบาหวาน ถือเป็นอีกโรคที่คุกคามชาวโลกที่ไม่ต่างจากโรคมะเร็งและโรคความดันโลหิตสูงเท่าไรนัก นั่นทำให้เกิดการรณรงค์สร้างความตื่นรู้ในระดับโลกขึ้นมา ที่มาของวันเบาหวานโลก เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในปี 2534 (1991) โดยสหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติร่วมกับองค์การอนามัยโลก เนื่องจากสถานการณ์การป่วยและเสียชีวิตจากโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ
ความพิเศษอีกอย่างในวันนี้ คือ เป็นวันคล้ายเกิดของเฟรเดอริก แบนติง ที่ร่วมกันทำงานกับชาร์ลส์ เบสต์ คนแรกที่ศึกษาแนวคิดเพื่อรักษาโรคเบาหวาน จนนำไปสู่การค้นพบอินซูลินเพื่อรักษาโรคเบาหวานในปี 1922 (2465) โดยในแต่ละปี งานวันเบาหวานโลกจะจัดครอบคลุมเบาหวานกับทุก ๆ ด้าน เช่น เบาหวานกับสิทธิมนุษยชน เบาหวานกับวิถีชีวิต เบาหวานกับความอ้วน เบาหวานในผู้ด้อยโอกาสและกลุ่มเสี่ยง เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น รวมถึงยังพูดคุยเกี่ยวกับโรคเบาหวานด้วย
วันเบาหวานโลกในปี 2020
งานวันเบาหวานโลกในปี 2020 นี้เป็นธีมพยาบาลกับเบาหวาน (The Nurses and Diabetes) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มบทบาทของพยาบาลในการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า “พยาบาล” กว่า 59 เปอร์เซ็นต์ เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ จากพยาบาลทั่วโลกกว่า 27.9 ล้านคน มีจำนวน 19.3 ล้านคนที่เป็นพยาบาลวิชาชีพ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการขาดแคลนพยาบาล
สถานการณ์ขาดแคลนพยาบาลทั่วโลกนั้น ในปี 2018 อยู่ที่ 5.9 ล้านคน กว่า 89 เปอร์เซ็นต์ ปัญหาขาดแคลนพยาบาลเกิดขึ้นกับประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง องค์การอนามัยโลกเลยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2030 จะต้องมีพยาบาลที่ได้รับการฝึกอบรมเพิ่มอีก 8 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เพื่อเอาชนะภาวะขาดแคลนพยาบาลให้ได้ และเพื่อให้พยาบาลเตรียมความพร้อมอย่างดีที่สุดในการเป็นกำลังสำคัญดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานทั่วโลก
ข้อเท็จจริงน่ารู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน
IDF Diabetes Atlas ได้นำเสนอข้อมูลและการคาดการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับผลกระทบทั่วโลกที่เกิดจากโรคเบาหวาน ดังนี้
- ในปี 2019 มีผู้ใหญ่จำนวน 463 ล้านคน (1 ใน 11 ของประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วโลก) ป่วยเป็นโรคเบาหวาน คาดการณ์ว่าจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานจะเพิ่มขึ้นเป็น 578 ล้านคนภายในปี 2030
- ผู้ใหญ่ 1 ใน 2 ที่เป็นโรคเบาหวาน (232 ล้านคน) ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยโรค ส่วนใหญ่เป็นโรคเบาหวานประเภท 2
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานมากกว่า 3 ใน 4 อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง
- 1 ใน 6 ของทารกที่มีชีวิต (20 ล้านคน) ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง) จากการตั้งครรภ์ของมารดา
- 2 ใน 3 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานอาศัยอยู่ในเขตเมือง และ 3 ใน 4 เป็นวัยทำงาน
- 1 ใน 5 ของผู้ป่วยเบาหวาน (136 ล้านคน) มีอายุมากกว่า 65 ปี
- ในปี 2019 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคเบาหวาน 4.2 ล้านคน
- โรคเบาหวานทำให้สูญเสียค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอย่างน้อย 760 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2019 เป็นสัดส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพทั่วโลก
ข้อมูลจาก International Diabetes Federation