
ช่วงนี้ หลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานครต้องประสบกับปัญหาน้ำท่วม หลังจากมีฝนตกหนักจนทำให้ถนนหลายเส้นแปรสภาพกลายเป็น “คลอง” ชั่วคราว และทุกครั้งที่มีฝนถล่ม ก็มักมีคำถามเดิมๆ ตามมาว่า เหตุใดน้ำจึงท่วม และใครกันแน่ที่สมควรจะเป็นคนรับผิดชอบในเรื่องนี้ แม้ว่าฝนจะเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้น้ำท่วมกรุงก็ตาม
1.ระบบการระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร?
เมื่อเกิดน้ำท่วม สิ่งที่คนส่วนใหญ่ตั้งคำถามคือ เหตุใดจึงระบายน้ำได้ช้าจนสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน แม้ว่ามีอุโมงค์ยักษ์ถึง 7 แห่ง เพื่อช่วยระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาให้เร็วขึ้นก็ตาม ซึ่งปัจจุบันกทม.สามารถรองรับน้ำฝนได้ที่ 93 มิลลิเมตรต่อวัน และระบายน้ำได้เร็วที่สุดภายใน 1-2 ชั่วโมง เฉพาะกรณีที่ฝนตก 60-80 มิลลิเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น หากวันใดมีฝนตกหนักต่อเนื่อง จึงหนีไม่พ้นปัญหาระบายน้ำได้ไม่ทัน
เวลานี้ คนกรุงจึงต้องฝากความหวังไว้ที่การก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ที่เหลืออีก 5 แห่ง เพราะหากแล้วเสร็จครบทั้งหมด จะเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับน้ำฝนได้มากขึ้นที่ 120 มิลลิเมตรต่อวัน และระบายน้ำได้เร็วขึ้นที่ 410 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากปัจจุบันอยู่ที่ 60 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
2.ขยะที่มาจากการทิ้งของประชาชนที่ไร้จิตสำนึก?
จุดที่น้ำท่วมขัง ล้วนเกิดจากน้ำระบายลงท่อไม่ทันจนเอ่อล้นผิวการจราจร ซึ่งปัญหาสำคัญคือมีขยะขวางทางเดินน้ำ จึงเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ ซึ่งในแต่ละวัน สำนักการระบายน้ำเก็บขยะที่ลอยมากับน้ำได้มากถึงวันละ 20 ตัน เลยทีเดียว
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีขยะขวางการระบายน้ำในอุโมงค์ยักษ์ด้วย และบางชิ้นก็เป็นขนาดใหญ่ อาทิโซฟา หรือ เบาะที่นอน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเกิดจาก “ความมักง่าย” ของประชาชนที่ไร้จิตสำนึก ไม่ต่างอะไรกับการที่ร้านอาหารเทน้ำ , เศษอาหาร ลงท่อระบายน้ำและคูคลองจนทำให้น้ำเน่าเสีย และส่งผลให้ไขมันเกาะตัวกันจนเป็นก้อนขัดขวางการระบายน้ำ
3.ผู้ว่ากทม (คนเก่าๆ) ไม่สามารถแก้ปัญหาได้?
ไม่ว่าจะเปลี่ยนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไปแล้วกี่ยุคกี่สมัย น้ำท่วมก็ยังคงเป็นปัญหาสุดคลาสสิกที่ผู้ว่าฯ กทม. ไม่สามารถแก้ได้ ไม่ต่างอะไรจากปัญหารถติด เมื่อมีฝนตกหนัก สิ่งที่คนกรุงเห็นกันจนชินตาจึงเป็นภาพที่ผู้ว่าฯ กทม. เดินลงพื้นที่ลุยน้ำท่วม เพื่อรับทราบปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ขณะที่ผู้ว่าฯ คนเก่า อย่าง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ก็เคยทำให้คนกรุงถึงกับอึ้ง เมื่อครั้งให้สัมภาษณ์เรื่องน้ำท่วมกับสื่อมวลชนว่า “เราเป็นเมืองน้ำ เราเป็นเมืองฝน ไม่มีจุดเสี่ยงเป็นไปไม่ได้ ถ้าอยากไม่มีจุดเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม ต้องไปอยู่บนดอย” ก่อนจะมีการบัญญัติศัพท์น้ำท่วมใหม่ว่า “น้ำรอการระบาย” จนกลายเป็นคำฮิตติดปาก
4.กรุงเทพอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล?
ปัจจุบัน พื้นที่ในกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากการทรุดตัวของดินที่มีรายงานระบุว่า มีอัตราการทรุดตัวมากกว่า 10 เซนติเมตรต่อปี โดยจุดศูนย์กลางของการทรุดตัวอยู่ที่ใจกลางเมืองบริเวณกรุงเทพฯ ชั้นใน ทำให้เป็นพื้นที่แอ่งกระทะ
นอกจากนี้ ก็ยังมีปัญหา “ภาวะโลกร้อน” ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ เป็นตัวเร่งให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นด้วย เพราะน้ำแข็งขั้วโลกเกิดการละลาย จนทำให้นักวิชาการหวั่นกันว่าในอนาคต กทม.อาจจะกลายเป็นเมืองใต้บาดาล เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมเป็นการถาวร