งานประเพณี “ออกหว่า” ของอำเภอแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ในช่วงออกพรรษาที่ผ่านมา ถือเป็นงานใหญ่ประจำปีในช่วงปลายฝนต้นหนาวที่จะมีผู้คนแห่แหนมาร่วมงานจำนวนมาก เพื่อร่วมทำบุญและร่วมงานประเพณีตลอด 3 วันของการจัดงาน
นอกจากการทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำเดือน 11 ตั้งแต่เวลาตีสี่เป็นต้นไปบริเวณหน้าบ้านของตนเองที่ประดับโคมและซุ้มไม้ไผ่สานขัดแตะอย่างสวยงามที่เรียกว่า “ซุ้มราชวัตร” แล้ว
ในช่วงค่ำก็ยังมีขบวนแห่เทียนเหง หรือเทียนพันเล่มเพื่อนำไปถวายวัด ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวไทใหญ่ว่าการได้ถวายเทียนพันเล่มเพื่อบูชาพระรัตนตรัยจะทำให้ชีวิตมีแต่ความรุ่งโรจน์สว่างไสวตลอดไปด้วย
และหนึ่งในไฮไลท์ของงานที่พลาดไม่ได้ คือการลิ้มรสอาหารชาติพันธุ์จากน้อง ๆ เยาวชนชนเผ่าต่าง ๆ ในงาน MIDL Inclusive Cities ณ ลานวัฒนธรรม วัดอุทธยารมณ์ และวัดศรีบุญเรือง ซึ่งนอกจากจะจัดมาเป็นขันโตกแล้ว ก็ยังมีการออกร้าน ๆ ให้นักท่องเที่ยวได้ซึมซับบรรยากาศของงาน เคล้ากับการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้านของชนเผ่าต่าง ๆ ที่ผู้คนพร้อมใจกันใส่ชุดพื้นเมืองมาร่วมงานด้วย
“อาหารที่รวบรวมมาไว้ที่นี่ เป็นเจตนารมณ์ของอำเภอแม่สะเรียงในการเสนอวัฒนธรรมด้านอาหาร ซึ่งเป็นอาหารล้านนาตะวันตก ที่หาไม่ได้ในจังหวัดอื่น ๆ เพราะเป็นวัฒนธรรมของแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ที่ได้รับอิทธิพลด้านวัฒนธรรมอาหารไหลบ่ามาจากสาละวิน ไทใหญ่ และชนเผ่าต่าง ๆ จึงเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละชนเผ่า” นี่คือคำบอกเล่าของอาจารย์ประพันธ์ วิริยะภาพ หัวหน้าหน่วยจัดการศึกษาวิทยาลัยชุมชนแม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน
นอกจากนี้ อ.ประพันธ์ ยังอาสาเปิดเมนูเด็ดที่จัดเป็นขันโตกให้เหล่านักท่องเที่ยวได้ลองลิ้มรสชาติของอาหารจากชนเผ่าต่าง ๆ ด้วย ซึ่ง Tonkit360 รวบรวมมาไว้ที่นี่ด้วยกัน 6 เมนู
ข้าวกั๊นจิ๊น เป็นอาหารของชาวไทใหญ่” คำว่า “กั๊น” หมายถึง “การนวด” ส่วนจิ๊น หมายถึง “ข้าว” ซึ่งกรรมวิธีในการทำนั้น จะต้องนวดข้าวที่หุงสุกแล้วให้เข้ากับเลือดหมูหรือเลือดไก่ จากนั้นนำมาคลุกเคล้ากับเนื้อหมูสับละเอียดและเครื่องปรุงที่เป็นสมุนไพร โดยมีกระเทียมเจียวและพริกคั่วเป็นเครีองเคียง
ข้าวส้ม เป็นอาหารของชาวไทใหญ่เช่นกัน โดยมีความโดดเด่นจากการที่นำข้าวที่หุงสุกแล้วไปคลุกกับมะเขือเทศลูกเล็ก ๆ ที่เรียกกันว่ามะเขือส้ม ซึ่งจะได้รสเปรี้ยวหวานที่เป็นธรรมชาติ ส่วนสีสันที่น่ารับประทานนอกจากสีของมะเขือเทศแล้วก็ยังมีการการใส่ผงขมิ้นเข้าไปเพื่อเพิ่มสีสันด้วย ข้าวส้มนิยมปั้นเป็นลูกโดยมีกระเทียมเจียวและพริกคั่วเป็นเครีองเคียงเช่นกัน
หมากซางพอโก้ เป็นอาหารขึ้นชื่อของชาวไทใหญ่อีกหนึ่งเมนู ซึ่ง “หมากซางพอ” หมายถึง “มะละกอ” และ “โก้” คือการปรุงอาหารด้วยการยำ เมนูนี้จึงแปลเป็นไทยได้ว่า “ยำมะละกอ” นั่นเอง ลักษณะจะคล้ายกับส้มตำของภาคอีสาน ซึ่งเครื่องปรุงจะมีกระเทียม พริก ถั่วลิสง กะปิ และใช้มะขามแทนมะนาว มักรับประทานเป็นอาหารว่าง
น้ำพริกจี้กุ่ง เป็นอาหารของคนพื้นเมือง ที่นำเอาจี้กุ่งหรือจิ้งหรีดมาล้างให้สะอาดแล้วเด็ดปีกกับส่วนหางออก จากนั้นนำมาทอดหรือต้มแล้วสับ หรือนำไปโขลกกับเครื่องปรุง ได้แก่ พริก, หอมแดง, กระเทียม หอม กะปิ ซึ่งลักษณะของน้ำพริกจี้กุ่งค่อนข้างแห้ง รับประทานกับผักลวกหรือผักสดก็ได้ความอร่อยไม่แพ้กัน
ข้าวเบ๊อะ เป็นอาหารของชนเผ่ากะเหรี่ยง ซึ่งถือเป็นเมนูวีไอพีที่ใช้ต้อนรับแขก เพื่อเป็นการให้เกียรติกับผู้มาเยือน เนื่องจากกรรมวิธีการทำต้องใช้เวลาเคี่ยวนานจนกว่าจะได้ที่ โดยส่วนผสมจะมีเนื้อสัตว์ ผักต่าง ๆ ที่นำมาต้มและเคี่ยวกับข้าวจนเป็นเนื้อเดียวกัน ลักษณะคล้ายกับโจ๊ก
สะเบื๊อก เป็นอาหารของชนเผ่าละเวื้อะ หรือละว้า ซึ่งเป็นเมนูระดับวีไอพีเช่นเดียวกัน คำว่า “สะเบื๊อก” หมายถึงการยำ หากนำหมูมายำจะเรียกว่า “โต๊ะสะเบื๊อก” แต่หากเป็นไก่ จะเรียกว่า สะเบื๊อกไก่ ซึ่งรสชาติจะคล้ายเมี่ยง โดยส่วนผสมหลักจะมีตะไคร้ หอมแดง ต้นหอม ผักชี หรือผักชีฝรั่ง สามารถนำผักกาดแก้วมาห่อแล้วกินแบบเมี่ยงคำได้