ความฉลาดทางอารมณ์ กับการแก้ปัญหาความรุนแรง

หากลองสังเกตดูจะพบว่าข่าวสารบ้านเมืองทุกวันนี้ เกินกว่าครึ่งเป็นข่าวเรื่อง “การใช้ความรุนแรง” แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายร่างกาย การทำร้ายจิตใจ หรือแม้แต่ฆ่ากันตายด้วยเหตุผลเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ยังมี ทั้งที่ชีวิตคนไม่ใช่ผักปลาที่จะมาฆ่าแกงกันง่าย ๆ ด้วยสาเหตุเช่นนี้

จะเห็นได้ว่า ปัญหาการใช้ความรุนแรงปัจจัยสำคัญมาจากการที่คนเราไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ เมื่อรู้สึกไม่พอใจ ความโกรธจะเข้าครอบงำ เกิดเป็น “อารมณ์ชั่ววูบ” หรือ “บันดาลโทสะ” ที่ทำให้หลายคนตัดสินใจใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ทั้งที่ความจริงแล้ว เรื่องบางเรื่องสามารถเปิดใจพูดคุยกันดี ๆ ได้

เมื่อเป็นเรื่องของการควบคุมอารมณ์ของตนเอง เรื่องของ “ความฉลาดทางอารมณ์” จึงกลายเป็นประเด็นที่พูดถึง เพราะสิ่งที่มนุษย์ทุกคนควรจะมีไม่ใช่ความฉลาดทางสติปัญญาเพียงอย่างเดียว แต่ความฉลาดทางอารมณ์เองก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องเข้าสังคม และการจะอยู่ร่วมกับผู้คนร้อยพ่อพันแม่ในสังคมอย่างสงบสุขได้ จะต้องไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น

ความหมายของความฉลาดทางอารมณ์

ความฉลาดทางอารมณ์ มาจากคำภาษาอังกฤษ Emotional Quotient ที่เราคุ้นเคยกันบ้างแล้วกับคำว่า EQ ความฉลาดทางอารมณ์เป็นความสามารถของบุคคลในเรื่องของความรู้สึก คือ ตระหนักรู้ในความรู้สึก เข้าใจถึงอารมณ์ของทั้งตนเอง และของผู้อื่น มีความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของตนเอง ยับยั้งชั่งใจได้ และสามารถรอคอยการตอบสนองความต้องการของตนเองได้อย่างเหมาะสม

ดังนั้น คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์ จะเป็นผู้ที่รู้เท่าทันและเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตนเองในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดี รู้ว่าขณะนี้กำลังโกรธ รู้ว่าขณะนี้กำลังมีความสุข รู้เพื่อนำมาควบคุมและจัดการกับตนเองได้ อีกทั้งยังสามารถปรับตัวให้เข้ากับอารมณ์ของผู้อื่น มีความประนีประนอม และแก้ไขข้อขัดแย้งได้อย่างชาญฉลาด ในทางตรงกันข้าม เมื่อคนเราไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังรู้สึกอย่างไร จนขาดสติ ขาดความยับยั้งชั่งใจ ควบคุมตนเองไม่ได้ เมื่อปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือทุกอย่าง ปัญหาจึงจบลงด้วย “การใช้ความรุนแรง”

ปัจจุบัน นักจิตวิทยามองว่า ความสำเร็จในชีวิตของมนุษย์ต้องมีทั้งความฉลาดทางสติปัญญา (IQ) และความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ควบคู่กันไป เพราะถ้าหากแค่เรียนเก่ง ทำงานเก่ง แต่ไม่สามารถจะพาตัวเองไปเข้าสังคมและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ นั่นไม่เรียกว่าความสำเร็จ

องค์ประกอบของความฉลาดทางอารมณ์

เนื่องจากความฉลาดทางอารมณ์ คือ ความสามารถในการจัดการอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง จึงต้องมีองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้

  • การตระหนักรู้ในตนเอง (self-awareness) คือ ความสามารถในการรับรู้ และเข้าใจความรู้สึก นกคิด และอารมณ์ของตนเองได้ตามจริงในสถานการณ์ต่าง ๆ สามารถประเมินตนเองได้ รู้จุดเด่นจุดด้อยของตนเอง มีสติอยู่กับตัวเองในทุกสถาการณ
  • การบริหารจัดการกับอารมณ์ตนเอง (managing emotion) คือ ความสามารถที่จะจัดการกับอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม ควบคุมอารมณ์ตนเองได้ มีคุณธรรมในจิตใจ มีความสามารถในการปรับตัว และจัดการกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์
  • การจูงใจตนเอง (motivationone-self) คือ ความสามารถในการจูงใจตนเอง ที่จะนำอารมณ์ความรู้สึกของตนมากระทำสิ่งต่าง ๆ อย่างสร้างสรรค์ มีประโยชน์ต่อ ตนเองและผู้อื่น มองโลกในแง่ดี
  • การรู้จักสังเกตความรู้สึกของผู้อื่น (empathy) คือ ความสามารถในการรับรู้และเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น มีความเห็นอกเห็นใจ ด้วยจิตใจที่พร้อมจะช่วยเหลือผู้อื่น โดยสามารถแสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม
  • การดำเนินการด้านความสัมพันธ์กับผู้อื่น (handing relationships) มีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น รู้เท่าทันอารมณ์ของผู้อื่น ความสามารถนี้ประกอบไปด้วย เรื่องของการสื่อความหมายที่ดี และการบริหารความขัดแย้ง

แนวทางในการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์

ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นเรื่องของการจัดการ “อารมณ์ความรู้สึกของตนเอง” เพื่อให้แต่ละบุคคลสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ ในสังคมได้ ดังนั้น การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์จึงไม่ได้สอนกันได้เหมือนความฉลาดทางสติปัญญา ซึ่งทำให้เราต้องสอนตนเอง เพียงแต่อาศัยหลักสูตรการศึกษาที่จะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนได้พัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ควบคู่ไปกับความฉลาดสทางสติปัญญา และต้องกระตุ้นกันตั้งแต่เด็ก ซึ่งเป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้และมีพัฒนาการด้านอารมณ์ หากกระตุ้นไม่ถูกหรือช้าเกินไป ก็จะผลต่อบุคลิกภาพของเด็ก

แนวทางในการพัฒนาความฉลาดทางสติปัญญาสามารถทำได้โดย

  • ฝึกให้รู้จักคุณค่าของตนเอง คุณค่าที่ไม่พึ่งคนอื่น ชื่นชมตนเอง รู้สึกดีต่อชีวิต
  • ฝึกให้รู้จักแยกแยะอารมณ์ของตนเอง และรู้ลักษณะการแสดงออกของตนเองในขณะเกิดอารมณ์ต่าง ๆ
  • ฝึกความสามารถในการหยั่งรู้อารมณ์ของผู้อื่น เพราะบ่อยครั้งความรุนแรงเกิดขึ้นจากการบันดาลโทสะ เนื่องจากมีการยั่วยุทางอารมณ์ ถ้าหากเรารู้ว่าอีกฝ่ายเป็นมิตรหรือศัตรู จะได้ถอยให้ห่าง
  • ฝึกเริ่มต้นมนุษยสัมพันธ์กับบุคคลอื่น เพื่อให้เห็นคุณค่าของตนเองและผู้อื่น สามารถใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมได้โดยไม่เดือดร้อนซึ่งกันและกัน
  • ฝึกแรงจูงใจในการกระทำในสิ่งที่สร้างสรรค์ให้เกิดกับตัวเอง

เหตุใดความฉลาดทางอารมณ์จึงสำคัญกับปัญหาความรุนแรงในสังคม

จากผลการสำรวจของศูนย์สำรวจความคิดเห็นทางสังคม (พม. Poll) ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ได้สำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษา จำนวน 4,800 หน่วยตัวอย่าง เรื่อง “ความรุนแรงในสังคมไทย ลดลงได้ด้วย (ใคร?) คุณ” ระหว่างเดือน ต.ค.-พ.ย. 2561 ในหัวข้อ “ใคร? มีหน้าที่ในการลดปัญหาความรุนแรงในสังคม” พบว่าความคิดเห็นอันดับที่ 1 จำนวน 42.79 เปอร์เซ็นต์ มองว่า “ตนเอง” นี่แหละ คือผู้ที่มีหน้าที่ลดปัญหาความรุนแรงในสังคม

โดยปัจจัยสำคัญที่จะแก้ปัญหาความรุนแรงในสังคมด้วยตนเอง ก็คือ การที่คนเราจะต้องควบคุมอารมณ์ความรู้สึกตนเองให้ได้ รู้จักยับยั้งชั่งใจเมื่อมีอารมณ์โกรธ และรู้ว่าถ้ายังให้ตนเองอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ตนเองจะทำอะไรโดยขาดสติหรือไม่ เพราะถ้าเราทุกคนสามารถจัดการเรื่องอารมณ์ของตนเองได้ มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความรุนแรงก็จะไม่เกิดขึ้น

ดังนั้นบุคคลที่มีความฉลาดทางอารมณ์จึงเป็นบุคคลที่สังคมปรารถนา จะส่งผลดีทั้งต่อตนเอง ผู้คนรอบข้าง และสังคมส่วนรวม การเปลี่ยนแปลง/จัดการตัวเอง “ง่ายกว่า” การไปเปลี่ยนแปลง/จัดการคนอื่น ถ้าปรับเปลี่ยนให้ตนเองเป็นคนที่มีความฉลาดทางอารมณ์มากพอที่จะไม่หวั่นไหวไปกับความละเอียดอ่อนของอารมณ์ แก้ปัญหาทุกปัญหาโดยใช้สติ รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา บทสรุของปัญหาก็จะไม่ลงท้ายด้วยความรุนแรงและการสูญเสียเลย