กิน “ช็อกโกแลต” ลดความเสี่ยงต่อภาวะ “หัวใจเต้นผิดจังหวะ” ได้

    ภาพจาก pixabay

    ก่อนหน้านี้ เราคงเคยได้ยินข่าวกันมาบ้างว่า การกินช็อกโกแลต นอกจากช่วยลดความเครียดได้แล้ว ก็ยังลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองได้ด้วย

    ล่าสุด มีผลการศึกษาจากเดนมาร์กที่เผยแพร่ในวารสารโรคหัวใจ พบว่า ประโยชน์จากการกินช็อกโกแลต ยังช่วยป้องกันภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด atrial fibrillation ที่เรียกว่า “หัวใจเต้นสั่นพลิ้ว” ได้ด้วย

    ทีมวิจัยซึ่งนำโดย เอลิซาเบธ มอสตอฟสกี้  อาจารย์ด้านระบาดวิทยาแห่ง Harvard T.H. Chan School of Public Health พบว่า ผู้ที่กินช็อกโกแลตอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง หรือมากกว่านั้น จะมีอัตราหัวใจเต้นสั่นพลิ้วอยู่ในระดับที่ลดลง 10-20 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับคนที่กินช็อกโกแลตน้อยกว่านั้น

    ทั้งนี้ ภาวะหัวใจเต้นสั่นพลิ้ว เป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบได้บ่อยที่สุด ซึ่งเกิดจากมีการกระตุ้นของหัวใจห้องบนแบบกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ ทำให้การบีบตัวของหัวใจห้องบนเสียไป ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วและไม่สม่ำเสมอ และเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวาย รวมถึงโรค หลอดเลือดสมองมากขึ้น

    โดยผลวิจัยพบด้วยว่า  ยิ่งกินบ่อยก็ยิ่งลดความเสี่ยงได้มากขึ้น โดยคนที่กินช็อกโกแลตปริมาณ 1 ออนซ์ (28 กรัม) 1-3 ครั้งต่อเดือน จะลดความเสี่ยงภาวะหัวใจเต้นสั่นพลิ้วได้ 10 เปอร์เซ็นต์, กินช็อกโกแลต 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ลดความเสี่ยงได้ 17 เปอร์เซ็นต์, กิน 2-6 ครั้งต่อสัปดาห์ ลดความเสี่ยงได้ 20 เปอร์เซ็นต์

    ที่มา : www.cbsnews.com