บ่อยครั้งที่เรามักจะมีปัญหากับคนอื่นเนื่องมาจาก “การสื่อสาร” ที่เข้าใจไม่ตรงกัน หรือไม่เข้าใจสารที่ผู้ส่งสารต้องการจะสื่อ ผู้ส่งสารตั้งใจส่งสารอย่างหนึ่ง แต่ผู้รับสารกลับเข้าใจไปคนละเรื่อง ซึ่งการสื่อสารในลักษณะนี้เป็นการสื่อสารที่ “ไม่มีประสิทธิภาพ” และนำมาซึ่งความแตกแยก จนเกิดเรื่องดราม่าต่าง ๆ ขึ้นมาอย่างง่ายดาย
โดยเฉพาะในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่มีความหลากหลายมาก ทั้งเพศ อายุ ระดับการศึกษา ไลฟ์สไตล์ เชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ และเมื่อเป็นการสื่อสารอยู่หลังคีย์บอร์ดโดยที่ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร จึงทำให้ทุกคนกล้าแสดงออกอย่างอิสระ จนลืมคำนึงไปว่าโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางสาธารณะที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
และเมื่อเป็นการสื่อสารด้วยตัวอักษรที่ไม่สามารถ “ได้ยินน้ำเสียง” และไม่ได้เห็นสีหน้าแสดงความรู้สึกของอีกฝ่าย จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันได้ง่ายมาก เพราะเราเดาน้ำเสียงและอารมณ์ของผู้ส่งสารไม่ออก และกว่าที่ผู้ส่งสารกับผู้รับสารจะมีโอกาสได้สื่อสารตรงกัน ก็เข้าใจกันไปคนละทิศคนละทางแล้ว
ที่สำคัญ ถ้อยคำลักษณะ “เรียกทัวร์” คือ จั่วหัวให้แรงไว้ก่อน พูดเหยียด ด่าทอ ใช้ถ้อยคำแรง ๆ หรือการโต้กลับในลักษณะตรรกะวิบัติ กลายเป็นวิธีการสื่อสารที่ใช้เรียกเรตติ้งได้ดี หากต้องการยอดไลก์ ยอดรีทวิต ยอดแชร์ ก็ต้องดึงคนให้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์ให้ได้ รวมกับ “วัฒนธรรมการแคปฯ” ก็ทำให้ทุกอย่างมีหลักฐาน เมื่อแคปฯ ไปบางส่วนก็ยิ่งทำให้คนเข้าใจผิดได้ง่าย ทำให้การสื่อสารกันระหว่างบุคคลในออนไลน์กลายเป็นปัญหาหนักกว่าเดิม
อย่างกรณีดราม่าเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่โลกทวิตเตอร์ร้อนด้วยแฮชแท็ก #หมอก้อง และ #เตี้ยมช ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนถึงการสื่อสารที่ล้มเหลว เนื่องจากผู้รับสารมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนไปจากสารที่ผู้ส่งสารต้องการจะสื่อ รวมถึงการใช้ถ้อยคำต่าง ๆ ก็สื่อไปแนวทางที่ทำให้คนเข้าใจผิดได้
หยอกเล่น พูดเล่น แต่คนฟังไม่ตลกด้วย
กรณี #หมอก้อง ที่สรวิชญ์ สุบุญ นักแสดงและคุณหมอคนดังไปคอมเมนต์ภาพของเบลล่า ราณี เพื่อนนางเอกคนดังว่า “ในรูปมีควายกี่ตัว” ซึ่งแม้ว่าเจ้าตัวมีเจตนาเชิงพูดเล่น หรือเล่นมุกตลกในโลกออนไลน์ แต่ด้วยความที่เป็นพื้นที่สาธารณะซึ่งมีผู้รับสารเป็นจำนวนมาก และผู้รับสารเหล่านี้ล้วนเป็นบุคคลที่ 3 หรือคนนอก ที่ไม่รู้ว่าบริบทที่ 2 ฝ่ายใช้พูดคุยกันเป็นอย่างไร มีความสนิทสนมกันเพียงใด จึงถูกมองว่าไม่รู้จักกาลเทศะ และแสดงให้เห็นถึงความไม่มีมารยาท อีกทั้งยังมีการตัดสินจากข้อความเก่า ๆ ที่ถูกชาวเน็ตขุดขึ้นมาผสมโรงด้วย จึงทำให้หลายคนอาจเข้าใจหรือตีความได้ว่าเจตนาของหมอก้องเป็นการพูดเหยียดคนอื่น หรือประชดประชันกัน
ถ้อยคำเชิงเสียดสี ทำให้เกิดความเข้าใจผิด
ส่วนกรณี #เตี้ยมช หลังจากความจริงปรากฏว่าสุนัขตัวดังแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสียชีวิตจากการถูกรถมอเตอร์ไซค์ของผู้ที่นำตัวออกไปจากมหาวิทยาลัยทับจนเสียชีวิต ภายหลังทางพิพิธภัณฑ์คณะสัตวแพทย์ของม.เชียงใหม่ ได้นำโครงกระดูกของเจ้าเตี้ยไปตั้งไว้เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้แก่ประชาชน แต่กลับมีคนแสดงความคิดเห็นในเชิงเสียดสีว่าเพื่อสอนสังคมไม่ให้เลี้ยงสัตว์แบบปล่อยปละละเลย หากไม่อยากให้สัตว์มีจุดจบเช่นนี้ จากนั้นก็มีผู้รับสารเข้าใจผิดไปกันอีกว่าผู้ส่งสารต้องการจะคัดค้านเรื่องการนำโครงกระดูกมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์
จะเห็นได้ว่า การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ผู้ส่งสารและผู้รับสารจะต้องเข้าใจได้ในเรื่องเดียวกัน การ “ตีความ” จึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะการตีความตามบริบท และเบื้องหลังทางภาษา ซึ่งหากผู้ส่งสารและผู้รับสารมีความรู้ไม่เท่ากัน ก็มีโอกาสที่จะเข้าใจกันผิดได้สูงมาก
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่จะทำให้สื่อสารกันได้เข้าใจตรงกัน ต้องเริ่มที่การเปิดใจอ่านโดยปราศจากอคติเสียก่อน และพยายามทำความเข้าใจในสิ่งที่ผู้ส่งสารต้องการจะสื่อว่าต้องการให้เป็นไปในทิศทางใด จากนั้นค่อยวิเคราะห์ตามบริบท รวมถึงผู้ส่งสารเองก็ต้องตระหนักว่าช่องทางที่ตนเองใช้สื่อสารเป็นพื้นที่สาธารณะ มีผู้รับสารจำนวนมาก และมีความหลากหลายมาก ย่อมมีคนที่ไม่เห็นด้วย และอยากมีอิสระในการแสดงความคิดเห็นเช่นกัน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสื่อสารให้ชัดเจนที่สุด ไม่ใช้ข้อความที่กำกวม หรือเปิดช่องให้เกิดการตีความที่สร้างความเข้าใจผิด ๆ ขึ้นได้