อย่าละเลย “หนี้กยศ.” กู้มา ต้องจ่ายคืน!

ภาพจาก freepik.com

เกือบทุกคนที่อยูในระบบการศึกษาไทยน่าจะรู้จัก “กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา” (กยศ.) ไม่มากก็น้อย หรือแม้แต่ตอนนี้ บางคนก็ยังมีสถานะเป็น “ลูกหนี้” ของกยศ. อยู่

กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เป็นกองทุนของรัฐที่ให้นักเรียน นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ได้กู้ยืมเงินเพื่อไปใช้จ่ายค่าศึกษาเล่าเรียน ตลอดจนค่าครองชีพจนเรียนจบปริญญาตรี ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็น “เงินกู้” ไม่ใช่ “ทุนการศึกษา” ผู้กู้จึงต้องใช้หนี้คืนหลังจบการศึกษา โดยมีช่วงปลอดดอกเบี้ย 2 ปี นั่นคือ หากชำระหนี้ทั้งหมดได้ภายใน 2 ปีหลังเรียนจบ ผู้กู้จะไม่ต้องเสียดอกเบี้ยให้กับทางกยศ. เลยแม้แต่บาทเดียว แต่ถ้าทำเช่นนั้นไม่ได้ กยศ. ก็มีระยะเวลาให้ผ่อนชำระหนี้นานถึง 15 ปี โดยจะกำหนดเงินขั้นต่ำที่ต้องจ่ายในแต่ละปี และเสียดอกเบี้ยเงินกู้เพียงร้อยละ 1 ต่อปีเท่านั้น

แต่ที่ผ่านมา กยศ. โดนลูกหนี้มากถึงร้อยละ 80 ของจำนวนลูกหนี้ทั้งหมด หักหลังไม่ยอมจ่ายหนี้คืน ซึ่งนั่นไม่ใช่เงินจำนวนน้อย ๆ เลย ส่งผลให้กยศ. ขาดสภาพคล่อง จากการที่รุ่นพี่ไม่ยอมจ่ายคืนโดยอ้างเหตุผลสารพัด จึงทำให้ไม่มีเงินให้รุ่นน้องกู้เรียน

ใครก็ตามที่กำลังนิ่งดูดายกับการหนีหนี้ จึงเท่ากับเป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัว เพราะรุ่นต่อ ๆ ไปก็จำเป็นต้องใช้เงินเพื่อไปเป็นทุนสำหรับการศึกษาต่อ ดังนั้น การไม่จ่ายหนี้คืน นอกจากจะทำให้รุ่นน้องทำเรื่องกู้ยาก เงื่อนไขในการกู้โหดขึ้น จำนวนเงินที่ได้รับแต่ละเดือนอาจไม่เพียงพอ จนถึงขั้นที่กยศ. ไม่มีเงินให้กู้อีกต่อไป รวมไปถึงรูปแบบการทวงหนี้ในอนาคตก็จะเป็นมาตรการขั้นเด็ดขาดในการจัดการกับลูกหนี้ด้วย โดยไม่อ่อนข้อให้เหมือนที่ผ่านมา

เมื่อรุ่นพี่เคยทำได้ จึงน่าหวั่นใจไม่น้อยว่าจะเกิดการส่งต่อกันแบบรุ่นต่อรุ่น และปลูกฝังต่อ ๆ กันว่าไม่จำเป็นต้องจ่ายคืน เพราะในเมื่อรุ่นพี่ยังชักดาบได้ ทำไมเราจะทำบ้างไม่ได้ ซึ่งหากคิดแบบนี้กันทุกคนก็จะเกิดผลเสียตามมาอย่างใหญ่หลวง

ในขณะที่ลูกหนี้ซึ่งมีความรับผิดชอบ ก็จะพยายามใช้หนี้คืนจนครบ แม้รายได้ไม่มากและมีภาระ บางคนไม่สามารถปลดหนี้ในช่วงปลอดดอกเบี้ย 2 ปีแรกได้ ก็ต้องทำใจจ่ายดอกด้วย หรือบางคนไม่ชอบเป็นหนี้นาน ๆ ก็รีบทำงานเก็บเงินใช้หนี้ให้หมดในช่วงที่ร่างกายยังแข็งแรงดี ด้วยการผ่อนคืนด้วยจำนวนเงินที่มากกว่าขั้นต่ำที่กยศ. กำหนด

วิธีการเก็บเงินเพื่อจ่ายหนี้คืนกยศ. ก็ทำไม่ยากถ้าคิดที่จะทำ เมื่อเงินเดือนออกก็ให้แบ่งเก็บเลย อาจเริ่มจากลองคำนวณเงินต้นว่าอยากให้หนี้หมดภายในกี่ปี แล้วใน 1 ปี เราสามารถชำระเงินคืนได้เท่าไหร่โดยไม่เดือดร้อน จากนั้นค่อยหารออกมาเป็นเงินที่ต้องเก็บในแต่ละเดือน ถ้ามีจิตสำนึกและวินัยมากพอ ก็จะสามารถปลดหนี้ได้หมดตามระยะเวลา

ในช่วงนี้ สถานการณ์ COVID-19 ทำให้หลายคนตกงาน กยศ. ก็เข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าทำให้หลายคนขาดรายได้ จึงมีมาตรการ “ลด พัก ผ่อนผัน งด/ชะลอ” เพื่อช่วยเหลือผู้กู้ยืมจากสถานการณ์ดังกล่าว (อ่านรายละเอียดได้ที่ มาตรการช่วยเหลือผู้กู้ยืม จากสถานการณ์ COVID-19)

ลด

  • ปรับลดเบี้ยปรับจาก 7.5% เหลือ 0.5 % ในกรณีที่ผู้กู้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด โดยต้องเป็นลูกหนี้ที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี
  • ลดจำนวนหักเงินเดือนเหลือ 10 บาท/คน/เดือน จากจำนวนที่เคยแจ้งหัก ให้กับผู้กู้ทุกรายที่ทำงานในหน่วยงานเอกชน
  • ปรับลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ยืมทุกกลุ่มที่ค้างชำระหนี้และปิดบัญชีในครั้งเดียว ทั้งผู้กู้ที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีและผู้กู้ที่ถูกดำเนินคดีแล้ว
  • ปรับลดเบี้ยปรับ 75% ให้เฉพาะผู้กู้ยืมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี

พัก

กยศ. ให้ผู้กู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถพักชำระหนี้ได้ 2 ปี ทั้งนี้ต้องเป็นผู้กู้ที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี

ผ่อนผัน

กยศ. ให้ผู้กู้ยืมที่ไม่ผิดนัดชำระหนี้ผ่อนผันการชำระหนี้ได้ ทั้งกลุ่มผู้ไม่มีรายได้หรือรายได้ไม่เกิน 8,008 บาทต่อเดือน และกลุ่มผู้มีรายได้ถดถอย

งด/ชะลอ

งดการขายทอดตลาดสำหรับทรัพย์ที่ทางกยศ. ยึดได้จากผู้กู้ยืม/ผู้ค้ำประกันตลอดปี 2563 รวมถึงชะลอการบังคับคดี

จะเห็นได้ว่า กยศ. ยินดีช่วยเหลือผู้กู้เต็มที่เพราะรู้ดีว่าผู้ที่ต้องกู้เงินเรียนมีสถานภาพการเงินอย่างไร แต่ผู้กู้ก็ต้องระลึกไว้เสมอว่า “เมื่อเป็นหนี้ก็ต้องใช้คืน เพราะนี่คือความรับผิดชอบของเรา”