ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี เราก็ยังคงเห็นข่าวเกี่ยวกับการเล่นแชร์ และแชร์ลูกโซ่ ที่มักจะจบลงที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล และไม่เคยมีใครได้กำไรจากการเล่นแชร์เหล่านี้เลยซะด้วยซ้ำ
เราจึงขอพาไปย้อนอดีตเกี่ยวกับข่าว แชร์ หรือ แชร์ลูกโซ่ ที่มีผู้เสียหายมากมายและเป็นข่าวดังระดับประเทศ สร้างความเสียหายแก่คนที่หลงเชื่อได้ขนาดไหน
แชร์แม่ชม้อย
เมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว หรือตอนพ.ศ. 2525 มีคดีแชร์แม่ชม้อยที่โด่งดังมาก ๆ เพราะถือว่าเป็นแชร์ที่มีผู้เสียหายมากที่สุด และมีมูลค่าความเสียหายมากที่สุดเลยก็ว่าได้ นางชม้อย ทิพย์โส หรือ แม่ชม้อย ใช้วิธีปลอมบริษัทเกี่ยวกับกิจการซื้อขายน้ำมันภายในประเทศและระหว่างประเทศขึ้นมา และชวนเชื่อให้คนมาลงทุนด้วยการตั้งดอกเบี้ยสูง โดยผู้ที่ลงทุนจะต้องนำเงิน 160,000 บาทไปลงทุนซื้อน้ำมัน 1 คันรถบรรทุก แล้วจะได้ดอกเบี้ยเดือนละ 6.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อคิดแล้วจะสามารถคืนทุนภายในเวลาหนึ่งปีครึ่ง และสามารถถอนเงินเมื่อไรก็ได้ แถมยังทำให้คนชนชั้นกลางสามารถเข้าถึงได้มากขึ้นด้วยการแบ่งการลงทุนเป็นแบบ ล้อ นั่นคือลงทุนเพียง 40,000 บาทก็ได้ และจะได้ค่าตอบแทน 2,600 บาทต่อเดือน
ยิ่งมีกระแสปากต่อปากไปเรื่อย ๆ ทำให้ผู้ลงทุนกับแชร์แม่ชม้อยมีถึงกว่า 16,000 ราย และมีมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท เมื่อระยะเวลาผ่านไป 2 ปี ความใหญ่ของแชร์ทำให้แม่ชม้อยถูกเรียกตัวไปเพื่อสอบสวนเกี่ยวกับช่องทางการหาเงินมาหมุนเพื่อจ่ายดอกเบี้ยที่สูงขนาดนั้นให้ลูกแชร์ จนสุดท้ายแล้วแม่ชม้อยจึงโดนลูกแชร์ของตัวเองนำหลักฐานมาแฉว่าไม่จ่ายดอกเบี้ยให้ลูกแชร์เกือบ 3,000 ราย
เมื่อสืบสวนสืบเรื่องราวกันไปมา ทำให้ในปีพ.ศ. 2532 แม่ชม้อยและพวกกว่า 10 คน ก็ได้ถูกดำเนินคดีข้อหาฉ้อโกงประชาชน โทษจริงกว่า 150,000 ปี แต่ติดคุกจริง ๆ เพียง 7 ปีกว่าเท่านั้น ถูกปล่อยตัวมาตั้งแต่พ.ศ. 2536 และจนทุกวันนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าแม่ชม้อยไปกบดานอยู่ที่ไหน
ซินแสโชกุน
ผ่านไปไม่เท่าไรเองกับคดี ซินแสโชกุน หรือ นางสาวพสิษฐ์ อริญชย์ลาภิศ เมื่อพ.ศ. 2560 ที่มีลูกแชร์ติดค้างอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิเป็นพันคนเนื่องจากถูกหลอกขายทัวร์ไปเที่ยวญี่ปุ่นในราคาถูก ทั้งกลุ่มคนที่เป็นหนึ่งในสมาชิกขายตรงของบริษัท Wealth Ever บริษัทของซินแสโชกุนอยู่แล้ว และกลุ่มคนที่ถูกหลอกว่าหากเสียเงินซื้อสินค้าในจำนวนเกือบ 10,000 บาท จะได้บัตรกำนัลพิเศษโดยการได้ไปเที่ยวญี่ปุ่น ทำให้มีคนหลงเชื่อมากมาย และบางคนที่โดนชักชวนมาแบบไม่รู้รายละเอียดอะไรเลย
โดยทางซินแสโชกุนก็ได้บอกกับสมาชิกหลังจากนั้นผ่านคลิปวิดีโอว่าขอยกเลิกทัวร์นั้นและจะคืนเงินให้กับทุกคน แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครได้เงินคืน
ในที่สุดก็มีคำพิพากษาให้ซินแสโชกุนต้องจำคุกเป็นเวลา 20 ปี และทางบริษัทต้องชดใช้ค่าเสียหายกว่า 400 ล้านบาท
.
คดีที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาในรูปแบบเดิม ๆ แต่เปลี่ยนลักษณะธุรกิจแบบนี้เป็นเรื่องที่น่าจะสามารถสร้างบทเรียนให้คนได้ไม่มากก็น้อย แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีคนหลงเชื่อกับการเล่นแชร์ลักษณะนี้อยู่ดี แล้วก็มีผู้เสียหายมากมายที่ยังรอการชดใช้
อย่างล่าสุดก็คือคดีแชร์แม่มณี ที่มาในลักษณะเงินออม หรือเรียกว่า เงินออมแม่มณี โดยโฆษณาว่าหากออมเงินจะได้ดอกเบี้ย 93 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน หรือเกือบเท่าตัว! นั่นทำให้คนหลงเชื่อเยอะมาก และด้วยความที่แม่มณีเป็นเน็ตไอดอล เคยเป็นพริตตี้ และเคยขายออนไลน์มาก่อน ประกอบกับตอนนี้เริ่มมาในสายเบื้องหลังอย่างการเป็นผู้จัดซีรีส์และมีการเปิดตัวนักแสดงและเปิดกล้องจริงยิ่งทำให้มีคนหลงเชื่อมาก
แล้วก็เข้าล็อคเดิมด้วยการเริ่มมีคนไม่ได้เงินตามที่โฆษณาไว้ และติดต่อแม่มณีไม่ได้ จึงรวบรวมหลักฐานและเข้าแจ้งความกับตำรวจ โดยล่าสุดก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าแม่มณีหลบหนีไปอยู่ที่ไหน ยังอยู่ที่ไทยหรือหนีออกนอกประเทศไปแล้ว
ทำให้เราเกิดคำถามกับสังคมว่า แล้วทำไมคนยังเชื่อและเลือกจะลงทุนกับการเล่นแชร์อยู่ ทั้ง ๆ ที่เห็นจุดจบมาไม่กี่ครั้งแล้ว
ประเด็นแรก น่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าปกติที่ดึงดูดคนเข้ามาร่วม
ไม่ว่าจะแชร์วงไหนก็จะมีจุดเด่นตรงที่ลงทุนน้อย แต่ได้ดอกเบี้ยสูง เป็นโฆษณาชวนเชื่อที่ผ่านไปกี่สิบปีก็ยังได้ผล เพราะหากฝากในระบบอย่างการฝากประจำหรือฝากในธนาคารก็ได้ดอกเบี้ยต่ำ ใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล หรือหากนำเงินไปเล่นหุ้นก็อาจจะซับซ้อนเกินไปสำหรับหลาย ๆ คน และอาจมีความเสี่ยงหากเลือกลงทุนไม่เป็น
การโฆษณาชวนเชื่อแบบเข้าใจง่าย เข้าถึงคนได้มากกว่า
ส่วนใหญ่ตามวงแชร์ที่ออกข่าวมักจะเป็นการลงทุนที่เข้าใจง่าย บอกดอกเบี้ยชัดเจน และไม่มีอะไรซับซ้อน ไม่มีเรื่องความเสี่ยงต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้คนที่อาจจะไม่มีความรู้ทางด้านการเงินหรือเรื่องการลงทุนหลงเชื่อว่าจะได้ผลตอบแทนแบบนั้นจริง ๆ และไม่ได้คิดถึงความเสี่ยงตามมาว่าต้องระวังอะไรบ้าง
การจ่ายเงินให้จริงในช่วงแรก ยิ่งทำให้คนอยากเข้ามาเล่น
การลงทุนด้วยจำนวนเงินที่ไม่มากแต่ได้ดอกเบี้ยสูง แถมในช่วงแรก ๆ ก็ได้เงินจริงตามที่โฆษณาไว้ยิ่งทำให้คนเข้ามาเล่นเยอะมากขึ้น คนที่เล่นอยู่แล้วก็ยังคงเชื่อใจต่อไปเพราะเราได้เงินจริง ๆ
การชักชวนแบบปากต่อปาก
อย่างว่า การเล่นแชร์ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นการชวนแบบปากต่อปากของคนที่รู้จักกัน เนื่องจากเมื่อมีคนนำเงินไปลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนจริง ๆ ก็เกิดการชักชวนคนรอบข้างให้มาเล่นตามด้วย
ที่เป็นข่าวใหญ่นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังคม และเรายังเชื่อว่ามีคนอีกมากมายที่ยังคงเล่นแชร์ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนกับวงแชร์วงเล็ก ๆ ที่เล่นกันเองในกลุ่มเพื่อน กลุ่มคนรู้จักใกล้บ้าน หรือวงใหญ่ถึงขั้นลงทุนในธุรกิจใหญ่ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามก็อยากให้ทุกคนระมัดระวัง ศึกษาความเสี่ยง และข่าวต่าง ๆ ที่เคยผ่านมาไว้เป็นบทเรียน เพื่อที่เราจะได้ไม่ตกไปอยู่ในรายชื่อของผู้เสียหายในภายหลัง