‘วีนัส’ ตัวแทนความงามแบบอุดมคติของแต่ละยุคสมัย

เวลานั่งเปิดดูงานศิลปะไปมาก ๆ สิ่งที่เราเห็นอย่างหนึ่งเลยคือ การทำซ้ำ เพราะอย่างศิลปะยุโรปเองแต่ไหนแต่ไรมาก็มีพื้นเพและรากฐานเดียวกัน อย่างการทำศิลปะเพื่ออุทิศให้ศาสนา หรือทำศิลปะตามนิยายปรัมปรา ตำนานเทพกรีกโรมัน

วีนัส เป็นอีกเทพหนึ่งที่เรามักจะเห็นในผลงานศิลปะ และอยากจะมาเล่าถึงความต่างของวีนัสในแต่ละยุค

วีนัส (หรืออะโฟรไดท์) เป็นเทพีแห่งความรัก ความงาม ความอุดมสมบูรณ์ และถือว่าเป็นเทพองค์หนึ่งที่คนทั่วไปจะคุ้นเคยเป็นพิเศษ อาจเพราะมีตำนานหลายอย่างที่เกี่ยวโยงกับชีวิตของคนทั่วไป แถมยังมีลูกเป็นคิวปิด กามเทพสื่อรักที่ไม่ว่าใคร ๆ ก็ต้องรู้จัก ในตำนานของวีนัสแล้วไม่ใช่เป็นเทพีที่สวยอย่างเดียว แต่สวยแล้วต้องการจะสวยที่สุดไม่ต้องการให้ใครงดงามกว่าตัวเอง จึงได้เกิดเป็นเรื่องเล่าเหตุการณ์ความเกรี้ยวกราดของวีนัสที่ไปลงกับผู้หญิงสวยหลาย ๆ คน หรือเรื่องอื้อฉาวที่วีนัสคบชู้อย่างเปิดเผยก็มีอยู่ในตำนาน

อ่านเรื่องเกี่ยวกับวีนัสได้ที่ รู้หรือไม่ “คิวปิด” กามเทพสื่อรัก ยังเคยตกหลุมรักเพราะศรของตัวเองมาแล้ว! / พิกมิเลียน (Pygmalion) : ชายผู้หลงรักรูปปั้น และการ”คิดอะไรก็จะเป็นจริง”

เราก็จะเห็นรูปปั้นรูปวาดที่ชื่อว่า วีนัส ตามด้วยชื่อสถานที่เต็มไปหมด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวีนัสถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความงามความอุดมสมบูรณ์อยู่เป็นเวลานานทีเดียว

Venus of Willendorf (วีนัสแห่งวิลเลนดอร์ฟ)

รูปปั้นวีนัสที่คาดว่ามีมาตั้งแต่ 28,000-25,000 ปีก่อนคริสตศักราช มีความสูงประมาณ 11 เซนติเมตร เป็นรูปปั้นผู้หญิงที่มีรูปร่างอุดมสมบูรณ์ทำให้เชื่อกันว่ามีไว้สำหรับเป็นเครื่องราง การตั้งชื่อว่า วีนัส ถือเป็นการเปรียบเทียบเท่านั้นเพราะตำนานเทพปรณัมกรีกโรมันเกิดขึ้นทีหลัง แต่นักวิชาการบางคนก็เรียกว่า ผู้หญิงแห่งวิลเลนดอร์ฟ เพราะไม่ยอมรับในชื่อวีนัส  ขณะนี้ตั้งอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในเมืองเวียนนาประเทศออสเตรีย

Venus of Brassempouy

วีนัสที่ไม่ได้โด่งดังเท่าวีนัสอื่น อาจจะเพราะความไม่สมบูรณ์ของรูปปั้น ถูกค้นพบที่ถ้ำ Brassempouy ในประเทศฝรั่งเศส และคาดว่าน่าจะมีอายุกว่า 25,000 ปีมาแล้ว เป็นรูปปั้นที่แกะสลักจากงาช้างแมมมอธที่มีขนาดเล็กแค่ประมาณ 3-4 เซนติเมตรเท่านั้น และถึงแม้จะเรียกว่า วีนัส ที่เป็นตัวแทนของผู้หญิงอย่างชัดเจน แต่นักโบราณคดีบางคนก็ให้ข้อมูลว่าไม่สามารถระบุเพศได้ คืออาจจะเป็นรูปแกะสลักของผู้ชายก็ได้

ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์โบราณคดีใกล้ ๆ ปารีส

Venus de Milo (วีนัส เดอ มิโล)

เป็นวีนัสอีกเวอร์ชั่นหนึ่งที่โด่งดังมาก เพราะเป็นรูปปั้นผู้หญิงที่สัดส่วนงดงามที่สุดรูปหนึ่งแต่ไม่มีแขนทั้งสองข้าง คาดว่าเป็นรูปปั้นสมัยกรีกตั้งแต่เมื่อ 130-100 ปีก่อนคริสตศักราช แกะสลักจากหินอ่อนทั้งหมด ส่วนสูงประมาณ 2 เมตร แต่ก็ไม่ปรากฏเหตุผลแน่ชัดว่าทำไมถึงไม่มีแขนทั้งสองข้าง โดยถูกค้นพบที่เกาะมิโลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศกรีซ  วีนัสเดอมิโลติดตั้งอย่างถาวรที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ฝรั่งเศส

ซึ่งในยุคกรีกเป็นอีกยุคหนึ่งที่ขึ้นชื่อเรื่องสัดส่วนของผลงานประติมากรรมมาก ๆ หรือเรียกว่าเป็นยุคศิลปะคลาสสิค และจะมีเนื้อหาเพื่ออุทิตให้เทพเจ้าองค์ต่าง ๆ หากต้องการจะหาประติมากรรมที่สมบูรณ์แบบทั้งสัดส่วน เนื้อหา ความสมบูรณ์ ศิลปะคลาสสิคจากยุคกรีกเป็นอีกยุคที่น่าสนใจ

Birth of Venus (กำเนิดวีนัส)

ภาพเขียนของ Sandro Botticelli เป็นวีนัสอีกเวอร์ชั่นที่ดังมาก เพราะอยู่ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยายุคที่เป็นเหมือนยุคทองของศิลปะ โดยวาดเป็นเรื่องราวการกำเนิดวีนัสที่ว่ากันว่าเกิดจากฟองคลื่น (อะโฟรไดท์แปลว่าฟอง) แต่ด้วยสัดส่วนที่ผิดปกติ คือคอยาว แขนยาว ไม่ตรงตาม Realism ทำให้บางคนสันนิษฐานว่าเป็นงานศิลปะสมัยก่อนที่จะพัฒนาไปเป็นแมนเนอริสม์ (ลัทธิต่อจากยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ที่มีสัดส่วนร่างกายแปลกไป)

แต่เดี๋ยวนี้คงไม่มีใครเอาชื่อของวีนัสมาเป็นตัวแทนแห่งความรัก ความงามอะไรเท่าไรแล้ว เพราะด้วยสไตล์การสร้างงานศิลปะที่เปลี่ยนไป โลกเปลี่ยนไป เนื้อหาไม่ได้วนอยู่ที่เดิม และไม่จำเป็นต้องทำงานศิลปะเพื่อศาสนาหรือทำตามตำนานเก่าอีกต่อไป 

อ้างอิงข้อมูลจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Venus_de_Milo
https://en.wikipedia.org/wiki/Venus_of_Brassempouy
https://www.tumnandd.com/%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E%E0%B8%B5%E0%B8%AD%E0%B9%82%E0%B8%9F%E0%B8%A3%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B9%8C-aphrodite-%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD-venus/