เรื่องที่ทุกคนควรรู้เกี่ยวกับ “สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง”

จากดราม่าหอยมือเสือ ที่ถูกรายการดังของประเทศเกาหลีใต้ ลักลอบจับนำไปทำอาหาร จนกลายเป็นประเด็นร้อนในโลกโซเชียล ซึ่งขณะนี้กำลังเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย อีกทั้งปัจจุบันการละเมิดกฎหมาย ด้านการคุ้มครองสัตว์ป่าก็ยังมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยสังเกตุได้จากการนำเสนอข่าว

Tonkit360 จึงขออาสารวบรวมข้อมูลและบทลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับ สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองมาฝาก เนื่องจากเรื่องเหล่านี้ได้กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนควรจะรู้และทำการศึกษาไว้บ้าง

สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองมีอะไรบ้าง

พะยูนหรือหมูน้ำ หนึ่งในสัตว์ป่าสงวน

สัตว์ป่าสงวน หมายถึง สัตว์ป่าที่หายากตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัตินี้ ปัจจุบันมี 19 ชนิด ได้แก่ 1. นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร 2.แรด 3.กระซู่ 4.กูปรีหรือโคไพร 5.ควายป่าหรือมหิงสา 6.ละองหรือละมั่ง 7.สมันหรือเนื้อสมัน 8.เลียงผา 9.กวางผา 10.นกแต้วแร้วท้องดำ 11.นกกระเรียน 12.แมวลายหินอ่อน 13.สมเสร็จ 14.เก้งหม้อ 15.พะยูนหรือหมูน้ำ 16.วาฬบูรด้า 17.วาฬโอมูระ 18.เต่ามะเฟือง 19.ปลาฉลามวาฬ

หอยมือเสือ หนึ่งในสัตว์ป่าคุ้มครอง ประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ

สัตว์ป่าคุ้มครอง หมายถึง สัตว์ป่าที่กฎหมายกระทรวงกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อเป็นการป้องกันมิให้สัตว์ป่าบางชนิดต้องสูญพันธุ์ ซึ่งแบ่งได้ 7 ประเภทคือ 1.สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 201 ชนิด 2.นก 952 ชนิด 3.สัตว์เลื้อยคลาน 91 ชนิด 4.สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 12 ชนิด 5.ปลา 14 ชนิด 6.แมลง 13 ชนิด 7.สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ 12 ชนิด หอยมือเสือที่กำลังตกเป็นประเด็นข่าวถูกจัดอยู่ในประเภทนี้

(บัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง)

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2546 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ออก กฎกระทรวงกำหนดชนิดของสัตว์ป่าคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ พ.ศ.2546 โดยให้เหตุผลว่าควรส่งเสริมให้มีการเพาะพันธุ์เพิ่มเติม เพื่อป้องกันมิให้สูญพันธุ์ และเพื่ออนุญาตให้บุคคลมีไว้ในครอบครอง ค้า และเพาะพันธุ์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

(บัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่เพาะพันธุ์ได้)

บทลงโทษสำหรับผู้กระทำความผิด

  1. โทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดดังต่อไปนี้
  • ล่า หรือพยายามล่าสัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยที่ไม่เป็นข้อยกเว้น
  • มีสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครอง ยกเว้น เป็นสัตว์ป่าชนิดที่ได้รับอนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้ตามกฎหมาย
  • ค้าสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง ซากของสัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าดังกล่าว ยกเว้น เป็นสัตว์ป่าชนิดที่ได้รับอนุญาตให้เพาะพันธุ์ได้ ตามกฎหมายนำเข้าหรือส่งออกสัตว์ป่า หรือซากของสัตว์ป่า หรือนำผ่านสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าว โดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี

2. โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดดังต่อไปนี้

  • เพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวนหรือสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
  • นำเข้าหรือส่งออกสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าดังกล่าว โดยมิใช่กรณีการนำเข้าหรือส่งออกสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ และได้รับอนุญาตจากอธิบดี
  • จัดตั้งและดำเนินกิจการสวนสัตว์สาธารณะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี

3. โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท สำหรับความผิดดังต่อไปนี้ มีไว้ในครอบครอง สัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ หรือซากของสัตว์ป่าที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ โดยไม่ได้รับอนุญาต

4. โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดดังต่อไปนี้ ทำการค้าสัตว์ป่าคุ้มครองที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ ซากของสัตว์ป่าที่ได้มาจากการเพาะพันธุ์ หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากสัตว์ดังกล่าวโดยมิได้รับอนุญาต

5. โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดดังต่อไปนี้

  • เก็บ ทำอันตราย มีรังของสัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครอง
  • ยิงสัตว์นอกเวลาอาทิตย์ตกและพระอาทิตย์ขึ้น
  • ล่าสัตว์ป่าสัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือสัตว์ป่าอื่นๆ หรือเก็บ หรือทำอันตรายแก่รังของสัตว์ป่า ในบริเวณวัดหรือในบริเวณสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

6. โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท สำหรับความผิดดังต่อไปนี้

  • นำสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากของสัตว์ป่าคุ้มครองเคลื่อนที่เพื่อการค้า โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี
  • นำสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากสัตว์ป่าดังกล่าวเคลื่อนที่ผ่านด่านตรวจสัตว์ป่า โดยไม่แจ้งหรือแสดงใบอนุญาตต่อเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจสัตว์ป่า

7. โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดดังต่อไปนี้ ล่าสัตว์ป่าใดๆ เก็บหรือทำอันตรายแก่รังของสัตว์ป่า ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

8. โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดดังต่อไปนี้

  • ยึดถือ ครอบครองที่ดิน ปลูกสร้างสิ่งใด แผ้วถาง ทำลายต้นไม้ พรรณพืช ฯลฯ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
  • ล่าสัตว์ เก็บรัง ยึดถือครอบครองที่ดิน ทำลายต้นไม้ พันธุ์พืช ฯลฯ ในเขตกำหนดห้ามล่าสัตว์ป่า

9. โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับความผิดดังต่อไปนี้ “ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับสัตว์ป่าหรือซากของสัตว์ป่าที่ได้มาจากการกระทำความผิดตามกฎหมายนี้”

10. กรณีนิติบุคคลเป็นผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ กรรมการผู้จัดการ หรือผู้แทนนิติบุคคลนั้นต้องรับโทษตามความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำนั้นตน มิได้มีส่วนรู้เห็นหรือยินยอมด้วย

ข้อมูลจาก สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า