สังคมโซเชียลมีเดียทุกวันนี้เต็มไปด้วยปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคนติดโซเชียลมีเดียกันงอมแงม จนกลายเป็น “สังคมก้มหน้า” หรือเป็นแหล่งปล่อยข่าวลวง ข่าวปลอม หรือข่าวสร้างสถานการณ์ ที่เรียกว่า Fake News ซึ่งกำลังหลอกหลอนผู้คนอยู่ใน Facebook หรือ Twitter
และภายในงานเสวนาส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ “ป้องปรามสื่อร้าย ขยายสื่อดี ร่วมเป็นภาคีเฝ้าระวังสื่อออนไลน์” ที่สำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม ข่าวภูมิภาคออนไลน์ www.77kaoded.com ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
“ข่าวปลอม ข่าวสร้างสถานการณ์ หรือ Fake News เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่แพร่กระจายช้า เพราะเดิมเป็นเพียงรูปแบบของ ใบปลิว ซึ่งไม่ค่อยมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกมากนัก แต่ปัจจุบัน Fake News เปลี่ยนมาอยู่ในรูปแบบของออนไลน์ ทำให้มีข้อมูลข่าวสารถูกแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบผู้คนมากขึ้น
และไม่ได้มีแค่ผู้คนที่เสพสื่อออนไลน์เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ สื่อกระแสหลัก ก็ได้รับผลกระทบไปถึงความน่าเชื่อถือเช่นกัน แม้บางข่าวที่เกิดขึ้นจะไม่ได้มาจากสื่อกระแสหลักก็ตาม”
ข่าวที่เข้าข่ายเป็น Fake News ในปัจจุบัน มีรูปแบบ ดังนี้
- พาดหัวให้เร้าใจ เพื่อให้คลิก (Clickbait) โดยการใช้คำหรือรูปภาพพาดหัวที่ทำให้ดูชวนสงสัย ทั้งที่เนื้อข่าวอาจไม่มีอะไรเลย เพื่อเรียกยอดการเข้าดู
- โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) เป็นการบอกเล่าเรื่องราวที่ถูกคัดมา หรือสร้างขึ้นใหม่ เพื่อให้ผู้รับสารเข้าใจผิด
- เสียดสีและล้อเลียน (Satire/Parody) อาจเป็นภาพหรือข้อความที่ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อใช้เรียกยอดผู้ชม
- สื่อทำงานสะเพร่า (Sloppy Journalist) ในบางครั้งผู้สื่อข่าวอาจเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ หรือไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด ทำให้ผู้ชมเข้าใจผิด
- พาดหัวคลาดเคลื่อน (Misleading Heading) เป็นการใช้คำหรือข้อความในการพาดหัว เพื่อให้คนเข้าใจผิด หรือเรียกร้องความสนใจ เพื่อให้คนแชร์ต่อ ทั้งที่เนื้อหาอาจไม่ใช่เรื่องเท็จทั้งหมด
- อคติและบิดเบือน (Bias/Slanted News) เป็นการผลิตเนื้อข่าวออกมา เพื่อสนับสนุนความคิด ความเชื่อตามอคติของผู้ใช้สื่อ โดยไม่สนใจว่า ข่าวดังกล่าวจะสร้างความเข้าใจผิด ๆ ต่อผู้รับสารหรือไม่
Fake News กับผลกระทบที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
(1) สื่อหลักขาดความน่าเชื่อถือ เนื่องจาก “สื่อหลัก” กลายเป็นหนึ่งในต้นตอแพร่ข่าว Fake News เสียเอง
(2) Fake News สามารถเปลี่ยนความคิดของคนได้ง่าย แม้หลายคนรู้ในภายหลังว่า ข่าวสารที่ตนอ่านอยู่นั้นเป็นเรื่องไม่จริง แต่ก็ถูกอคติที่ได้รับมาก่อนหน้านี้บดบัง จนไม่สนใจความถูกผิดแล้ว
(3) ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทำให้การเสพข่าวไม่ได้หยุดที่การอ่านและวิพากษณ์วิจารณ์กันปากต่อปาก แต่เป็นการแพร่กระจายและถกเถียงกันในโลกออนไลน์ ผ่าน Facebook หรือ Twitter ถึงขั้นที่ไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่า เรื่องถกเถียงกัน เป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง
(4) ข่าวปลอม หรือ Fake News ที่เกิดขึ้นบางข่าว ก่อให้เกิดความแตกแยกและสร้างความเกลียดชังในสังคม อาทิ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เป็นต้น
วิธีสังเกตข่าวปลอม (Fake News) ก่อนเชื่อและแชร์
– ตรวจสอบว่า มีเว็บไซต์หรือแหล่งข่าวอื่นที่เผยแพร่ข่าวเดียวกันหรือไม่ หากมีเพียงแหล่งเดียว ข่าวดังกล่าวอาจเป็นไปได้ว่า เป็นข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ
– บ่อยครั้งที่ข่าวปลอมมักจะใส่ภาพจากข่าวเก่า หรือภาพจากแหล่งอื่นซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน เพื่อทำให้ดูน่าเชื่อถือ โดยผู้ใช้อาจตรวจสอบด้วยการค้นหาแหล่งที่มาของภาพจาก Google Reverse Image Search เพื่อค้นหาที่มาของภาพดังกล่าว
– นำชื่อข่าวหรือเนื้อหาบางส่วนในข่าว มาตรวจสอบใน Google ผู้ใช้อาจพบเว็บไซต์แจ้งเตือนว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม หรืออาจพบว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวจริง แต่ถูกเผยแพร่เมื่อในอดีต
– ขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่น เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาโดยการสอบถามบนเว็บบอร์ดหรือติดต่อสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือให้ช่วยตรวจสอบ