จดหมายถึง “บี แหลมสิงห์”

สวัสดีน้อง “บี แหลมสิงห์”

วันนี้พี่ขอใช้พื้นที่คอลัมน์ตนเองในการเขียนจดหมายเปิดผนึกแบบออนไลน์ ถึงน้องที่รู้จักกันมากว่าสิบปี ทั้งนี้เพื่อให้กำลังใจ เพื่อบอกกับ “บี” ว่ายังไงเราก็ต้องสู้ต่อไป จดหมายออนไลน์ฉบับนี้พี่เขียนขึ้นหลังจากเห็นข้อความที่คุณ ทวีต ในช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พี่รู้ว่าน้องเข้มแข็งพอที่จะเผชิญกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ในฐานะที่มิตรภาพของพวกเรามีมากกว่า 10 ปี ที่สำคัญเคยผ่านสนามข่าวมาด้วยกัน แม้ในวันนี้พี่จะเลือกเดินออกมาจาก วงการน้ำหมึกแล้ว แต่สิ่งที่พี่เห็นมาโดยตลอดกับการเป็น “บี แหลมสิงห์” คือความเป็นนักหนังสือพิมพ์ ของ บี ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง 

หัวข้อที่ บี กับ พี่ มักเอามานั่งถกกันเสมอคือความคงอยู่ของสื่อสิ่งพิมพ์ในปัจจุบัน เพราะหลายคนบอกว่านี่คือ “สื่อ” จากยุคอนาลอก ที่กำลังจะหมดอายุ ในเวลาไม่นานนี้สิ่งที่เราสองคนแลกเปลี่ยนกันคือความกังวลใจเรื่องคนอ่านที่น้อยลง แต่ที่กังวลมากกว่า คือ คนทำสื่อ ในปัจจุบันที่ผันแปรไปสู่ยุค fifth estate หรือสื่อที่เป็น โซเชียล มีเดีย

ปัจจุบันคนที่เรียกตัวเองว่า “สื่อ” ไม่จำเป็นต้องมีโรงพิมพ์ ไม่จำเป็นต้องมีห้องส่ง พวกเขาสามารถ สร้างกระแสให้กับสังคมผ่านทางสิ่งที่เรียกว่า โซเชียล มีเดีย แน่นอนว่าพวกเขามีชื่อเรียกให้เข้ากับยุคสมัยว่า Influencer พวกเขาไม่ต้องใช้ยอดพิมพ์หรือยอดเรตติ้งมาวัด พวกเขาใช้ยอดคนติดตามมาเป็นเกณฑ์ในการวัดความนิยม และเป็นค่าวัดอันทรงพลัง เพราะส่งสารได้โดยตรงมากกว่าขณะที่บรรดาเอเยนซี่ทั้งหลายตั้ง ค่าความนิยมใหม่นี้ว่า Engagement

แน่นอนว่า การมีอยู่ของฐานันดรที่ หรือ fifth estate ได้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ในเมืองไทยมาได้ระยะหนึ่งแล้วขณะที่กลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า ฐานันดรที่  4 กำลังเสื่อมถอยลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงของสังคม ที่ผู้คนถูกจริต กับสื่อยุคใหม่ที่มีทั้งความเร็วและข้อมูลที่เชิงลึกมากกว่า ขณะที่อีกส่วนเป็นเพราะคนเป็นสื่อทำตัวเอง สร้างความเสื่อมให้กับตนเองหลายครั้งที่เราเห็นเพื่อนร่วมอาชีพ พยายามทำเรื่องที่ผิดให้กลายเป็นเรื่องที่ถูก จนหลายคนเอือมระอา 

เราสองคนเฝ้ามอง และ คอยอัพเดทข้อมูลกันมาโดยตลอด จนเมื่อถึงวันที่น้องต้องเจอความเปลี่ยนแปลงในสำนักของตนเอง พี่จึงเข้าใจดีว่าน้องนั้นรู้สึกเช่นไร  พี่ทวีตข้อความตอบน้องไปว่าไม่มีคำปลอบใจให้ เพราะรู้ดีว่าการเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ในปัจจุบันมีพื้นที่เหลือให้ไม่มากนัก แม้กระทั่งโทรทัศน์ ที่อดีตเคยเป็นสื่อร้อน ปัจจุบันยังร้อนน้อยกว่าสื่อสังคมออนไลน์

แต่พี่ยังเชื่อมั่นอยู่อย่างหนึ่งว่า สังคมที่เต็มไปด้วยข่าวลวง ข่าวลือ หรือ ข่าวสร้างกระแส มันไม่ได้ช่วยให้สังคมขับเคลื่อนไปได้ในทางที่ถูกต้อง และเมื่อถึงวันนั้นผู้คนจะเรียกหาข่าวที่ถูกต้อง ที่ถูกผลิตจากคนที่ทำข่าวจริงๆ เชื่อถือได้สามารถยืนยันที่มาที่ไปได้ชัดเจน

ส่วนวันนั้นมันจะมาถึงเมื่อไรนั้น พี่ไม่สามารถให้คำตอบได้ แต่ขอให้เรามีความหวังเพราะตราบใดที่มีความหวัง เรามีทางรอดเสมอ จงจำเอาไว้ว่า ความเปลี่ยนแปลงเหมือนกับลมวูบหนึ่งที่ผ่านมาแล้วจะผ่านไป แต่สิ่งที่ต้องรักษาไว้ให้ดีคือใจของเราเอง

ด้วยความระลึกถึง  
พี่หวันยา