เมื่อ “ฟีฟ่า” เอาจริงเรื่อง “โอนสัญชาติ” นักเตะ

การรับใช้ชาติน่าจะเป็นหนึ่งในเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับนักฟุตบอลทุกคน แต่ความรู้สึกแบบนี้อาจจะกำลังหายไปอย่างช้าๆ เพราะบางประเทศเล็งเห็นความสำเร็จมากกว่า จึงเลือกที่จะใช้นักเตะที่เกิดในชาติอื่นๆ ลงเล่นในเกมระดับชาติของตนแทน ซึ่งสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ตระหนักถึงปัญหานี้ดี หลังได้รับแจ้งปัญหาเรื่องสัญชาติของนักเตะทั้งในแอฟริกา อเมริกาเหนือ ไปจนถึงในเอเชีย จึงเตรียมหารือเปลี่ยนกฎเรื่องการโอนสัญชาติของนักเตะใหม่

ทั้งนี้ กฎที่ใช้ในปัจจุบัน ระบุไว้ว่า นักเตะมีสิทธิ์เปลี่ยนสัญชาติได้ ถ้ายังไม่ได้ลงสนามในเกมอย่างเป็นทางการ ส่วนนักเตะที่ไม่มีสัญชาติของประเทศที่ต้องการจะเรียกตัว จำเป็นจะต้องพำนักอยู่ในประเทศนั้นๆ เป็นเวลา 5 ปี จึงจะมีสิทธิ์ถูกเรียกตัวติดทีมชาติได้

โดยหลายๆ ฝ่ายต่างคาดกันว่าฟีฟ่าน่าจะต้องการขยายระยะเวลาพำนักในประเทศที่ต้องการถือสัญชาติให้นานขึ้น เพื่อแก้ปัญหาที่หลายชาติเลือกใช้นักเตะที่ไม่ได้มีเชื้อสายเดียวกับถิ่นกำเนิด และเพื่อต้องการให้การเปลี่ยนสัญชาติทำได้ยากยิ่งขึ้น

แน่นอนว่าเรื่องนี้ย่อมมีชาติที่คิดเห็นต่างออกไป เช่น ชาติเล็กๆอย่างกาบูเวร์ดี ที่มองว่ากฎนี้ควรมีการปรับไปตามสถานการณ์ของแต่ละทีมมากกว่า เพื่อให้โอกาสนักเตะบางรายที่อาจถูกชาติใหญ่ๆเรียกตัวไป แต่กลับไม่มีโอกาสได้ลงสนามอย่างสม่ำเสมอ โดยวันนี้  Tonkit360 จะนำเสนอ 4 เรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับสัญชาติของนักเตะสมัยใหม่กัน

แซมบ้าขอกลับใจ

ภาพจาก Oddsdaily.com

ติอาโก้ ม็อตต้า เคยมีชื่อติดทีมชาติบราซิลชุดรองแชมป์ “โกลด์ คัพ” เมื่อปี 2003 แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีชื่อติดทีมชาติอีกเลย จนกระทั่งกองกลางตัวรับจากเปแอสเชได้รับโอกาสจากเชซาเร่ ปรันเดลลี่ ให้มาเล่นในนามทีมชาติอิตาลี ซึ่งเขามีเชื้อสายอิตาเลียนจากทางคุณปู่ของเขา

แม้ว่าม็อตต้าจะลงสนามในเกมอย่างเป็นทางการกับทีมแซมบ้าไปแล้ว แต่กรณีนี้ฟีฟ่าไฟเขียวให้ม็อตต้าย้ายมาใส่สีเสื้ออัซซูรี่ได้ จึงทำให้มีเสียงวิจารณ์ตามมาอย่างหนาหู

ตัวอุรุกวัย แต่ใจกาตาร์ 

ภาพจาก dohastadiumplusqatar.com

แม้ชื่อของ เซบาสเตียน โซเรีย อาจจะฟังดูไม่เหมือนคนตะวันออกกลาง แต่เชื่อหรือไม่ว่า เขาเป็นถึงตำนานนักเตะของกาตาร์ โดยโซเรียย้ายข้ามน้ำข้ามทะเลจากบ้านเกิดอย่างอุรุกวัยมาค้าแข้งในลีกกาตาร์ ตั้งแต่ปี 2003 ก่อนจะถูกกาตาร์เรียกติดทีมชาติ เมื่อปี 2006

โซเรียทำผลงานยอดเยี่ยมในนามทีมชาติกาตาร์ ด้วยการสร้างสถิติยิง 40 ประตูจากการลงเล่น 123 นัด  ถือเป็นสถิติที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติเล็กๆอย่างกาตาร์เลยทีเดียว ซึ่งการเลือกนักเตะที่เกิดนอกประเทศมาติดทีมชาติ ถือเป็นเรื่องปกติของกาตาร์ที่ตอนนี้ในทีมมีนักเตะลักษณะแบบนี้อยู่ถึง 7-8 รายด้วยกัน

จากกระทิงเกือบได้เป็นสิงโต

ภาพจาก talksport.com

เคยมีข่าวลือว่า สมัยที่ ฟาบิโอ คาเปลโล่ คุมทีมชาติอังกฤษ เขาเคยให้ความสนใจในตัว  มิเกล อาร์เตต้า อดีตกองกลางสแปนิชของเอฟเวอร์ตันและอาร์เซน่อล เนื่องจากอาร์เตต้าค้าแข้งอยู่ในแดนผู้ดีเป็นเวลานาน แต่หลังเจอเสียงวิจารณ์อย่างรุนแรงว่าอาร์เตต้าไม่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดใดๆ กับสหราชอาณาจักร จึงทำให้ต้องพับโครงการไป

ด้านสมาคมฟุตบอลสกอตแลนด์ ก็ออกมายืนยันเช่นกันว่า ทุกชาติในสหราชอาณาจักร (อังกฤษ​, สกอตแลนด์, เวลส์ และไอร์แลนเหนือ) จะเลือกนักเตะที่มีเชื้อสายมาติดทีมชาติเท่านั้น พร้อมยึดมั่นข้อบังคับที่ว่า นักเตะที่จะลงเล่นให้กับทีมชาติได้ ต้องเคยผ่านการศึกษาในสหราชอาณาจักรมาอย่างน้อย 5 ปี ซึ่งถือเป็นการปิดโอกาสของอาร์เตต้า รวมถึงรายของนาโช่ โนโบ อดีตกองหน้าชาวสเปนของกลาสโกว์ เรนเจอร์ส ที่สกอตแลนด์เคยคิดจะเรียกมาติดทีมชาติด้วย

อัดนาน ยานาไซ กับอนาคตครั้งใหม่

ภาพจาก dailyexpress.co.uk

อดีตปีกดาวโรจน์ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ถือเป็นนักเตะที่มีออปชั่นมากมายในการเลือกสัญชาติ ทั้งเบลเยียม และอัลเบเนีย  แต่ในปี 2014 ยานาไซตัดสินใจเลือกรับใช้ทีมชาติเบลเยียม และได้ร่วมทัพไปลุยศึกฟุตบอลโลก 2014 รอบสุดท้ายที่บราซิลด้วย  แต่หลังจากฟอร์มถดถอยลงไปมาก เขาจึงไม่มีโอกาสได้ติดธงเบลเยียมอีกเลย

แต่แล้วก็มีโอกาสเข้ามาหาเขาอีกครั้ง เมื่อโคโซโว อีกหนึ่งชาติที่ยานาไซมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดด้วย เพิ่งได้เข้าร่วมเป็นชาติสมาชิกที่ฟีฟ่ารับรอง เมื่อปี 2016 และแม้ว่ายานาไซลงเล่นเกมอย่างเป็นทางการไปแล้ว เเต่เนื่องจากว่าโคโซโวเป็นชาติใหม่ ฟีฟ่าจึงเปิดโอกาสยานาไซสามารถเปลี่ยนสัญชาติมาเป็นโคโซโวได้ ซึ่งต้องรอดูว่า สุดท้ายแล้ว ปีกวัย 22 ปี จะตัดสินใจเปลี่ยนสัญชาติมาเล่นให้น้องใหม่อย่างโคโซโวหรือไม่