เลือกสตั๊ดไม่สตั๊น (ตอนที่ 5 ไซส์รองเท้า)

หลังจากได้รับทราบรุ่นย่อยๆ ของรองเท้าฟุตบอล 4 ยี่ห้อที่ขายดีในบ้านเรา มาทั้งหมด 4 ตอน จนข้อมูลแน่นเอี๊ยด แต่ยังสงสัยกันไหมว่า เวลาที่เราไปซื้อรองเท้า เขามักจะถามไซส์เป็นหน่วยที่ชื่อแปลกๆ ไม่ค่อยเหมือนกัน UK บ้าง US บ้าง EUR บ้าง หรือบางทีก็เป็น JPNเรื่องแบบนี้มันมีที่มา ตามมามุงกันได้

เริ่มที่รองเท้าไนกี้ที่ฉลากข้างกล่องจะมีตัวเลขใหญ่ๆ อยู่ตัวหนึ่ง ตัวนั้นคือไซส์ของรองเท้าในหน่วย US สอดคล้องตามประเทศต้นกำเนิดของไนกี้ เมื่อตัวเลขใหญ่และชัดเจนพนักงานขายจึงมักใช้หน่วย US ในการคุยกับลูกค้าและสะดวกในการค้นหาสินค้าในสต็อค

ต่อที่รองเท้าอาดิดาสพนักงานขายจะนิยมใช้หน่วย UK อันนี้เคยชินกันมานาน ถ้าไปร้านแถวหลังสนามศุภฯ แล้วบอกว่าจะเอารองเท้าอาดิดาส เบอร์ 9 พนักงานจะหยิบรองเท้า ไซส์ 9 UK มาให้โดยอัตโนมัติทันที

ส่วนรองเท้าพูม่า เท่าที่สัมผัสมาจะไม่ได้นิยมใช้หน่วยไหนเป็นการเฉพาะ แต่เวลาผมไปสั่งรองเท้าพูม่าก็จะคุยกับพนักงานเป็นหน่วย UK เพราะมันเป็นหน่วยแรกในฉลาก น่าจะสังเกตได้ง่าย

รองเท้ามิซูโน่ เป็นรองเท้าจากประเทศญี่ปุ่น แน่นอนว่าพนักงานขายมักจะใช้หน่วย JPN และเวลาเรียกก็จะอ่านเป็นตัวเลขธรรมดา ตัวอย่างเช่นในภาพจะนิยมอ่านว่า สอง-แปด-ศูนย์

แต่เนื่องจากในสมัยนี้บางทีเราก็จำเป็นที่จะต้องสั่งรองเท้าออนไลน์ ไม่มีโอกาสที่จะไปที่หน้าร้าน และต้องการจะสั่งรองเท้ายี่ห้อที่แตกต่างจากที่เคยใส่ ปัญหาที่ตามมาคือแล้วเราจะสั่งไซส์อะไรที่จะพอดีกับเท้าเรา

จากประสบการณ์ที่ผมขายมานาน ผมขอแนะนำว่าควรจะใช้ตารางไซส์มาเปนเครื่องมือ และหน่วยที่จะมาใช้ในการเทียบให้แม่นยำที่สุดคือ

  • ไนกี้ ให้ใช้หน่วย CM
  • อาดิดาส ให้ใช้หน่วย J
  • พูม่า ให้ใช้หน่วย CM
  • มิซูโน่ ให้ใช้หน่วย JPN

ซึ่งหน่วย CM กับ JPN จะคือความยาวหน่วยเซนติเมตร ส่วนหน่วย J จะเป็นเลข 3 หลัก คือความยาวหน่วยมิลมิเมตร ซึ่งก็ง่ายมากในการแปลงกับไปเป็นเซนติเมตร เพียงแค่ใส่จุดทศนิยมหน้าตัวเลขสุดท้ายแค่นั้นเอง

เดี๋ยวผมจะยกตัวอย่างให้ดู 1 เคส สมมติว่าผมใส่รองเท้าไนกี้ ไซส์ 8 US แล้วต้องการจะซื้อรองเท้าอาดิดาสพูม่า และมิซูโน่ ยี่ห้อละ 1 คู่ ผมก็จะเอาไซส์ 26 ในหน่วย CM ของรองเท้าไนกี้ ไปเทียบในตารางไซส์ ก็จะได้ว่า ผมต้องสั่ง

  • รองเท้าอาดิดาสไซส์ 8 US, 5 UK, 41 1/3 EUR, 260 J
  • รองเท้าพูม่าไซส์ 8 US, 7 UK, 40.5 EUR, 260 CM
  • รองเท้ามิซูโน่ 8 US, 7UK, 40.5 EUR, 260 JPN

ทั้งนี้ เท้าของแต่ละคนจะมีความกว้างหรือบานไม่เท่ากัน ถ้าเป็นคนเท้าเรียวก็เทียบไซส์ได้ง่าย แต่ถ้าคนเท้าบานการสั่งอาจจะยุ่งยากขึ้นมาหน่อย เพราะรองเท้าถึงแม้ไซส์ตรงกันแล้ว แต่ละรุ่นความกว้างอาจจะต่างกันตามการออกแบบของดีไซน์เนอร์ดังนั้นต้องคำนึงรุ่นของรองเท้าด้วยว่าหน้ากว้างไหม ต้องหาข้อมูลกันนิดนึง ถ้าทรงเรียวก็จบกัน สั่งมาก็ยัดไม่เข้า

ก็เป็นอันว่าผมจะขอจบเรื่องการ เลือกสตั๊ดไม่สตั๊น ไว้ที่ตอนที่ 5 หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะหายสตั๊นเวลาไปเลือกซื้อรองเท้าสตั๊ดทั้งในร้านออฟไลน์และร้านออนไลน์ ขอขอบคุณทุกการติดตามตั้งแต่ตอนที่ 1-5 ครับ ได้ Like & Share มาประโลมจิตใจ ก็มีแรงที่จะเขียนได้ต่อไป

แล้วในอาทิตย์หน้ามาลุ้นกันว่าผมจะมาในหัวข้ออะไร