นับตั้งแต่ 13 ตุลาคม 2559 อันเป็นวันมหาวิปโยคของคนไทยทั้งประเทศ ทั่วทุกพื้นที่บนแผ่นดินเต็มไปด้วยคราบน้ำตา แต่วันเวลาก็ได้ทำหน้าที่ในการเยียวยาคนไทยให้กลับคืนสู่ชีวิตปกติ แต่สิ่งที่คนไทยทุกคนจดจำไม่ลืมคือความรู้สึกสูญเสียพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่รักราชาผู้ครองราชย์มายาวนานถึง 70 ปี และบรรทัดต่อจากนี้คือ การรวบรวมเหตุการณ์ที่ทุกคนยังคงชัดเจนในความทรงจำ
8 ตุลาคม 2559
– หลังจาก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินมาประทับ ณ ชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราชนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2558 และมีแถลงการณ์สำนักพระราชวัง ออกมาอยู่เนืองๆนั้น ในวันที่ 8 ตุลาคม แถลงการณ์สำนักพระราชวังได้ระบุว่าพระอาการว่า “มีความดันพระโลหิตต่ำลง คณะแพทย์จึงรักษาด้วยพระโอสถปฎิชีวนะและใช้สายสวนเข้าหลอดพระโลหิตดำเพื่อฟอกพระโลหิตระยะยาว แต่ความดันพระโลหิตต่ำจึงใช้เครื่องช่วยหายพระทัย และมีการฟอกไต พระอาการไม่คงที่ก่อนที่พระอาการจะเริ่มทรุดลงเรื่อย ๆ ทรงมีการติดเชื้อและการทำงานของพระยกนะ (ตับ) ผิดปกติ”
– จากแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวสร้างความไม่สบายใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ และเริ่มมีประชาชนทยอยกันเดินทางมายังโรงพยาบาลศิริราช เพื่อสวดบทโพชฌังคปริตร
12 ตุลาคม 2559
– หลังแถลงการณ์ในวันที่ 8 ตุลาคม 2559 ก็มาถึงแถลงการณ์สำนักพระราชวัง ฉบับที่ 38 ที่มีใจความว่า “คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ความดันพระโลหิตลดต่ำลงอีก พระชีพจรเร็วขึ้น ร่วมกับภาวะพระโลหิตมีความเป็นกรด เพิ่มขึ้นอีก ผลของการถวายตรวจพระโลหิตบ่งชี้ว่า มีภาวะการติดเชื้อและการทำงาน ของพระยกนะ (ตับ) ผิดปรกติ คณะแพทย์ฯ ได้ถวายพระโอสถปฏิชีวนะและ แก้ไขภาวะพระโลหิตมีความเป็นกรด ตลอดจนถวายพระโอสถควบคุมความดันพระโลหิตเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งถวายเครื่องช่วยหายพระทัย (Ventilator) และถวายการรักษาด้วยวิธีทดแทนไต (CRRT) พระอาการประชวรโดยรวมยังไม่คงที่ต้องควบคุมด้วยพระโอสถ คณะแพทย์ฯ ได้เฝ้าติดตามพระอาการและถวายการรักษาอย่างใกล้ชิด”
– ในวันเดียวกันนั้น พระราชโอรส-ธิดาทั้งสี่พระองค์ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ และพระเจ้าหลานเธออีกสองพระองค์เข้าเยี่ยมพระอาการประชวร
– แถลงการณ์ฉบับที่ 38 พร้อมกับข่าวการเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์ ทำให้ประชาชนจำนวนมากได้เดินทางมายังโรงพยาบาลศิริราชเพื่อถวายพระพรให้ทรงหายจากพระอาการประชวร กิจกรรมสำคัญคือการสวดบทโพชฌังคปริตร ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นบทสวดมนต์ปัดเป่าโรคร้ายพร้อมทั้งมีการเชิญชวนประชาชนสวมเสื้อสีชมพูซึ่งเป็นสีเสริมดวงพระราชสมภพและมีการร่วมกันถวายพระพรทั่วทั้งสังคม
13 ตุลาคม 2559 วันมหาวิปโยคของคนไทย
– มีรายงานข่าวพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์เสด็จฯ มายังโรงพยาบาลศิริราช
– นายกรัฐมนตรียกเลิกภารกิจต่างจังหวัดและบินกลับกรุงเทพฯด่วน พร้อมแจ้งสื่อให้รอรับสัญญานโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจในช่วงเย็น
– เวลา 19.00 น. โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจส่งสัญญานให้กับสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง
สำนักพระราชวังมีประกาศเรื่องพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ความว่า
“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตรเสด็จพระราชดำเนินไปประทับรักษาพระอาการประชวร ณ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันศุกร์ ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ตามที่สำนักพระราชวังได้แถลงให้ทราบเป็นระยะแล้วนั้น แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถแต่พระอาการประชวรหาคลายไม่ ได้ทรุดหนักลงตามลำดับ ถึงวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 เวลา 15 นาฬิกา 52 นาที เสด็จสวรรคต ณ โรงพยาบาลศิริราช ด้วยพระอาการสงบ สิริพระชนมพรรษาปีที่ 89 ทรงครองราชสมบัติได้ 70 ปี”
– ปรากฎการณ์หมอกธุมเกตุ
ในคืนวันมหาวิปโยคนั้นเกิดปรากฎการณ์ หมอกธุมเกตุ ปกคลุมทั่วเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณพระบรมมหาราชวัง แม้จะมีนักวิทยาศาสตร์ออกมาให้ข้อมูลว่าเป็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติ แต่ ห้วงเวลานั้นผู้เชี่ยวชาญหลายรายต่างบอกว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ยังหาเหตุพิสูจน์ไม่ได้ ขณะเดียวกันหมอกธุมเกตุนั้น มีความเชื่อของคนไทยตั้งแต่ในอดีตว่าจะเกิดขึ้นเมื่อบ้านเมืองจะมีเหตุสำคัญในแผ่นดิน ซึ่งเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคตก็เกิดปรากฎการณ์หมอกธุมเกตุ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในวันที่ 13 ตุลาคม 2559
14 ตุลาคม 2559
วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เวลา 16.00 น.สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพวรางกูร ครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปโรงพยาบาลศิริราชเพื่อเคลื่อนพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไปพระบรมมหาราชวังเพื่อประกอบพระราชพิธีสรงน้ำพระบรมศพ ณ พระที่นั่งพิมานรัตยา โดยขบวนเคลื่อนออกจากโรงพยาบาลศิริราชทางถนนอรุณอัมรินทร์ ผ่านไปยังแยกอรุณอมรินทร์ขึ้นสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เคลื่อนต่อไปถนนราชดำเนินในสู่พระบรมมหาราชวังทางถนนหน้าพระลาน ที่ประตูพิมานไชยศรี และ ประตูเทวาภิรมย์ซึ่งสองข้างทางนั้นเต็มไปด้วยเสียงร้องไห้ระงมของประชาชนที่มาเฝ้าส่งเสด็จเป็นครั้งสุดท้าย
15 ตุลาคม 2559
– การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นเรื่องเกินกว่าใครคนใดในประเทศไทยจะรับมือได้ทัน ทำให้ต้องมีการประกาศเพื่อควบคุมการเผยแพร่ข่าวสารโดย สถานีโทรทัศน์ นั้นเบื้องต้นทาง รัฐบาลขอความร่วมมืองดรายการตามปกติและรับสัญญาณจากโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยเป็นเวลา 30 วันแต่ท้ายที่สุดถูกยกเลิกไปจากนั้น กสทช. ได้ขอความร่วมมือให้งดรายการรื่นเริงต่าง ๆ เป็นเวลา 30 วัน ในขณะที่สื่อสังคมออนไลน์นั้น เว็บไซต์ต่างปรับลดโทนสีของเว็บไซต์เป็นขาวดำ และ ลดโทนของเรื่องที่นำเสนอ
– ปรากฎการณ์เสื้อดำขาดตลาด ในช่วงสัปดาห์แรก ของการสวรรคต ประชาชนทั่วทั้งประเทศต่างตกอยู่ในความเศร้าโศก เวลานั้นทั้งประเทศ เปลี่ยนเป็นสีดำ เมื่อทุกคนพร้อมใจกันใส่ชุดสีดำเพื่อไว้ทุกข์ ให้กับการสวรรคต และทำให้เสื้อสีดำขาดแคลนเป็นจำนวนมากจนทำให้เกิดการบริจาค หรือนำเสื้อมาย้อมเป็นสีดำ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้ไว้ทุกข์ เพียงแค่สามเดือน แต่หลายคนมีความตั้งใจในการไว้ทุกข์ 1 ปีเต็ม ขณะเดียวกันมีประชาชนจำนวนมากเดินทางไปจุดเทียน และ ไว้อาลัยต่อการสวรรคต บริเวณหน้าประตูวิเศษไชยศรีเป็นจำนวนมาก
22 ตุลาคม 2559
ประชาชนนับหมื่นรวมตัวเพื่อร่วมกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี จากที่ก่อนหน้านั้นมีหน่วยงานราชการแลเอกชน ต่างถวายความอาลัย ด้วยการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และเพื่อแสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้เกิดการนัดหมายรวมตัวกันเพื่อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีขึ้น โดยมีวาทยกรชื่อดังชาวไทย สมเถา สุจริตกุล เป็นผู้ควบคุมในการร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีครั้งประวัติศาสตร์ และ ในกาลนี้คุณพลอยไพลิน เจนเซ่น พระราชนัดดาได้เข้าร่วมขับร้องด้วย
29 ตุลาคม 2559
สำนักพระราชวังได้รับพระราชานุญาต ให้ประชาชนเข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เวลา 05.00–21.00 น. และร่วมบริจาคเงินสมทบทุน ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559 จนถึงวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา