หากใครได้ติดตามการแข่งขัน TSS The Super Series ตลอดทั้งเสาร์และอาทิตย์ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเกมดวลความเร็วในแทร็ก ถือว่าสนุก สูสี ได้ลุ้นกันทุกรุ่น ตั้งแต่ ซูเปอร์ อีโค่, ซูเปอร์ ทัวร์ริ่ง, ซูเปอร์ ปิกอัป ไปจนถึงซูเปอร์คาร์ GT4/GTC และรุ่นใหญ่สุดซูเปอร์คาร์ GT3/GTM ตลอดวีกเอนด์ มีทั้งแดด มีทั้งฝน มีทั้งกึ่งเปียก-กึ่งแห้ง เห็นรถแข่งทั้งแปะ ทั้งดัน ทั้งชนกันในหลาย ๆ รุ่น
แต่ที่เดือดที่สุดคงเป็นหลังเกมเรซ 2 ของรุ่น GT3 ที่รถแข่ง Audi R8 GT3 หมายเลข 786 ที่ขับโดย กีกี้ ศักดิ์ นานา และ Karol Basz นักขับชาวโปแลนด์ จำต้องออกจากการแข่งขันเนื่องจากสัญญาณไฟฝนที่ต้องติดกะพริบด้านท้ายรถ (Rain Light) ไม่ทำงาน จนพี่กีกี้ถึงกับออกมาโพสต์ตัดพ้อการตัดสินของกรรมการ รวมถึงไปถึงเรื่องของกติกา BoP หรือ Balance of Performance ด้วย
งานนี้แม้พี่กีกี้จะลบโพสต์นั้นไปแล้ว และออกมาขอโทษผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ก็ร้อนไปถึงบริษัท เรซซิ่ง สปิริต จำกัด ในฐานะผู้จัดการแข่งขัน ต้องออกมาชี้แจ้งข้อมูลที่เกิดขึ้นแบบไล่เป็นฉาก ๆ ว่าที่มาที่ไปนั้นเป็นอย่างไร รายละเอียดทั้งหมดสามารถติดตามได้ในแฟนเพจของ The Super Series ซึ่งในฐานะแฟนความเร็ว หวังว่าเขาน่าจะคุยกันหลังไมค์กันแล้ว และจบลงด้วยดีนะครับ
ส่วนประเด็นทื่จั่วหัวไว้ด้านบน คือทำไมรถแข่งต้อง Balance of Performance ต้องบอกแบบนี้ครับว่า แม้การแข่งขัน “ฟอร์มูล่า วัน” คือมอเตอร์สปอร์ตอันดับ 1 ของโลก แต่รู้หรือไม่ครับว่ารุ่นการแข่งขันที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก และมีรถแข่งหลากรุ่นหลายยี่ห้อที่สุด คือการแข่งขันซูเปอร์คาร์ภายใต้กติกา GT3 ที่รับรองโดยสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (FIA)
เราจะเห็นได้เลยว่ามีรายการแข่งขันภายใต้กติกา GT3 ทั่วทุกทวีป ทั่วโลก รวมไปถึงประเทศไทยก็มีอยู่ในการแข่งขัน TSS The Super Series ฉะนั้น GT3 คือตลาดใหญ่ของกลุ่มรถแข่งซูเปอร์คาร์ เราจึงได้เห็นค่ายรถหลากหลายรุ่นผลิตรถสเปก GT3 ได้รับการรับรองมาตรฐาน FIA ออกจากโรงงานเลย
เรียกได้ว่าซื้อมาแล้วเอาลงสนามแข่งได้เลย อย่างไรก็ดี สมรรถนะของซูเปอร์คาร์เหล่านี้ มีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป บางคันแรงทางตรง บางคันเข้าโค้งดี ฉะนั้น กติกาที่จะทำให้รถแข่งมีสมรรถนะเท่าเทียมกันมากที่สุดก็คือ BoP หรือ Balance of Performance นั่นเอง
ซึ่งใน TSS ปีนี้ ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับ SRO Motorsports Group โดยมีเป้าหมายในการยกระดับการแข่งขันในภูมิภาคอาเซียน และหนึ่งในองค์ประกอบหลักของความร่วมมือคือการนำ BoP ในแบบฉบับของ SRO มาใช้ในรุ่น GT3 และ GT4 เพื่อช่วยควบคุมสมรรถนะของรถแต่ละคันให้มีความสมดุล เพื่อส่งเสริมการแข่งขันที่ยุติธรรมและยกระดับความน่าเชื่อถือของรายการในระดับสากล
นั่นเท่ากับว่ารถซีซีต่างกัน แรงม้าต่างกัน ก็สามารถแข่งขันร่วมกันได้ ผมเองเคยได้พูดคุยกับนักแข่ง GT3 หลายคนถึงกติกานี้ พวกเขายอมรับว่ามันยากมากที่จะทำให้รถต่างยี่ห้อสมรรถนะเท่ากันแบบ 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม แต่กติกา BoP ที่ใช้กันอยู่เป็นมาตรฐานทุกวันนี้ ก็ถือว่าทำให้ใกล้เคียงกันมากที่สุดแล้ว และก็เป็นมาตรฐานที่ทุกคนยอมรับได้
เพราะกติกา BoP จะอัปเดตและเปลี่ยงแปลงได้ตลอด โดยอ้างอิงจากคาแรกเตอร์สนามที่ต่างกันออกไป เวลาต่อรอบ ความเร็วสูงสุด และข้อมูลจากรถแต่ละคัน บางคันที่แรงไปอาจจะต้องจำกัดอากาศ (Restrictor) ให้เข้าได้น้อยลง บางคันอาจต้องถ่วงน้ำหนักเพิ่ม หรือบางคันอาจต้องเพิ่มความสูงของตัวรถให้เข้าโค้งได้ช้าลง นั่นเองครับ
ส่วนใครที่พลาดซูเปอร์คาร์ GT3 จากศึก TSS สนามแรก ก็ไม่ต้องรอนานครับ เพราะสุดสัปดาห์นี้ 30 พ.ค. – 1 มิ.ย. จะมีทัพรถแข่ง GT3 ระดับพระกาฬจากทั่วโลกมากถึง 33 คัน มาดวลความเร็วที่บ้านเราในรายการ GT World Challenge Asia ที่บุรีรัมย์ ใครเป็นแฟนคลับค่ายไหน ไปสัมผัสเสียงเครื่องยนต์ที่สนามกันได้เลยครับ