จิตวิทยาของ “การโกหก” กุเรื่องบนโลกออนไลน์ทำไมกัน

ทุกวันนี้ เรามักจะเห็น “เรื่องโกหก” ดาษดื่นเต็มโลกออนไลน์ไปหมด อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เรื่องจะโป๊ะ ความแตกว่าลวงโลก เรื่องราวเหล่านั้นเคยเป็นประเด็นที่เรียกความสนใจจากชาวเน็ตด้วยความรู้สึกอื่นมาก่อน ทั้งน่าสงสาร น่าเห็นใจ น่าชื่นชม หรือแม้กระทั่งแปลกประหลาดใจ จนคอมเมนต์ของโพสต์เป็นไปในทางเดียวกันเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อไรก็ตามที่มีคนเริ่มเอะใจแล้วไปขุดคุ้ยเบื้องหลังของคนที่โพสต์เรื่อง ก็จะเริ่มเห็นเค้าลางว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นเพียงเรื่องที่กุขึ้นมา คนอ่านเริ่มเบรกหัวทิ่มในเรื่องราวเหล่านั้น และเริ่มหันหัวรถทัวร์กลับไปหาเจ้าของโพสต์ว่าเป็นจอมลวงโลก และถ้าใครยังมีเวลาเหลือ ๆ อาจเริ่มขุดตัวตนของคนโพสต์ต่อว่าเป็นใคร เคยมีพฤติกรรมอะไรมาบ้าง

การโกหก เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการจงใจ

การโกหก หมายถึง การที่ผู้พูดจงใจบอกข้อมูลเท็จให้กับบุคคลอื่น โดยที่ผู้พูดเองรู้อยู่แก่ใจว่าไม่ใช่ความจริงทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เจตนาของการโกหกอาจแตกต่างกันไป ซึ่งไม่เพียงแต่เพื่อให้ประสบผลสำเร็จในการหลอกลวงเท่านั้น แต่ยังโกหกเพื่อให้สำเร็จในการโน้มน้าวใจบางสิ่งด้วย นักจิตวิทยาหลายคนพบว่าคนเรามีแรงจูงใจมากมายในการโกหก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อรักษาหน้าตา เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกลงโทษ เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ความต้องการที่จะมีอิทธิพลเหนือผู้อื่น เพื่อสร้างความประทับใจ เพื่อขอความช่วยเหลือและสนับสนุน รวมถึงเพื่อทำร้ายผู้อื่นด้วย

จิตวิทยาของการโกหก 

ข้อมูลจากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ้างจาก Lindgkold และ Walters (1983) ได้จัดรูปแบบของการโกหกออกเป็น 6 ประเภท โดยเรียงลำดับจากที่มีการยอมรับมากที่สุดถึงน้อยที่สุด คือ

  1. Save others shame – การโกหกเพื่อช่วยผู้อื่นจากความเจ็บปวดที่เล็กน้อย ความอับอาย หรือความละอาย
  2. Protect from punishment – การโกหกเพื่อปกป้องตนเองหรือบุคคลอื่นจากการถูกลงโทษหรือความไม่พอใจ สำหรับการล้มเหลวเล็กน้อย หรือการทำผิดพลาดร้ายแรงจากความสะเพร่าซึ่งทำร้ายบางคน
  3. Influence officials – การโกหกเพื่อที่จะมีอิทธิพลต่อคนอื่นในตำแหน่งหน้าที่การงาน เช่น ในทางที่ได้รับการตอบสนองที่ได้ประโยชน์ต่อตนเอง แต่ไม่เป็นการทำร้ายผู้อื่น
  4. Enhancing appearance and protect gain – การโกหกเพื่อให้ตนเองดูดีกว่าความเป็นจริง หรือปกป้องผลประโยชน์บางอย่าง
  5. Exploitative persuasion – การโกหกเพื่อสิ่งหนึ่ง ซึ่งถ้าสำเร็จจะทำให้ตนเองได้ประโยชน์
  6. Direct harm, Self-gain – การโกหกเพื่อทำร้ายคนอื่นแต่ตัวเองได้ผลประโยชน์

ส่วนงานวิจัยในประเทศไทย รัตนาภรณ์ ปัตลา (2557) ได้แบ่งประเภทการโกหกไว้ 4 รูปแบบ ตามแรงจูงใจเป้าหมาย ดังนี้

  1. Altruistic – การโกหกเพื่อช่วยเหลือหรือปกป้องผู้อื่น
  2. Conflict avoidance – การโกหกเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจจะมีความขัดแย้งกับผู้อื่น
  3. Social acceptance – การโกหกเพื่อให้เข้ากับผู้อื่นได้ หรือให้คนอื่นดูมีความคิดเห็นเหมือนผู้อื่น
  4. Self-gain – การโกหกเพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อตนเอง โดยเฉพาะทางวัตถุนิยม

โลกออนไลน์ พื้นที่อิสระในการปั้นน้ำเป็นตัว

ทุกวันนี้ สิ่งที่เราสามารถเสพได้จากบนโลกออนไลน์ไม่ได้มีเพียงแค่ข้อเท็จจริงอย่างข่าว ข้อมูลที่เราสนใจค้นคว้าหาอ่านเอาเอง หรือข้อคิดเห็นในเรื่องต่าง ๆ แต่ยังเต็มไปด้วยเรื่องราวชีวิตของคนร้อยพ่อพันแม่ที่นำมาแชร์ลงบนช่องทางที่เชื่อว่าเป็นพื้นที่ของตัวเองแบบที่สามารถเห็นได้อย่างสาธารณะ ซึ่งเรื่องราวมากมายเหล่านั้นก็จะไหลผ่านหน้าโซเชียลมีเดียของคนอีกเป็นจำนวนมากที่ทั้งรู้จักกันและไม่รู้จักกัน บ่อยครั้งเราจะเห็นว่าเนื้อหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นให้ชาวเน็ตได้ร่วมรับรู้และแสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม มีหลายเรื่องที่มาถูกจับโป๊ะได้ในตอนหลังว่าเป็น “เรื่องโกหก” เป็นเรื่องที่ผู้เขียนจงใจแต่งขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง

นี่จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่าคนเราจะ “ปั้นน้ำเป็นตัว” กุเรื่องเป็นตุเป็นตะแบบนั้นขึ้นมาเพื่ออะไร หลายคนถึงกับโกหกคำโต บิดเบือนความจริงไปในลักษณะที่เกินจริงจนยากจะเชื่อ และแน่นอนว่าทำให้พิสูจน์ได้ไม่ยากด้วยว่าเป็นเรื่องเท็จ เพราะมันแทบเป็นไปไม่ได้เลยบนพื้นฐานของความจริง นอกเหนือจากความรู้สึกสนุกและมีความสุขกับเรื่องโกหกแล้ว ยังมีแรงจูงใจอะไรอีกบ้างที่อยู่เบื้องหลังการโกหกคำโตบนโลกออนไลน์

1. การแสวงหาการยอมรับและความสนใจ

ในโซเชียลมีเดีย เป็นพื้นที่อิสระที่เปิดรับเรื่องราวต่าง ๆ อย่างไม่มีลิมิต อีกทั้งยังไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงตัวตนจริง ๆ ว่าเป็นใครมาจากไหน เราสามารถนั่งอ่านนิยายชีวิตที่มีใครสักคนแต่งขึ้นมาโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องโกหก และอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวตนของคนที่พิมพ์อยู่หลังคีย์บอร์ดเป็นใคร ผู้คนจึงมักจะแสดงออกถึงสิ่งที่อยากให้ผู้อื่นเห็นหรือนึกถึงตัวเอง ทำให้บ่อยครั้ง การสร้างเรื่องที่ดูน่าทึ่ง เกินจริง หรือเรียก (ทัวร์) ความสนใจจากผู้อื่นได้ เช่น การใช้ชีวิตหรูหรา ความสำเร็จ เรื่องเล่าต่าง ๆ หรืออะไรก็ตามที่มันดูไม่ธรรมดา และดูพิเศษที่จะเกิดขึ้นในชีวิตของใครคนหนึ่ง จึงเป็นวิธีที่ช่วยให้พวกเขารู้สึกได้รับความสนใจและการยอมรับจากผู้อื่น ผ่านการไลก์ คอมเมนต์ หรือการแชร์

2. การสร้างตัวตนในโลกออนไลน์

เนื่องจากโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนได้สร้าง “ตัวตน” ที่อาจจะแตกต่างจากชีวิตจริงโดยสิ้นเชิง การกุเรื่องแปลก ๆ ขึ้นมา หรือสร้างเรื่องราวเกินจริง ช่วยให้พวกเขาสามารถปรับภาพลักษณ์ในโลกออนไลน์ให้ตรงกับสิ่งที่ตนเองอยากเป็นหรืออยากให้ผู้อื่นเชื่อ เช่น การโพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับความสำเร็จที่เกินจริงเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของความเก่งกาจ ทั้งที่ความจริงไม่ใช่แบบนั้น ตราบใดที่มันยังไม่เป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้คนในสังคมหันมาให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก หรือยังคงได้รับความสนใจเชิงบวก ก็มีแนวโน้มสูงว่าความจะยังไม่แตกง่าย ๆ ยังไม่มีคนพยายามขุดคุ้ยหรือออกมาแฉ แต่ถ้าเกิดข้อผิดพลาดขึ้นเมื่อไร อาจมีคนเอะใจและพยายามจะจับโป๊ะให้ได้

3. การเปรียบเทียบทางสังคม

โซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ที่ผู้คนมักเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา จากการที่เราสามารถรับรู้เรื่องราวของคนอื่น ๆ มากเกินไป แล้วมันก็เป็นธรรมดาที่คนเราจะแชร์แต่เรื่องดี ๆ ที่เกิดกับตนเอง ไม่ได้แชร์เรื่องราวในด้านลบให้ใครรู้ ภาพของทุกคนในโซเชียลมีเดียจึงเป็นภาพที่สวยงาม เห็นแล้วน่าอิจฉา ซึ่งเมื่อเห็นคนอื่น ๆ ประสบความสำเร็จหรือใช้ชีวิตน่าสนใจจากภาพภายนอกที่เขาแชร์ให้สังคมรู้ ผนวกรวมกับความอยากได้ อยากมี อยากเป็นแบบคนอื่นแต่ไม่สามารถเป็นได้ในความเป็นจริง หรืออาจเพราะความไม่พอใจในตัวตนของตัวเอง อาจทำให้บางคนรู้สึกกดดันและต้องการที่จะสร้างเรื่องราวของตนเองบ้างเพื่อแข่งขัน หรือไม่ให้รู้สึกว่าตัวเอง “แพ้” ในสายตาของผู้อื่น

4. ความต้องการหลีกหนีจากความเป็นจริง

เพราะชีวิตจริงของคนเรามักมีเรื่องที่ไม่พึงปรารถนาเสมอ ทั้งข้อจำกัด ความไม่พอใจ ความอยากที่ไม่ได้เป็น ความปกติธรรมดาที่ไม่น่าสนใจ และไปใส่นิยามให้มันแปลได้ว่าไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้รู้สึกด้อยค่าในตัวเอง แต่การกุเรื่องขึ้นมาทำให้ได้รับในสิ่งที่ไม่เคยได้รับ ดังนั้น การกุเรื่องในโซเชียลมีเดียจึงอาจเป็นวิธีหนึ่งในการหลีกหนีจากความเป็นจริงในชีวิตของใครบางคนที่อาจไม่น่าพอใจ หรือชีวิตประจำวันที่ดูธรรมดา ให้ได้รับอะไรที่ดูไม่ธรรมดา โลกออนไลน์จึงกลายเป็นพื้นที่ที่ผู้คนสามารถสร้างโลกในแบบที่ตัวเองต้องการได้โดยไม่ต้องสนใจข้อจำกัดในชีวิตจริง และโดยไม่ได้ประเมินไว้ว่ามันอาจลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่

5. แรงกดดันจากวัฒนธรรมโซเชียลมีเดีย

ด้วยชีวิตที่ผู้คนแสดงออกผ่านโซเชียลมีเดีย มักเน้นความความสำเร็จ ความสมบูรณ์แบบ ความหวือหวา หรือพูดง่าย ๆ ก็คือชีวิตที่ “น่าอิจฉา” ทำให้หลายคนรู้สึกว่าต้องแสดงออกถึงเรื่องราวของตัวเองในแบบที่ทำให้ดูดีกว่าที่เป็น แม้ว่าจะไม่ใช่ความจริง หากคนบางคนไม่ยอมรับความจริงเกี่ยวกับชีวิตของตนเอง ก็จะพยายามแต่งนั่นเสริมนี่เข้าไปในชีวิตของตนเองทีละน้อย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่สังคมออนไลน์กำหนดไว้ว่าชีวิตแบบนี้แหละน่าสนใจ และอาจได้ประโยชน์อะไรอีกมากมายตามมาจากการที่มีชีวิตดูแตกต่างจากความจริง เช่น มีคนมาให้ความสนใจมาก ๆ มีแสงสว่างสาดส่องมาถึง เริ่มได้รับการชื่นชม ความน่าเชื่อถือบางอย่างตามสิ่งที่พยายามแต่งเรื่องใส่เข้าไป

6. พฤติกรรมจากความผิดปกติในจิตใจ

ในบางกรณี การกุเรื่องในโซเชียลมีเดียจนกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่คนครึ่งค่อนประเทศหันมาให้ความสนใจ อาจเกี่ยวข้องกับปมด้อยส่วนตัวของผู้ที่โกหก อาจเป็นความรู้สึกขาดคุณค่าในตัวเอง หรือแม้แต่ความกลัวที่จะสูญเสียความสัมพันธ์ ความไว้วางใจ หรือสถานะทางสังคม จึงสร้างเรื่องราวบางอย่างขึ้นมาปกป้องสิ่งเหล่านั้น โยนความผิดออกไปให้ไกลตัวไว้ก่อนจะได้ไม่ถูกลงโทษ หรือมันอาจเป็นวิธีที่ช่วยเติมเต็มความรู้สึกเหล่านั้นได้ จุดเริ่มต้นอาจมาจากการที่รู้เท่าไม่ถึงการ ไม่คิดว่ามันจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ สร้างความเดือดร้อน หรือบางคนมีแนวโน้มโกหกบ่อยครั้งโดยไม่มีเหตุผลชัดเจน ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับโรคทางจิต เช่น บุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคม ที่มองการโกหกเป็นเรื่องปกติและไม่รู้สึกผิด

7. การแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัว

โซเชียลมีเดียไม่ใช่แค่พื้นที่ที่รวบรวมความสำเร็จ ความสมบูรณ์แบบ ความชีวิตดีที่น่าอิจฉา แต่ยังเป็นศูนย์รวมของคนกลุ่มใหญ่ที่มีความรู้สึกและมีจิตใจที่เมตตา ทำให้บางครั้ง การโกหกสร้างเรื่องราวใหญ่โตผ่านทางโซเชียลมีเดียก็มีเหตุผลเพียงเพราะต้องการหลอกลวง แล้วแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัวก็เท่านั้นเอง บางคนเป็นคนปกติธรรมดา แต่กุเรื่องว่าป่วยหนัก บ้างก็อ้างว่าพ่อแม่พี่น้องลูกหลาน หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงว่าป่วยด้วยโรคที่ค่ารักษาแพง เพื่อเปิดรับบริจาค หรือแต่เรื่องให้ชีวิตดูน่าสงสาร ใช้ชีวิตลำบาก ความเป็นอยู่ย่ำแย่มาก ๆ ตรงข้ามกับมาตรฐานของโซเชียลมีเดียที่อวดอ้างความสมบูรณ์แบบ ซึ่งกว่าเรื่องราวเหล่านี้จะโป๊ะแตก โดนขุด โดนแฉ คนทำก็ได้เงินจำนวนมากไปแล้ว