“กายภาพบำบัด” ไม่ต้องรออาการหนัก มีอาการก็ทำได้เลย!

หลายคนอาจเคยเข้าใจว่าการทำ กายภาพบำบัด (Physical Therapy) เป็นเรื่องของคนที่ป่วยหนัก มีอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หรือเป็นการบำบัดทางร่างกายเฉพาะผู้สูงอายุ แต่จริง ๆ แล้ว การทำกายภาพบำบัดนั้นเป็นการรักษา ฟื้นฟู และส่งเสริมการเคลื่อนไหวของร่างกายโดยไม่ต้องพึ่งยา และลดโอกาสที่จะต้องทำการผ่าตัด ด้วยวิธีการบริหารร่างกาย การยืดกล้ามเนื้อ การทำหัตถการอย่างการกดหรือดึงขยับข้อต่อ การใช้เครื่องมือเฉพาะทาง และเทคนิคอื่น ๆ เพื่อลดอาการปวด อาการตึง อาการชา หรืออาการที่ทำให้ใช้ชีวิตไม่สะดวก ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพ และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยหรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อและกระดูก

การเกิดปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อและกระดูก รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายมนุษย์ได้ในทุกช่วงชีวิต ดังนั้น การทำกายภาพบำบัดเพื่อส่งเสริม ป้องกัน รักษา และจัดการเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว จึงเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ทุกช่วงวัย อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดอาการรุนแรงก่อนถึงจะทำกายภาพบำบัดได้ แม้มีอาการเพียงเล็กน้อยที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ก็สามารเข้ารับการทำกายภาพบำบัดได้เลย โปรแกรมการรักษาจะถูกออกแบบให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน มีวิธีการรักษา การใช้อุปกรณ์ และจุดประสงค์แตกต่างกันออกไป โดยนักกายภาพบำบัดจะเป็นผู้แนะนำ

กายภาพบำบัด ทำได้เลย ไม่ต้องรออาการหนัก

เมื่อพูดถึงการทำกายภาพบำบัด หลายคนมักคิดว่าเป็นการบำบัดหรือรักษาในกรณีที่มีอาการหนัก บ้างก็มีภาพจำว่าเป็นการทำกายบริหารให้กับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ป่วยที่กำลังฟื้นตัวจากอุบัติเหตุ จนทำให้มีความเชื่อว่าคนที่จะทำกายภาพบำบัด จะต้องมีอาการหนักอย่างบาดเจ็บจากอุบัติเหตุมา หรือมีอาการเจ็บมากจนทนไม่ไหว แต่ในความเป็นจริงแล้ว กายภาพบำบัดเป็นหนึ่งในสาขาของเวชศาสตร์ฟื้นฟู ที่ช่วยป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วย ดังนั้น การทำกายภาพบำบัดจึงไม่จำเป็นต้องรอให้มีอาการหนัก แค่รู้สึกว่าได้รับผลกระทบจนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้อย่างเต็มที่ ก็สามารถเริ่มทำกายภาพบำบัดได้แล้ว

เพราะฉะนั้น การทำกายภาพบำบัด จึงไม่จำเป็นต้องรอให้มีอาการหนักก่อนแล้วค่อยทำ และไม่ควรรอให้มีอาการหนัก เพียงแค่รู้สึกว่าตนเองมีปัญหาทางร่างกายจากการบาดเจ็บ หรือได้รับผลข้างเคียงจนทำกิจวัตรประจำวันได้ไม่เต็มที่หรือรู้สึกใช้ชีวิตไม่สะดวก ก็สามารถทำกายภาพบำบัดได้ โดยการกายภาพบำบัดเป็นการรักษาและฟื้นฟูร่างกายที่เกิดอาการบาดเจ็บ รวมถึงเสริมสร้างความสามารถในการใช้ร่างกาย ด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น การดึง นวด ประคบ ร่วมกับการใช้เครื่องมือกายภาพบำบัดอื่น ๆ และการบริหารร่างกาย

การกายภาพบำบัดจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ป่วยที่ต้องการลดความเจ็บปวด และเสริมสร้างการทำงานของร่างกายให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงเดิมมากที่สุดโดยไม่ต้องผ่าตัด ไม่ต้องพึ่งยา นอกจากนี้ การกายภาพบำบัดยังช่วยให้เรารู้จักวิธีป้องกันการได้รับบาดเจ็บ อันจะเป็นสาเหตุให้ร่างกายเสื่อมสมรรถภาพในการเคลื่อนไหวได้อีกด้วย การกายภาพบำบัดจึงไม่จำเป็นต้องรอให้ป่วยเท่านั้น

สำหรับขั้นตอนการรักษาด้วยกายภาพบำบัด จะถูกออกแบบให้เหมาะสมกับอาการและสรีระของผู้ป่วย จึงต้องมีการตรวจประเมินร่างกาย ตรวจโครงสร้างสรีระของร่างกาย ซักประวัติเพื่อหาต้นตอและสาเหตุของการบาดเจ็บ จากนั้นจะมีการวิเคราะห์อาการบาดเจ็บว่าเกิดจากอะไร ระยะของโรคอยู่ที่เท่าไร เพื่อวางแผนการรักษา ซึ่งจากการตรวจประเมินร่างกาย นักกายภาพบำบัดก็มักจะพบความผิดปกติของโครงสร้างร่างกายที่มีความสัมพันธ์กันกับพฤติกรรม ดังนั้น หากจำเป็น นักกายภาพบำบัดอาจต้องใช้ผลการเอกซเรย์หรือต้องทำ MRI เพื่อประกอบการรักษา

ทำไมถึงต้องรีบกายภาพบำบัด อย่ารออาการหนัก

จริง ๆ แล้ว ศาสตร์ของกายภาพบำบัด สามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการบาดเจ็บ เพื่อเสริมสร้างหรือป้องกันสุขภาพ (Prevention) ส่วนการทำกายภาพบำบัดในขณะที่มีอาการบาดเจ็บ จะเน้นเป็นการรักษา (Treatment) ด้วยการใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด การทำหัตถการ หรือการบริหารร่างกาย และหลังการบาดเจ็บ อาจจะยังต้องทำกายภาพบำบัดต่อเนื่องอีกสักระยะเพื่อฟื้นฟูร่างกาย (Rehabilitation) เพื่อให้สามารถกลับไปทำกิจกรรมเดิมได้เป็นปกติ ดังนั้นแล้ว หากพบว่าร่างกายมีความผิดปกติ จึงต้องรีบปรึกษานักกายภาพบำบัดว่าเป็นอาการที่ต้องกังวลมากน้อยแค่ไหน จากนั้นก็รีบทำการรักษา ไม่ใช่รอให้มีอาการหนัก

1. เพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บเรื้อรัง

การเริ่มทำกายภาพบำบัดตั้งแต่เริ่มรู้สึกว่ามีอาการเบา ๆ เช่น ปวดหลัง ปวดคอ ปวดข้อ อาการเหล่านี้สามารถฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็วหากรีบรักษา ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการบาดเจ็บเรื้อรังไม่หาย และพัฒนาเป็นปัญหาสุขภาพที่น่ากังวลใจและรักษาให้หายลำบาก เช่น หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท หรือข้อเสื่อม นอกจากนี้ยังลดโอกาสที่จะพิการ ลดโอกาสที่จะต้องผ่าตัด

2. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา

การรีบทำกายภาพบำบัดตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยฟื้นฟูร่างกายได้เร็วและมีประสิทธิภาพกว่าเมื่อเทียบกับการรักษาอาการที่มีความรุนแรงในระดับหนึ่งไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บางตำแหน่งที่มีอาการเจ็บปวดรุนแรง อาจต้องใช้เวลาฟื้นฟูนาน รวมถึงอาจมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวที่แก้ไขยากขึ้น ซึ่งก็เหมือนกับอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่ถ้ารู้เร็ว รักษาเร็ว ก็มีโอกาสหายขาด หรือกลับมาเป็นปกติใกล้เคียงเดิมมากที่สุด และป้องกันการเกิดอาการที่รุนแรงขึ้น

ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับโปรแกรมในการรักษาว่าต้องทำต่อเนื่องหรือไม่ ถ้าต้องทำต่อเนื่อง ความถี่ที่เหมาะสมในการทำกายภาพบำบัดในช่วงแรกควรทำต่อเนื่องสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ต่อเนื่องประมาณ 3-4 สัปดาห์ หลังจากนั้น เมื่อกล้ามเนื้อฟื้นฟูดีขึ้น ร่างกายจะสามารถใช้งานได้ปกติและสามารถหยุดทำกายภาพบำบัดได้ แต่ต้องบริหารและยืดกล้ามเนื้อบริเวณที่เป็นปัญหาอย่างสม่ำเสมอ

3. ลดการพึ่งยาและการผ่าตัด

หลายคนไม่ค่อยอยากที่จะกินยาแก้ปวดมากเกินไป เพราะยามักมีผลข้างเคียง และก็ไม่อยากที่จะผ่าตัดด้วย เพราะฉะนั้น ก่อนที่อาการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ กลายเป็นอาการบาดเจ็บเรื้อรังที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น คือการเริ่มทำกายภาพบำบัดตั้งแต่ต้น จะช่วยหลีกเลี่ยงเรื่องการใช้ยาแก้ปวดและเลี่ยงการผ่าตัดที่มีค่าใช้จ่ายสูงและต้องใช้เวลาในการพักฟื้น

4. ช่วยส่งเสริมสุขภาพโดยรวม

การกายภาพบำบัด ไม่เพียงแต่ช่วยลดอาการเจ็บปวดหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ เพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อ และปรับสมดุลของร่างกายอย่างยั่งยืน แก้ไขความบกพร่องของร่างกาย ลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บซ้ำซาก

5. สามารถทำได้ทุกช่วงวัย

เพราะหลายคนมีภาพจำว่าการทำกายภาพบำบัดมักทำกับผู้สูงอายุ หรือในคนที่มีการบาดเจ็บรุนแรงจากอุบัติเหตุ ทั้งที่ในความเป็นจริงกายภาพบำบัดสามารถทำได้ทุกช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ การกายภาพบำบัดจะถูกออกแบบให้เหมาะสมกับผู้ป่วยอยู่แล้ว เพื่อให้ช่วยฟื้นฟูและเสริมสมรรถภาพของร่างกาย ไม่จำเป็นต้องรอจนเกิดปัญหาหนัก

อาการแบบไหนที่ควรพิจารณาทำกายภาพบำบัด

ปกติแล้ว การทำกายภาพบำบัดไม่จำเป็นต้องรอให้แพทย์เป็นผู้สั่งเสมอไป หากมีอาการเจ็บปวดจากการใช้งานอวัยวะต่าง ๆ ผิดท่า บาดเจ็บจากการออกกำลังกาย หรือบาดเจ็บจากพฤติกรรมสุขภาพซ้ำ ๆ ก็สามารถใช้บริการกายภาพบำบัดตามคลินิกต่าง ๆ ได้เลย แต่หากมีอาการรุนแรง หรือบาดเจ็บหนัก ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาก่อน และอาจทำกายภาพบำบัดควบคู่กันไปเพื่อฟื้นฟูสุขภาพเมื่อแพทย์อนุญาต ซึ่งถ้าหากว่ามีอาการเหล่านี้ สามารถพิจารณาทำกายภาพบำบัดได้เลย

  • ผู้ที่มีอาการปวดกระดูก กล้ามเนื้อ หรือข้อ หลังการใช้งานหนัก ปวด ๆ หาย ๆ หรือปวดเกิน 1 สัปดาห์แล้วยังไม่ดีขึ้น เช่น ปวดคอ บ่า หลัง เข่า
  • ผู้ที่มีภาวะข้อติด เช่น ข้อไหล่ติด นิ้วล็อก
  • รู้สึกเจ็บเมื่อเคลื่อนไหวบางท่า
  • มีอาการชา จากการถูกกดทับของเส้นประสาท
  • ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพฤกษ์ อัมพาต
  • มีปัญหาด้านการทรงตัว การเดิน มีการเคลื่อนไหวที่ไม่สมดุล
  • เคยบาดเจ็บและรู้สึกว่าการฟื้นฟูยังไม่สมบูรณ์
  • ผู้ป่วยที่ต้องฟื้นตัวหลังผ่าตัดหรืออุบัติเหตุ