โลกของการทำงานมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการมาของเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ทำให้คนทำงานในหลาย ๆ ตำแหน่งรู้สึกร้อน ๆ หนาว ๆ กลัวว่าจะหลุดจากระบบการทำงานเข้าในสักวัน ดังนั้น ในฐานะคนทำงาน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวและหมั่นพัฒนาตัวเองอยู่เสมอเพื่อให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และที่สำคัญที่สุด คือการที่คุณยังคงได้ไปต่อในสนามของการทำงาน แม้ว่าความต้องการขององค์กรจะเปลี่ยนไป
ปัจจุบัน ความต้องการในตลาดแรงงานเปลี่ยนไปมากพอสมควร ทำให้เหล่านายจ้างหรือองค์กรต่าง ๆ มักจะคาดหวังทักษะระดับสูงจากคนทำงาน ทั้งคนที่ทำงานอยู่เดิมกับองค์กรอยู่แล้ว หรือพนักงานใหม่ที่เตรียมสรรหามานั่งในตำแหน่งต่าง ๆ เพราะคนทำงานที่มีทักษะสูง มีความสามารถครบครันในทุกด้าน จะกลายเป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญที่พาองค์กรไปสู่จุดที่ดีกว่าได้ ด้วยเหตุนี้ การ Reskilling และ Upskilling ของคนทำงาน จึงเป็นสิ่งที่คนทำงานต้องทำอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมสำหรับงานที่ตนเองทำอยู่แล้ว รวมถึงพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ให้ครอบคลุมหลาย ๆ ด้าน โดยอาจเน้นเรื่องที่เกี่ยวกับงานเดิมโดยตรง หรือสิ่งใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อนก็ได้เช่นกัน
ในปี 2025 มีเทรนด์ที่เกี่ยวกับทักษะการทำงานที่เป็นที่ต้องการของเหล่านายจ้างอยู่หลายทักษะ ข้อมูลจาก World Economic Forum เผยถึงรายงานอนาคตการจ้างงานเมื่อปี 2020 (The Future of Jobs Report 2020) ที่เปิดเผยว่า พนักงานทั้งหมด 50% จะต้องได้รับการฝึกอบรมทักษะใหม่ภายในปี 2025 เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงานเพิ่มมากขึ้น โดย “การคิดอย่างมีวิจารณญาณและการแก้ปัญหา” เป็นทักษะอันดับต้น ๆ ที่นายจ้างเชื่อว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งก็คือในปี 2025 นี้
นอกจากนี้ World Economic Forum ยังระบุว่า ที่ผ่านมาโลกการทำงานเผชิญกับภาวะ “Double disruption” ทั้งจากแพร่ระบาดของโรคใหม่ ๆ และระบบ Automation ที่เข้ามาทดแทนการจ้างคน โดยมีการประเมินว่าภายในปี 2025 งาน 85 ล้านตำแหน่งอาจถูกแทนที่ด้วยการแบ่งงานระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร แต่ก็จะมีงานเพิ่มขึ้นอีก 97 ล้านตำแหน่ง ซึ่งเหมาะสมกับการแบ่งงานใหม่ระหว่างมนุษย์ เครื่องจักร และอัลกอริทึม ซึ่งจากประเมินทักษะการทำงานใน 10 อันดับแรก พบว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มมากขึ้นจะส่งผลให้คนที่มีทักษะด้านการใช้และพัฒนาเทคโนโลยี เป็นที่ต้องการในสายงานต่าง ๆ ในอีก 5 ปีข้างหน้า
ส่วนรายงานอนาคตการจ้างงานปี 2025 (The Future of Jobs Report 2025) ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การแยกตัวของภูมิเศรษฐกิจ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางประชากร และการเปลี่ยนผ่านสีเขียว ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะกำหนดทิศทางและเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานโลกภายในปี 2030 ทั้งในระดับบุคคลและภาพรวม
โดย การขยายการเข้าถึงดิจิทัล คาดว่าจะเป็นเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุด โดย 60% ของนายจ้างคาดว่าจะเปลี่ยนแปลงธุรกิจของพวกเขาภายในปี 2030 ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น AI และการประมวลผลข้อมูล (86%) หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (58%) และการผลิต จัดเก็บ และแจกจ่ายพลังงาน (41%) ก็เป็นที่คาดหวังว่าจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เทรนด์เหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน ทั้งในแง่การเติบโตและการลดลงของตำแหน่งงาน พร้อมทั้งกระตุ้นความต้องการทักษะด้านเทคโนโลยี เช่น AI และ Big Data เครือข่ายและความปลอดภัยทางไซเบอร์ และความรู้ทางเทคโนโลยี ซึ่งคาดว่าจะเป็น 3 ทักษะที่เติบโตเร็วที่สุด
10 ทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานที่โลกปี 2025 ต้องการ
แบ่งออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ 4 กลุ่ม คือ
1. ทักษะด้านการคิดและการแก้ไขปัญหา
เป็นเรื่องธรรมดาที่การทำงานจะต้องมีปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้น และในอนาคต ปัญหาเหล่านั้นก็อาจจะมีความยากและซับซ้อนมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น โลกยุคใหม่จึงต้องการคนทำงานที่ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งงานไหนก็ตาม จะต้องมีทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจ และการแก้ไขปัญหา เพื่อจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงานและปัญหาขององค์กร นี่จึงเป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นมากสำหรับโลกของการทำงานตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป ดังจะเห็นได้ว่ามีการจัดกลุ่มทักษะย่อยมากถึง 5 ใน 10 ทักษะจำเป็น ให้อยู่ในกลุ่มทักษะที่เกี่ยวข้องกับการคิดวิเคราะห์และการตัดสินใจแก้ปัญหา โดยทักษะย่อยที่สำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่
1) การคิดเชิงวิเคราะห์และการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Analytical and Innovation) เป็นความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างลึกซึ้งเพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์หรือปัญหาโดยละเอียดรอบคอบ และพัฒนาวิธีแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ มีกระบวนการตัดสินใจอย่างเป็นขั้นเป็นตอน รวมถึงการออกแบบและสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่แปลกใหม่น่าสนใจ และการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับธุรกิจ
2) ทักษะการแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน (Complex problem-solving) เป็นความสามารถในการระบุปัญหาที่ซับซ้อน สามารถวิเคราะห์องค์ประกอบ และออกแบบวิธีแก้ปัญหาที่ใช้ได้จริงและมีประสิทธิภาพ ทักษะนี้จำเป็นต่อสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย เช่น การจัดการโครงการใหญ่ ๆ ขององค์กร การแก้ไขปัญหาองค์กร รวมถึงการบริหารความเสี่ยง
3) การคิดและการวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ (Critical thinking and analysis) เป็นความสามารถในการตั้งคำถามจากสิ่งที่สงสัย จากนั้นตรวจสอบข้อมูล และวิเคราะห์เพื่อหาข้อสรุปหรือข้อโต้แย้งอย่างมีเหตุผล ใช้เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในยุคสมัยที่มีข้อมูลมากมายมหาศาล เพื่อช่วยในการตัดสินใจที่ดีขึ้น
4) ทักษะความคิดสร้างสรรค์และความคิดริเริ่ม (Creative, originality, and initiative) เป็นความสามารถในการสร้างสรรค์ไอเดียหรือแนวคิดใหม่ที่แปลกใหม่และเป็นเอกลักษณ์ และมีความกระตือรือร้นที่จะนำไอเดียเหล่านั้นไปปฏิบัติจริงเพื่อให้เห็นเป็นผลงาน ซึ่งนี่เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนานวัตกรรม การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง รวมถึงสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
5) การมีเหตุผล ทักษะแก้ไขปัญหา และการระดมความคิด (Reasoning, problem-solving, and ideation) เป็นความสามารถในการคิดหาเหตุผลเชิงตรรกะเพื่อแก้ไขปัญหา รวมถึงการระดมความคิดเพื่อค้นหาวิธีการที่เหมาะสมที่สุด เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนากลยุทธ์ การตัดสินใจที่ซับซ้อน และการสร้างแผนงานใหม่
2. ทักษะการบริหารจัดการตัวเอง
ทักษะในกลุ่มนี้เป็นทักษะที่ถูกเพิ่มเข้ามาใหม่หลังจากที่เกิดวิกฤติโรคระบาดตั้งแต่ในช่วงปี 2020 เพราะไม่ใช่เพียงแค่องค์กรที่ต้องเผชิญกับวิกฤติโรคระบาด แต่คนทำงานก็ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายไม่ต่างกัน หลังจากที่วิกฤติคลี่คลาย ทุกคนก้าวข้ามผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากมาได้แล้ว องค์กรจึงคาดหวังจากคนทำงานว่าจะต้องมีเทคนิคที่ดีในการบริหารจัดการตัวเอง มีความสามารถในการรับมือกับปัญหา สามารถจัดการกับอารมณ์และความกดดัน รู้จักพัฒนาตัวเอง ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อติดอาวุธอย่างเตรียมพร้อม และพร้อมปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทักษะเหล่านี้เป็นทักษะที่คนทำงานควรพัฒนาและฝึกฝนอยู่เสมอเพื่อให้ก้าวหน้าอย่างเป็นมืออาชีพ ทักษะย่อยที่สำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่
6) การเรียนรู้เชิงรุก และมีกลยุทธ์ในการเรียนรู้ (Active learning and learning strategies) เป็นความสามารถในการใฝ่เรียนรู้อย่างกระตือรือร้น ใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อปรับตัวและพัฒนาทักษะใหม่ ๆ นี่เป็นทักษะที่จำเป็นมากในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถพัฒนาตนเองและตอบสนองต่อความต้องการต่อการทำงานได้ทันที
7) การจัดการความเครียด การควบคุมอารมณ์ และรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ (Resilience, stress tolerance, and flexibility) เป็นความสามารถในการรับมือกับอารมณ์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นความกดดัน ความล้มเหลว สถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน และต้องฟื้นตัวให้เร็ว หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ล้มแล้วก็รีบลุก เพราะโลกของการทำงานในอนาคตจะเป็นยุคที่มีความไม่แน่นอนและเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง อีกทั้งเรื่องของจิตใจเป็นเรื่องสำคัญที่คนทำงานต้องหันมาให้ความสำคัญ คนทำงานต้องมีวิธีที่จะจัดการกับความเครียดที่มีเพื่อไม่ให้ตัวเองต้องรู้สึกไม่ดีนาน ๆ ควบคุมอารมณ์ให้ได้ และมีวุฒิภาวะในการรับมือกับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
3. ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น
ในโลกของการทำงาน เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งนอกจากการทำงานเป็นทีมแล้ว ยังต้องการผู้นำที่มีอุดมการณ์ มีเป้าหมาย และมีความสามารถในการดึงศักยภาพสูงสุดของทุกคนในทีมออกมา และสร้างแรงบันดาลใจ สร้างสังคมการทำงานที่ทุกคนจะสามารถมีส่วนร่วมร่วมกัน เพื่อช่วยขับเคลื่อนโลกไปข้างหน้า และผลักดันให้องค์กรไปถึงจุดที่ตั้งเป้าหมายไว้ ทักษะย่อยที่สำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่
8) ทักษะการเป็นผู้นำและสร้างแรงบันดาลใจ (Leadership and social Influence) เป็นความสามารถในการเป็นผู้นำที่จะนำทีม กระตุ้นสมาชิก และสร้างอิทธิพลเชิงบวกต่อผู้อื่น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างการทำงานร่วมกันในทีม และขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
4. ทักษะการใช้และพัฒนาเทคโนโลยี
นี่เป็นอีกทักษะที่สำคัญมาก ๆ ในโลกยุคดิจิทัลนี้ เพราะโลกปัจจุบันมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มากมาย ในขณะที่โลกของการทำงานก็มีกลไกที่ต้องปรับตัวเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น ในการนำเทคโนโลยีที่มีมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการทำงานด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ใช้ทำงานแทนมนุษย์ในบางตำแหน่งงาน คนทำงานจึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องปรับตัวและมีความสามารถในการจัดการกับเทคโนโลยี ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีให้ได้ ควบคุมให้เป็น
ดังนั้น คนทำงานจึงจำเป็นต้องมีทักษะในการใช้เทคโนโลยี ตลอดจนใช้เครื่องมือดิจิทัลและโปรแกรมใหม่ ๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เป็น เพื่อที่จะได้ตามทันโลกและมีทักษะโดดเด่นตามที่องค์กรต่าง ๆ ต้องการ ไม่ว่าจะเป็น Data & AI, Cloud Computing, Digital Marketing & E-Commerce, Software Engineering หรือ Product Development รวมถึงทักษะด้านการออกแบบและเขียนโปรแกรมก็จะยิ่งมีความต้องการมากขึ้นเช่นกัน ทักษะย่อยที่สำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่
9) ความสามารถใช้ ดูแล และควบคุมเทคโนโลยี (Technology use, monitoring, and control) เป็นความสามารถในการใช้งานและควบคุมเครื่องมือเทคโนโลยีให้เป็น เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และจะได้ไม่ถูกเทคโนโลยีคุกคามการทำงาน นี่เป็นทักษะที่จำเป็นในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกอุตสาหกรรม หากใช้เทคโนโลยีเป็นและควบคุมมันได้ ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องกลัวเทคโนโลยีมาแย่งงาน
10) ทักษะออกแบบเทคโนโลยีและเขียนโปรแกรม (Technology design and programming) เป็นความสามารถในการออกแบบ พัฒนา และเขียนโปรแกรมสำหรับซอฟต์แวร์หรือระบบใหม่ ซึ่งยังคงเป็นทักษะที่มีความต้องการสูงในสายงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี เช่น AI, IoT และระบบอัตโนมัติต่าง ๆ