มิติใหม่ของการทำธุรกิจ ที่ต้องใส่ใจ “คาร์บอนฟุตพรินต์”

นอกจากเรื่องของความยั่งยืน ที่เป็นแนวทางการบริหารธุรกิจที่หลายองค์กรหันมาให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในยุคนี้ ประเด็นของ “การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก” ที่มีความเกี่ยวของกับความยั่งยืนในทุกมิติ ก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่องค์กรจำนวนมากในประเทศไทยกำลังตื่นตัว และผลักดันให้ “คาร์บอนฟุตพรินต์” ถูกนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร เพื่อให้ทราบว่าองค์กรต่าง ๆ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณเท่าไร และจะทำอย่างไรให้ตัวเลขนั้นลดลง

อย่างไรก็ตาม คาร์บอนฟุตพรินต์ไม่ได้มีความสำคัญเฉพาะในแง่ของการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาดที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับความยั่งยืนด้วย จึงได้กลายมาเป็นมิติใหม่ของการทำธุรกิจ ที่ไม่เพียงต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก แต่ยังเป็นโอกาสในการสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับทั้งองค์กรและสังคมโดยรวม

คาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) คืออะไร

กิจกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์มักมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาตามธรรมชาติ เช่น การหายใจ การย่อยอาหาร การขับถ่าย แม้ว่ากระบวนการเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรธรรมชาติ และอาจปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาในปริมาณที่น้อยมาก ๆ แต่ก็มีส่วนในการเพิ่มความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ

เนื่องจากกิจกรรมในชีวิตของมนุษย์ไม่ได้มีเท่านี้ มนุษย์ยังมีการบริโภคและใช้พลังงานในครัวเรือน มนุษย์ทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์ มนุษย์ต้องเดินทางและขนส่ง มนุษย์ทำอุตสาหกรรมและการผลิตต่าง ๆ มนุษย์ใช้ทรัพยากรธรรมชาติมาผลิตเป็นพลังงาน มนุษย์ผลิตขยะ รวมถึงการตัดไม้ทำลายป่า และการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในรูปแบบอื่น ๆ ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นการเพิ่มความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น ในที่สุด ก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ก็กลายมาเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอื่น ๆ และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่นับวันก็ยิ่งทวีความรุนแรง

เมื่อเราตระหนักได้ว่าปัญหาดังกล่าวกำลังคุกคามเราอย่างหนัก หลายภาคส่วนจึงเริ่มตื่นตัวกับการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ตั้งแต่ระดับบุคคล ระดับครัวเรือน จนเป็นภาพที่ใหญ่ขึ้นในระดับองค์กร ระดับอุตสาหกรรม ระดับประเทศ และระดับโลก แต่ถ้าเราจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ เราก็จำเป็นต้องรู้ก่อนว่ากิจกรรมเหล่านั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณเท่าไร แค่ไหนที่เรียกว่ามากว่าน้อย แล้วมาคิดหาวิธีกันต่อว่าจะทำอย่างไรให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง ดังนั้น เราจึงต้องมี “เครื่องมือ” ที่จะวัดว่ากิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากแค่ไหน

ปัจจุบัน คาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) คือเครื่องมือที่ใช้วัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยสามารถบ่งชี้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมของมนุษย์ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ บริการ หรือองค์กร รวมถึงกระบวนการในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะวัดออกมาในรูปตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e)

คาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) คืออะไร

คาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) เป็นวิธีการแสดงข้อมูลปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง การใช้ไฟฟ้า การจัดการของเสีย และการขนส่ง เป้าหมายก็คือ เพื่อให้ภาพรวมของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งในระดับองค์กรและระดับประเทศลดลง

คาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร จะมีการเก็บข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกตลอด 1 ปี มี ISO 14064-1 เป็นมาตรฐานสากลในการกำกับและรับรองในระดับประเทศ กำหนดขอบเขตการดำเนินการออกเป็น 3 ขอบเขต คือ

  1. การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกทางตรง จากแหล่งกำเนิดหรือกิจกรรมต่าง ๆ ภายในองค์กรโดยตรง เช่น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงในเครื่องจักรในโรงงาน การเผาไหม้เชื้อเพลิงในยานพาหนะของบริษัท การปล่อยก๊าซมีเทนจากบ่อบำบัดน้ำเสีย การรั่วซึม/รั่วไหล จากกระบวนการหรือกิจกรรม เป็นต้น
  2. การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม จากการใช้พลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน พลังงานไอน้ำ ที่ซื้อมาจากภายนอกเข้ามาใช้ในองค์กร
  3. การปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การขนส่งสินค้า การเดินทางไปติดต่อธุรกิจ การใช้วัสดุสิ้นเปลือง

โดยขั้นตอนของการทำการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร หลัก ๆ แล้วคือ “วัด-ลด-ชดเชย” กล่าวคือ ต้องทำการ “วัด” ก่อนว่าองค์กรมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากส่วนไหนบ้าง ปล่อยออกมาปริมาณเท่าไรในเชิงตัวเลข ถ้าไม่วัดก็จะไม่ทราบว่าต้อง “ลด” ตรงไหน ในขั้นตอนนี้คือการหาวิธีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ประหยัดการใช้พลังงาน วางแผนซ่อมบำรุงเครื่องจักร ลงทุนในอุปกรณ์ รวมถึงการลงทุนในนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นโซลูชัน เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลในการลดการปล่อยและเพิ่มการดูดกลับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ถ้าการลดเป็นเรื่องยาก ก็สามารถ “ชดเชย” ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำโครงการปลูกป่าหรือฟื้นฟูระบบนิเวศ หรือการซื้อคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) โครงการขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO

ทำไมต้องใส่ใจเรื่องการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร

การประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร กลายเป็นอีกเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เพราะตัวเลขของคาร์บอนฟุตพรินต์จะไม่ได้มีประโยชน์แค่นำไปสู่การลดและชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญในแง่ของการทำธุรกิจด้วย โดยฌฉพาะการติดต่อซื้อขายกับต่างประเทศและองค์กรระดับโลก การจะนำธุรกิจเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของบริษัทใหญ่ ๆ จำเป็นต้องมีข้อมูลการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร ซึ่งจะเป็นใบรับรองว่าผ่านการขึ้นทะเบียนโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

การมีใบรับรองการขึ้นทะเบียน “คาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร” จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าองค์กรมีความตระหนักและได้มีส่วนร่วมต่อสถานการณ์ก๊าซเรือนกระจก และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ด้วยการแสดงข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการดำเนินงานขององค์กร และนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ใบรับรองนี้จะสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันกับคู่แข่งในการทำธุรกิจ เนื่องจากองค์กรใหญ่ ๆ ที่จะทำการซื้อขายกับคู่ค้า ก็เป็นองค์กรที่ต้องตอบสนองกับเทรนด์โลก ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน เมื่อจะทำธุรกิจกับองค์กรอื่น จึงต้องร้องขอใบรับรองดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วย เกิดความแตกต่างระหว่างองค์กรที่มีใบรับรองว่าผ่านการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร กับองค์กรที่ไม่มี แต่ถ้าหากว่าทั้งสององค์กรมีใบรับรองว่าผ่านการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กรทั้งคู่ ตัวเลขของค่าคาร์บอนฟุตพรินต์ที่ต่ำกว่าและต่ำลงจากการพยายามลดการปล่อยและเพิ่มการดูดกลับของก๊าซเรือนกระจก ก็จะยิ่งได้เปรียบ

ไม่เพียงเท่านั้น ปัจจุบันประเทศไทยมีร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ที่จะมีการประกาศใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งจะครอบคลุมเรื่องการกำหนดมาตรฐานและการบริหารจัดการ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดผลกระทบจากคาร์บอนฟุตพรินต์ในระยะยาว เช่น

ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่มีเป้าหมายเพื่อบรรลุการลดก๊าซเรือนกระจก ภายในปี 2065 มีการกำหนดให้ภาคเอกชนต้องรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การจัดทำการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร (CFO) และผลิตภัณฑ์ (CFP) เป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง และยังครอบคลุมถึงระบบการซื้อขายสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิต รวมถึงเรื่องระบบภาษีคาร์บอน นอกจากนี้ยังมี ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิต ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกและการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย โดยกำหนดกรอบการดำเนินงานและมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เพราะก๊าซเรือนกระจก คือตัวการสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่ส่งผลอย่างมากต่อระบบนิเวศ การทำคาร์บอนฟุตพรินต์จะช่วยให้เราเข้าใจถึงผลกระทบของก๊าซเรือนกระจกต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น จากการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ กระตุ้นให้องค์กรต่าง ๆ หาวิธีการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรตนเอง จึงช่วยส่งเสริมสังคมคาร์บอนต่ำ ส่งเสริมความยั่งยืน สร้างภาพลักษณ์ที่ดี และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจด้วย

บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด มีใบรับรองคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร

ด้วยเล็งเห็นความสำคัญในการลดการปล่อยและเพิ่มการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด จึงจัดทำรายงานบัญชีรายการปริมาณก๊าซเรือนกระจก โดยมีจุดมุ่งหมายในการลดการปล่อย เพิ่มการดูดกลับ และสามารถทวนสอบผลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเป็นแนวทางบรรลุเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนในองค์กร 10% ภายในปี 2578 (ค.ศ. 2035) บรรลุเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) และบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ให้ได้ภายในปี 2608 (ค.ศ. 2065) โดยยื่นขอการรับรองคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์

วันที่ 5 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด (สำนักงานใหญ่) ได้รับใบรับรองว่าเป็นองค์กรที่ได้ขึ้นทะเบียนและขอรับรองการแสดงปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์ ในปี 2565 จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดและแนวทางการจัดการก๊าซเรือนกระจกในองค์กร

ไม่เพียงเท่านั้น บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด ยังให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมชดเชยคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง ด้วยกิจกรรมปลูกป่าเพิ่มต้นไม้สีเขียว แหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ และนำไปกักเก็บในรูปของพลังงานชีวมวล รวมถึงเพื่อทดแทนกับปริมาณกระดาษที่บริษัทนำมาใช้ในกระบวนการต่าง ๆ เช่น กล่องบรรจุภัณฑ์ และกระดาษที่ใช้ในสำนักงานอีกด้วย จึงแสดงให้เห็นว่า บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด ให้ความสำคัญกับเรื่องของการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางของความยั่งยืนอย่างจริงจัง

การประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร สามารถประยุกต์ใช้ได้กับองค์กรทุกประเภทและทุกขนาด เป็นวิธีการแสดงข้อมูลบัญชีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานระดับองค์กร ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างตรงจุด มีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้สูงสุด ทั้งยังนำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายขององค์กรจากการลดใช้การใช้พลังงาน และสามารถใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สนับสนุนและมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนของประเทศไทย และเป็นตัวชี้วัดให้แก่องค์กรในโครงการประเมินและจัดระดับธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนด้วยนั่นเอง

บทความประชาสัมพันธ์จาก : บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด www.apollothai.com
ติดต่อเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE ID : @apollothailand