ในขณะที่ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ทำยอดขายได้อย่างต่อเนื่องทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ ซึ่งแนวคิดหลักของการผลิตรถพลังงานทางเลือกนี้ จริง ๆ แล้วคือการลดมลพิษจากการการเผาไหม้เครื่องยนต์สัปดาปสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ก็ต้องยอมรับตรง ๆ ครับว่าคนส่วนใหญ่ (รวมถึงผมด้วย) หากจะพิจารณาซื้อรถไฟฟ้า เป้าหมายหลักไม่ใช่เรื่องรักษ์โลกแต่อย่างใด
จากที่ผมเองเคยได้ทดสอบขับรถ EV หลากหลายรุ่นแบบใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน รู้ได้เลยว่าเหตุใดยอดจองในบ้านเราถึงก้าวกระโดดมากในช่วง 2 ปีล่าสุด เหตุผลสำคัญเลยคือการประหยัดเงินในกระเป๋า เพราะรถ EV หากเทียบกับการใช้รถเชื้อเพลิง มันประหยัดกว่าราว 4-5 เท่าเลยทีเดียว นั่นคือเหตุผลลำดับต้น ๆ ที่คนตัดสินใจซื้อรถ EV มาใช้งาน
ย้อนไปเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่บ้านเรายังเป็นวันหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ผมได้รับอีเมลฉบับหนึ่งจาก Formula1.com ที่ส่งรายงาน F1 Impact Report ให้กับเหล่าสมาชิกที่เคยใช้บริการข้อมูลข่าวสารของเอฟวัน ซึ่งในอดีตผมเคยสมัครเป็นสมาชิกซื้อแพ็กเกจติดตาม Live Timing เพื่อติดตามผลการแข่งขันแต่ละสนามอยู่หลายซีซัน
ตามปกติแล้วผมมักจะไม่ได้สนใจอีเมลจากเอฟวันสักเท่าไร เพราะส่วนใหญ่จะเป็นข่าวประชาสัมพันธ์หรือข่าวขายของเพื่อให้ซื้อแพ็กเพจต่าง ๆ แต่ครั้งนี้สิ่งที่สะดุดตา คือ ข้อความในอีเมลที่บอกว่า “นี่คือรายงานเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมฉบับแรกจากฟอร์มูล่า วัน” ซึ่งเป็นเอกสารไฟล์ .pdf จำนวน 63 หน้า แนบมาให้คลิกดาวน์โหลดด้วย
หลังจากได้คลิกอ่านดูแล้ว สรุปรวบรัดภายในหนึ่งบรรทัดก็คือ นี่คือข้อมูลที่เอฟวัน ซึ่งเป็นอีเวนต์แข่งรถอันดับ 1 ของโลก วางเป้าหมายมาตั้งแต่ปี 2018 กับการที่จะไปสู่เป้าหมาย Net Zero Carbon ในปี 2030 ซึ่งในรายงานฉบับนี้ระบุชัดเจนครับว่า นับจากปี 2018 มาถึงปี 2022 การแข่งขันเอฟวันลดปริมาณการคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศลงถึง 13 เปอร์เซ็นต์ และกำลังเดินไปสู่เป้าหมายปี 2030
นั่นเป็นข้อมูลที่ผมกำลังจะสื่อให้เห็นภาพว่า การแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตเบอร์หนึ่งของโลก มีเป้าหมายชัดเจนที่จะให้รถแข่งใช้เชื้อเพลิงแบบ Sustainable Fuel หรือนํ้ามันเชื้อเพลิงชีวภาพที่ไม่ได้ถูกกลั่นมาจากน้ำมันดิบ และนั่นก็หมายความว่า เครื่องยนต์แบบสันดาปยังจะได้รับการพัฒนาต่อไป ส่วนพลังงานจากมอเตอร์ไฟฟ้าก็จะได้รับการพัฒนาควบคู่กันไปในรูปแบบไฮบริดเหมือนเดิม
จริงอยู่ครับว่าในมุมมองส่วนตัว เอฟวันยุคนี้ที่ลดขนาดเครื่องยนต์ลงมา มีระบบไฟฟ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง มีเทคโนโลยีต่าง ๆ อัดแน่นเข้ามา ทำให้เครื่องยนต์เล็กลง แต่คงประสิทธิภาพความแรงเอาไว้ ความสนุกจากการรับชม ทั้งอรรถรสจากเสียงเครื่องยนต์ หรือการขับเคี่ยวกันของนักขับที่ไม่ต้องพึ่งเทคโนโลยีอะไรมาก อาจสู้ยุคเก่าไม่ได้ แต่นี่คือยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ซึ่งทั้งหมดมันคือนวัตกรรมที่ถูกส่งต่อมายังรถบ้านทั้งสิ้น
หากใครได้ติดตามข่าวการแข่งขันเอฟวัน ผู้จัดรวมถึงองค์กรอย่างเอฟไอเอ ซึ่งริเริ่มการแข่งขันรถสูตรไฟฟ้า (ฟอร์มูล่า อี) ไม่เคยพูดเลยว่า ฟอร์มูล่า อี จะเข้ามาแทน เอฟวัน ในอนาคต มีแต่การตั้งเป้าจะทำอย่างไรให้ใช้เครื่องยนต์สันดาปต่อไปได้ โดยที่การปล่อยมลพิษลดลงหรือกระทั่งปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ไปขนาดนั้นเลย
รวมไปถึงยังมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2030 ซึ่งจะมีรถยนต์ทั่วโลกราว 1.8 พันล้านคัน จะมีรถไฟฟ้าร้อยเปอร์เซ็นต์ (EV) วิ่งบนท้องถนนแค่ 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งคาดกันว่าเชื้อเพลิงสังเคราะห์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ (e-fuels) ที่หลายค่ายกำลังพัฒนา และเชื้อเพลิงชีวภาพแบบที่เอฟวันกำลังเตรียมมาใช้ในปี 2026 จะเข้ามามีบทบาทมากที่สุด
สุดท้ายไม่แปลกใจเลยครับที่ ประธานใหญ่โตโยต้า อย่าง อากิโอะ โทโยดะ จะออกมายืนยันเสียงแข็งว่า EV ไม่ใช่ทั้งหมดของวงการยานยนต์โลก เพราะระดับ “ฟอร์มูล่า วัน” ยังวางเป้ามาขนาดนี้ รับรองได้ว่า “เครื่องยนต์” ได้ไปต่อแน่นอน เพียงแต่ว่าจะใช้เชื้อเพลิงแบบไหนมาเติมเท่านั้นเองครับ