ช่วงนี้ หากใครไถโซเชียลมีเดียอยู่เป็นประจำ จะเห็นว่ามี “เทรนด์” อยู่เทรนด์หนึ่งที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมาก และกลายเป็นแฟชั่นที่ใครต่อใครก็เริ่มทำตาม ซึ่งก็คือ Loud Budgeting มันคือเทรนด์ที่กำลังมาแรงในกลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียลและ Gen Z พฤติกรรมก็คือ “การอวดความประหยัด” เช่น ซื้อของดีในราคาที่ถูกกว่า ประสบความสำเร็จในการใช้งบตามที่ตั้งไว้ มีเงินเหลือเก็บมากขึ้น หรือห้ามใจที่จะไม่ซื้อของฟุ่มเฟือยได้ จะเห็นว่าช่างเป็นเทรนด์ที่เหมาะกับสถานการณ์เศรษฐกิจในยุคค่าครองชีพค่าแรงถูก ว่าจะทำยังไงให้ใช้เงินให้ได้น้อยลง ซื้อแค่ของจำเป็น และมีเงินเก็บมากขึ้น มาดูกันว่าเทรนด์นี้มันเป็นยังไง และมีประโยชน์อะไรกับเราบ้าง
เทรนด์ Loud Budgeting คืออะไร และมาจากไหน
Loud Budgeting คำนี้เริ่มเป็นที่พูดถึงอย่างมากในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เริ่มแพร่ระบาดครั้งแรก ๆ เมื่อช่วงต้นปี 2024 บนแพลตฟอร์ม TikTok เป็นคลิปวิดีโอที่มียอดวิวมากกว่า 1.4 ล้านครั้ง เริ่มจาก TikToker คนหนึ่งที่มีชื่อว่า Lukas Battle ได้ออกมาแชร์แนวคิดการประหยัดเงินที่เรียกว่า Loud Budgeting ซึ่งเป็นวิธีการใช้เงินแบบคนมีเงินที่ใช้ชีวิตเรียบง่าย ติดดิน ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และไม่ยึดติดกับแบรนด์เนม โดยมีคติที่ว่า “เราไม่จำเป็นต้องซื้อของราคาแพงตามเทรนด์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งนั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีเงินจะจ่ายนะ เราก็แค่เลือกที่จะไม่จ่ายเท่านั้นเอง”
หลังจากที่มียอดผู้เข้าชมคลิปเป็นจำนวนมาก และมีการติดแฮชแท็ก #loudbudgeting เพื่อเข้าร่วมเทรนด์นี้ กลายเป็นว่ามีผู้คนมากมายที่สนใจจะป่าวประกาศเกี่ยวกับแผนทางการเงินของตัวเอง ที่ตั้งใจจะใช้จ่ายเงินให้เหมาะสมกับสถานะทางการเงินมากขึ้น ประหยัด เก็บออม และไม่สนใจด้วยว่าคนอื่นจะอวดรวยกันแค่ไหน จากนั้นก็ชักชวนผู้คนรอบข้างมาร่วมกัน “อวดและแข่งขันกันประหยัด แล้วดูว่าใครจะมีเงินเก็บมากกว่า”
Loud Budgeting ที่สามารถเข้าใจได้ว่าเป็นการตั้งงบประมาณแบบตะโกนดัง ๆ มันคือการที่เราประกาศบอกใครต่อใครไปแล้วว่า “ฉันจะประหยัด ฉันจะใช้เงินตามงบประมาณที่ตั้งไว้เท่านั้น ไม่เกินไปกว่านี้” มันจึงเท่ากับเป็นการบังคับตัวเองไปในตัวว่าฉันจะฟุ่มเฟือยไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะล้มเหลว (เพราะฉันบอกใครต่อใครไปแล้ว) ซึ่งเทรนด์นี้กำลังมาแรงในกลุ่มคน Gen Z และมิลเลนเนียลที่เริ่มวางแผนการใช้เงินไปกับสิ่งที่ตัวเองให้คุณค่าหรือสิ่งของที่มีความจำเป็นเท่านั้น และไม่จำเป็นต้องซื้อสินค้าตามเทรนด์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองดูดี
และถ้าหากสังเกตดี ๆ เทรนด์ Loud Budgeting เป็นขั้วตรงข้ามของเทรนด์ Quiet Luxury ที่แสดงออกแบบ “น้อยแต่มาก-เรียบแต่แพง” ซึ่งเป็นเทรนด์แฟชั่นที่ได้รับความนิยมก่อนหน้านี้ หรือถ้าให้อธิบายก็คือ เป็นเทรนด์แฟชั่นที่ดูแพงแบบเงียบ ๆ ไม่ตะโกน หรูหรามีระดับ น้อยแต่มาก ใช้ของแพงที่ไม่มีโลโก้บ่งบอกว่าเป็นแบรน์หรู แต่เห็นแว่บเดียวก็ชัดเจนว่าเป็นสินค้าที่ไม่ธรรมดา ซึ่งยังคงให้คุณค่ากับการใช้เงินเกินความจำเป็นเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ “หรูหรา ดูรวย ดูแพง แค่ไม่ตะโกน” แต่การมาของ Loud Budgeting ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากความเงียบไปสู่การตะโกน ตะโกนบอกว่าฉันจะใช้จ่ายอย่างประหยัด แล้วมาแข่งกันว่าใครประหยัดได้มากกว่ากัน
ทำไม Loud Budgeting จึงจุดติดและการเป็นเทรนด์ฮิตขึ้นมา
ถ้าอ้างอิงกันตามพฤติกรรมมนุษย์ที่มีความอยากรู้ อยากเห็น อยากลอง และกลัวพลาดสิ่งสำคัญ จริง ๆ แค่บอกว่ามันเป็นเทรนด์ฮิต ก็เชื่อได้เลยว่าจะมีคนจำนวนมากแห่กันทำตามเป็นวงกว้างในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่เมื่อมันเป็นเรื่องของการใช้จ่ายเงินอย่างชาญฉลาดในยุคที่เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ รวมถึงมีผู้คนมากมายที่เครียดเรื่องการเงินจนนอนไม่หลับ หากเสนอวิธีที่จะทำให้คนเหล่านี้เครียดเรื่องเงินน้อยลง แน่นอนว่ามันจุดติดได้ในไม่ช้า
การที่โลกพลิกกลับจากเทรนด์ความรวยสู่ความประหยัด มีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศที่เป็นมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐอเมริกา เผยผลการวิจัยโดย Empower พบว่าชาวอเมริกันกว่าร้อยละ 73 มีความกังวลเรื่องของความมั่นคงทางการเงิน พวกเขารู้สึกเครียดกับสถานการณ์ทางการเงินของตนเอง และกว่าครึ่งหนึ่งของคนกลุ่มนี้ ซึ่งก็คือร้อยละ 56 ของคนกลุ่ม Gen Z และร้อยละ 51 ของคนกลุ่มมิลเลนเนียล เครียดเรื่องการเงินมากจนนอนไม่หลับ! เลยทีเดียว
ซึ่งหลังจากที่ Lukas Battle ได้แชร์แนวคิดการประหยัดเงินที่เน้นความเรียบง่ายและติดดิน ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยและไม่ยึดติดกับแบรนด์เนม (แม้ว่าเราจะมีกำลังจ่ายก็ตาม) เกิดแฮชแท็ก #loudbudgeting ในแพลตฟอร์ม TikTok ที่มีคนสนใจชมจนทะลุ 10 ล้านวิว ก็มีคนที่เห็นด้วยกับสิ่งที่ Lukas Battle เสนอ ที่ว่า “ไม่ใช่ว่าฉันไม่มีกำลังจ่ายนะ แต่ฉันแค่เลือกที่จะไม่จ่าย” จนออกมาร่วมเทรนด์ #loudbudgeting เป็นจำนวนมาก มันเลยกลายเป็นเทรนด์ไวรัล ที่นำเสนอแฟชั่นการเงินที่ดูมีสไตล์และชิค ๆ ขึ้นมาทันที และใครที่ไม่อยากพลาดเทรนด์ดังที่คนมากมายเข้าร่วม ก็จะเข้าร่วมเทรนด์นี้ตาม!
อย่างไรก็ตาม เทรนด์ Loud Budgeting ไม่ได้มีแค่คนธรรมดาที่ให้ความสนใจ เพราะ Erica Sandberg ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินของ CardRates บริษัทให้ความรู้เกี่ยวกับบัตรเครดิต ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงที่ว่า ถ้าเราลองทำตามเทรนด์ Loud Budgeting ที่ว่านี้ มันช่วยให้ความเครียดเรื่องเงินของเราลดลงได้จริง และช่วยให้เราใช้ชาญฉลาดมากพอที่จะใช้เงินทุกบาททุกสตางค์อย่างคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น เพราะคอนเซปต์ของ Loud Budgeting คือการใช้เงินไปกับสิ่งที่ “มีคุณค่า” หรือ “จำเป็น” เท่านั้น และปฏิเสธที่จะจ่ายอะไรก็ตามที่ราคาแพงเกินความจำเป็น เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองดูดี
จึงกลายเป็นว่าเทรนด์ Loud Budgeting ได้สร้างแรงกระเพื่อมผ่านสังคมออนไลน์ และสื่อสารไปยังผู้คนมากมายที่พร้อมจะกระโดดเข้าร่วมเทรนด์ดัง ๆ แบบตรงไปตรงมาว่าควรต้องควบคุมค่าใช้จ่ายของตัวเอง และยังสื่อสารไปถึงบรรดาผู้ผลิตสินค้าและแบรนด์ต่าง ๆ ให้เข้าใจผู้บริโภคที่มีความคิดเปลี่ยนไปแล้วเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจ ที่ทำให้ “เครียดจนนอนไม่หลับ” โดยเฉพาะเงินเฟ้อที่เชื่อมโยงกับชีวิตของทุกคน
ประโยชน์ของ Loud Budgeting ในยุคเศรษฐกิจตกต่ำ
ต้องบอกว่าเทรนด์ Loud Budgeting ไม่ได้ดีกับแค่เงินในกระเป๋าของเราเท่านั้น แต่ยังถูกใจนักบริหารการเงินด้วย เพราะเทรนด์นี้มันเป็นการสื่อสารในวงกว้างถึงการ “อวด” และ “แข่งขัน” กันใช้เงินอย่างชาญฉลาด ที่สามารถสร้างพฤติกรรมเลียนแบบในแง่ดีที่ทรงพลัง เมื่อคนหลายคนพยายามจะอวดและแข่งกันว่าใครใช้เงินได้ประหยัดกว่า เหลือเงินเก็บจากกิจกรรมนั้น ๆ ได้มากกว่า มันสร้างความภาคภูมิใจและนำไปสู่การแบ่งปันเรื่องราวจากการอวดออกไปแบบไม่รู้จบ ซึ่งมันสามารถติดต่อกันได้ แค่รู้จัก “เลือก” ของหลาย ๆ อย่างที่แบรนด์ใกล้เคียงกัน คุณภาพไม่ได้หนีห่างจากกันเท่าไรนัก หากเลือกในสิ่งที่ย่อมเยากว่าได้ ก็จะจ่ายน้อยลง มีเงินเหลือมากขึ้น และใช้ของคุณภาพแบบเดิม
ที่สำคัญคือ ในยุคที่เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกแบบทุกวันนี้ การใช้จ่ายอย่างประหยัด เน้นเหลือเก็บ ปฏิเสธที่จะจ่ายเยอะกับของที่ตัวเองรู้สึกว่ามันไม่จำเป็น ช่างเป็นเรื่องที่เหมาะสมกับสถานการณ์ยิ่งนัก และเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน กับคนที่มีหรือพอมีเงิน มันอาจจะเป็นเทรนด์ที่ลองทำตามกระแสะขำ ๆ แต่มันช่วยให้เราได้หันกลับมาสำรวจความต้องการที่แท้จริงของตัวเองว่า “ฉันไม่มีสิ่งนี้ได้หรือเปล่า” เพื่อที่จะไม่สุรุ่ยสุร่ายไปตามกระแสสังคม
แต่กับคนที่ไม่ค่อยมีเงิน เทรนด์นี้ถือว่าตอบโจทย์มาก เพราะในเมื่อหันไปทางไหนคนก็เจอแต่คนพากันอวดประหยัด เราก็ไม่จำเป็นต้องฟุ้งเฟ้อให้เกินหน้าเกินตาคนเหล่านั้น เขาแข่งกันประหยัด เราก็แค่ประหยัด (อยู่แล้ว) ตามเขาไป มันเป็นโอกาสที่ทำให้เราได้ปรับความคิด หยุดเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น และใช้ชีวิตให้เหมาะกับเงินในกระเป๋าของตัวเอง ถ้ายังรู้สึกอาย ๆ กับการที่ตนเองไม่มีกำลังทรัพย์ที่เพียงพอจะจ่ายแพง เราก็สามารถยกเทรนด์นี้ขึ้นมาอ้างได้เลย ว่าที่เราปฏิเสธจะจ่าย เราก็แค่ตามเทรนด์นี้อยู่ เท่านั้นเอง
ดังนั้น Loud Budgeting จึงเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ในปี 2024 ที่เข้าท่ามาก และสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขาลงแบบนี้ มันจำเป็นจริง ๆ ที่ต้องจูงใจให้ผู้คนเปลี่ยนความคิด ถ้าเปลี่ยนเองไม่ได้ ต้องใช้อิทธิพลของสังคมเข้าช่วย ซึ่งพอมันเป็นเทรนด์ที่ผู้คนมากมายแห่กันอวดและแข่งขันความประหยัดของตัวเอง มันจึงเกิดการทำตามในวงกว้างโดยไม่มีการบังคับ แต่ทำตามเพราะกลัวตกกระแสที่เขากำลังฮิตกันอยู่ ทว่าผลที่ได้จากพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างมีสติ และพิจารณาถึงความคุ้มค่ากับเงินทุกบาททุกสตางค์ให้มากขึ้น มันกลับดีกับทุกฝ่ายมากกว่าการเป็นเทรนด์สนุก ๆ ที่คนเขาแข่งกัน
มีสติก่อนใช้เงินทุกบาททุกสตางค์ แยกให้ออก “อยากมี” หรือ “จำเป็น”
หากอยากจะเข้าสู่วงการ Loud Budgeting มีจุดเริ่มต้นง่าย ๆ คือต้องรู้จักหลักพื้นฐานการเงินเบื้องต้นก่อน ก่อนจะเปิดกระเป๋าจ่ายเงินให้กับสิ่งใด แยกให้ออกว่าที่ซื้อเพราะ “อยากมี” หรือ “จำเป็น” ตอบตัวเองให้ได้ว่า “ของมันต้องมี” หรือ “จำเป็นต้องใช้” แล้วมันจะทำให้เรามีสติได้มากขึ้นว่าเราต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อสิ่งนั้นหรือเปล่า
“อยากมี” หรือ “ของมันต้องมี” เป็นสิ่งที่มีคีย์เวิร์ดว่า “เราอยากได้และอยากมี” คือถึงจะไม่มี ชีวิตเราก็ยังคงอยู่ได้อย่างปกติสุข การไม่มีของสิ่งนั้น ไม่ได้ส่งผลเลวร้ายต่อชีวิตประจำวัน อีกนัยหนึ่ง มันคือสินค้าฟุ่มเฟือยที่เราสรรหามาเพื่อตอบสนองความต้องการทางจิตใจ แน่นอนว่าการอยากได้อยากมีสิ่งนั้นสิ่งนี้ ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ถ้ามันคือความสุขของเราและไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ซึ่งหลายคนอาจมองว่ามันเป็นรางวัลให้กับชีวิตที่อดทนทำงานมาอย่างหนักก็ได้
“จำเป็น” หรือ “จำเป็นต้องใช้” ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต สิ่งที่ขาดไม่ได้ เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด โดยทั่วไปมันก็หมายถึงปัจจัย 4 อันได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค และพวกที่ขาดไม่ได้ ไม่งั้นไม่มีชีวิต ก็คืออากาศ แต่ในสังคมจริง ๆ มันก็อาจจะมีเรื่องของคุณภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างอย่างอากาศ ที่เราจะพบว่าทุกวันนี้มันเต็มไปด้วยฝุ่นพิษ pm2.5 แทบจะทั้งเมือง ดังนั้น ถ้าจะมีใครสักคนบอกว่าเครื่องฟอกอากาศเป็นสิ่งที่ “จำเป็นต้องใช้” มันก็สมเหตุสมผลดี การซื้อเครื่องฟอกอากาศมาใช้เพื่อให้เรามีอากาศที่ดีหายใจ ก็ยังดีกว่าหายใจเอาฝุ่นเข้าไปสะสมจนเต็มปอด แล้วต้องมาจ่ายค่าหมอรักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจอีก
เพราะฉะนั้น ถ้าอยากจะเริ่มต้น Loud Budgeting ก็ต้องเริ่มจากจุดที่รู้ว่าการจ่ายเงินให้กับอะไรบ้างที่ “จำเป็นหรือเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องมี” และอะไรที่ “ไม่จำเป็นแต่แค่อยากได้” จากนั้น ก็ลองนำมาตั้งปณิธานทางการเงินของตัวเอง เพื่อตั้งเป้าหมายและแผนการใช้เงิน ว่าจะใช้จ่ายเงินกับอะไรบ้าง และต้องการเก็บเงินสำหรับอะไรบ้าง เพื่อไม่ให้ตัวเองลืมความตั้งใจจนเผลอใช้เงินเกินตัว
อย่างไรก็ตาม มันไม่ได้หมายความว่าเราต้องตัดของที่ “ไม่จำเป็นแต่แค่อยากได้” ออกไปทั้งหมด เพียงแต่ต้องมีสติ ให้เวลาตัวเองได้รอและฉุกคิดสักเล็กน้อย (ที่นิยมทำกันคือ 48 ชั่วโมง) ถ้ายังอยากได้อยู่ หรือเล็งเห็นความจำเป็นที่ต้องมีก็ค่อยซื้อ แต่ถ้าให้เวลากับตัวเองแล้ว จนเห็นว่า “ไม่มีก็ได้” ก็ไม่จำเป็นต้องจ่าย พาตัวเองหลุดพ้นจากวังวนของ “ของมันต้องมี” ให้ได้
ในขั้นต่อมา คือการเริ่มต้นจัดการกับการใช้เงินของตัวเองแบบง่าย ๆ ทั้งในส่วนของการใช้เงินและการออมเงิน เช่น เก็บเงินทอนของวันนี้ใส่กระปุก ลดการกินจุบกินจิบระหว่างวัน (ที่ทำให้ต้องจ่ายเงินทั้งวัน) หรือศึกษาการมิกซ์แอนด์แมตช์เสื้อผ้าเก่า ลดหุ่นที่ใส่ชุดเก่าไม่ได้ เพื่อลดการซื้อของใหม่ และอย่าลืมให้ความสำคัญกับหนี้ที่มี พอ ๆ กับการเก็บออม เพราะยิ่งหนี้หมดเร็วเท่าไร เราก็จะยิ่งมีอิสระทางการเงินเร็วขึ้นเท่านั้น
อีกสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการทำ Loud Budgeting คือ การปฏิเสธรายจ่ายไม่จำเป็นที่เราไม่เต็มใจจ่าย โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการเข้าสังคมกับเพื่อนฝูง ที่มักจะชักชวนกับไปสังสรรค์ร้านแพง ๆ ซึ่งถ้ามันแพงเกินไปสำหรับเราและเราก็ไม่ได้อยากจะเข้าร่วมอยู่แล้ว การปฏิเสธเป็นวิธีการหลีกเลี่ยงรายจ่ายที่เราไม่อยากจ่ายได้ดี แต่ถ้าบ่ายเบี่ยงไม่ได้จริง ๆ ก็ควรหาวิธีเป็นคนเสนอร้านที่เราสามารถที่จะจ่ายได้โดยไม่เดือดร้อนแทน หรือในความเป็นจริง ถ้าจะพูดว่า “ไม่มีเงิน” โปรดรู้ไว้ว่าไม่ใช่เรื่องน่าอายอะไรเลย มันคือความจริงใจในการสื่อสารที่จะบอกให้เพื่อน ๆ ของเรารู้ว่าเรากำลังจัดลำดับความสำคัญของแผนการค่าใช้จ่ายอยู่นั่นเอง
นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเราจึงควรบอกแผนทางการเงินกับคนรอบข้างที่เชื่อถือได้และปฏิเสธได้ ก็เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นเข้าใจในความพยายามของเราที่จะใช้เงินให้อยู่ในงบประมาณที่กำหนดไว้เท่านั้น ไม่เฟ้อเกินงบ เพื่อนที่จริงใจจะไม่กดดันให้เราต้องจ่ายในสิ่งที่เราไม่อยากจ่าย (และแน่นอนว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องมาจ่ายให้เรา) เพื่อให้เราได้ตระหนักถึงงบที่ตัวเองตั้งไว้อยู่ตลอดเวลาในทุก ๆ การใช้จ่าย เมื่อเราจัดลำดับความสำคัญของการใช้งบประมาณอย่างเปิดเผย จะช่วยให้เราตัดสินใจซื้ออย่างชาญฉลาดมากขึ้น และไม่ยอมจำนนกับกิเลสของตัวเองง่าย ๆ
“ไม่มีเงิน” ไม่ใช่เรื่องน่าอายอีกต่อไป
ข้อดีข้อหนึ่งของเทรนด์ Loud Budgeting คือการที่เราสามารถตะโกนดัง ๆ บอกกับใครก็ได้ว่า “ฉันเป็นคนประหยัด” (หรือใครความเป็นจริงคือมีเงินจำกัด) ได้แบบไม่ต้องเคอะเขินอีกต่อไป ไม่ต้องรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องน่าอายที่ตัวเองไม่ค่อยจะมีเงินสำหรับใช้จ่ายในส่วนของความฟุ่มเฟือยเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ตัวเอง หรือใช้สินค้าธรรมดาทั่วไปที่มีราคาถูก ซึ่งโดยปกติแล้ว จำนวนเงินในกระเป๋าที่มีอยู่เพียงน้อยนิดจะไม่ค่อยมีใครกล้าพูดถึง และไม่มีใครรู้นอกจากตัวเราเองว่ามันมีอยู่จำนวนเท่าไร ซึ่งหากใครสักคนจะใช้ชีวิตตามเทรนด์นี้ มันก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญหรอกว่าเป็น “คนมีเงินจ่าย แต่แค่ไม่อยากจ่าย” หรือ “เป็นคนไม่ค่อยมีเงิน” ที่ทำเนียนกินอยู่แบบประหยัด
เพราะในท้ายที่สุดแล้ว การมาของเทรนด์ Loud Budgeting ก็เป็นผลดีต่อเงินในกระเป๋าของทุกคนมากกว่า สำหรับคนที่มีเงินแต่แค่ไม่อยากจ่าย คุณก็จะมีเงินเก็บมากขึ้น และใช้ชีวิตอยากรู้คุณค่าของเงินมากกว่าที่เคย จากการคิดพิจารณาว่าอะไรควรจ่ายอะไรไม่ควรจ่าย (แพง) และสำหรับคนที่ไม่ค่อยมีเงิน ผลดีของการใช้จ่ายอย่างไม่ฟุ้งเฟ้อนั้นก็เกิดกับตัวคุณเองเช่นกัน คุณไม่จำเป็นต้องพยายามดิ้นรนซื้อหาอะไรตามเทรนด์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองจนใช้เงินเกินตัวหรือเป็นหนี้สินมากมาย ไม่ต้องจ่ายให้กับ “ของมันต้องมี” แต่ใช้เท่าที่ตัวเองมี แค่นั้นก็พอ
แม้แต่การเข้าสังคม ที่เราต่างรู้กันดีว่ามันต้องใช้เงิน การปฏิเสธเพื่อนที่ชวนไปกินข้าวมื้อแพง ๆ โดยให้เหตุผลว่า Loud Budgeting เป็นแนวคิดของการที่เรากล้าที่จะบอกสถานการณ์ทางการเงินของตัวเองในเวลานี้ให้เพื่อนได้รู้ ว่าฉัน “ไม่พร้อมที่จะจ่ายค่าอาหารแพงขนาดนี้” โดยไม่ต้องให้เหตุผลว่าเราแค่อยากประหยัด หรือจริง ๆ คือเรากำลังถังแตกอยู่ มันช่วยให้เรากล้าปฏิเสธที่จะทำเรื่องที่ต้องใช้เงินเยอะด้วยการอ้าง Loud Budgeting และในเมื่อมันเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังนิยม การกินอยู่อย่างประหยัด หรือการพยายามประหยัดอดออมจึงไม่ใช่เรื่องน่าอายอีกต่อไป
หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ Loud Budgeting เป็นเทรนด์ที่ช่วยให้เราปฏิเสธคนอื่นที่ชวนทำเรื่องฟุ่มเฟือยได้ง่ายขึ้น ด้วยการให้เหตุผลว่าต้องการเก็บเงินมากกว่าจ่ายเงินไปกับสิ่งที่ไม่ได้จำเป็นสำหรับเรา โดยที่เราไม่ต้องบอกเหตุผลจริง ๆ ก็ได้ ว่าเวลานี้เราเองกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ชักหน้าไม่ถึงหลัง ซึ่งมันดีกว่าการเก็บปัญหาทางการเงินไว้เป็นความลับส่วนตัว เพราะการพูดคุยอย่างเปิดเผยถึงงบประมาณการใช้จ่ายที่มีอยู่อย่างจำกัด จะช่วยให้เรากำหนดขอบเขตการใช้จ่ายได้ดีขึ้น ที่สำคัญคือ ลดแรงกดดันในการจ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็นอย่างไม่เต็มใจ และยังเป็นแนวทางที่นำไปสู่ทางเลือกของการใช้จ่ายอย่างชาญฉลาดด้วย เป็นแรงจูงใจที่ดีที่จะทำให้ผู้คนมุ่งความสนใจไปที่การประหยัดเงินมากกว่า
นอกจากนี้ การได้เปิดเผยถึงปัญหาทางการเงินของตัวเองแบบที่ไม่ต้องเหนียมอาย ให้เพื่อน ๆ ทั้งในโลกความจริงและบนโลกออนไลน์ได้รู้ ถือเป็นวิธีการลดความวิตกกังวลที่ดีอีกวิธีหนึ่ง เมื่อเพื่อนรู้ว่าเรากำลัง Loud Budgeting อยู่ พวกเขาจะเกรงใจที่จะชวนเราออกไปใช้ชีวิตแบบอู้ฟู่ เมื่อการชักชวนกันออกไปใช้เงินลดลง ก็จะลดสถานการณ์ชวนกระอักกระอ่วนใจที่จะปฏิเสธเพื่อนลง ไม่ต้องมานั่งเครียดว่าจะปฏิเสธไม่ไปกับเพื่อนยังไงดี หรือถ้าจะให้ดีกว่า เราก็อาจจะชักชวนเพื่อนมาเข้าร่วม Community ของชาว Loud Budgeting ที่เริ่มต้นใช้ชีวิตแบบประหยัดอดออม เพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายทางการเงินที่ดีไปพร้อม ๆ กัน ก็ได้ด้วยเหมือนกัน