AI กับวงการบันเทิง หรือวันหนึ่งเราจะไม่จำเป็นต้องใช้นักแสดงที่เป็นคน!

ต้องยอมรับว่าโลกยุคปี 2023 นี้ เป็นยุครุ่งเรืองของเทคโนโลยีที่ไร้ขีดจำกัดจริง ๆ โดยเฉพาะการมาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ทำให้โลกใบนี้ก้าวข้ามขีดจำกัดหลาย ๆ อย่างไปโดยสิ้นเชิง หากจะลองประมวลทุกสิ่งทุกอย่างที่ AI สามารถทำได้ในเวลานี้ เราก็คงพอจะเห็นเค้าลางแล้วว่าในอนาคตต่อจากนี้ คงจะไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ในโลกยุคเทคโนโลยี

การเกิดขึ้นของเครื่องมือ AI หลายอย่างที่ใช้งานได้จริงและให้ผลลัพธ์ที่น่าทึ่ง แสดงให้เห็นว่า AI บนโลกยุคใหม่มีการพัฒนาที่รวดเร็วแบบก้าวกระโดด รวมถึงมีการทำงานที่ซับซ้อนมากขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มความสามารถด้านวิชาชีพหรืออาชีพเฉพาะทางชนิดที่สามารถทำลายกรอบความคิดของบางอาชีพที่เคยเชื่อว่า “มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่ทำได้” ไปอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ ยังทลายกรอบของจรรยาบรรณและศีลธรรมบางอย่างด้วย เมื่อมีการนำเอา AI มาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์กันมากขึ้น

เมื่อวงการบันเทิงก็โดน AI คุกคาม

จริง ๆ มันไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรที่จะใช้เทคโนโลยีในวงการบันเทิง ก่อนหน้าที่ AI จะเข้ามามีบทาบาทในอุตสาหกรรมบันเทิง เรามีเทคโนโลยีด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกในการสร้างสรรค์ผลงานทั้งเกมคอมพิวเตอร์ การ์ตูน แอนิเมชัน รวมถึงสื่อภาพยนตร์/โทรทัศน์ เนื่องจากการสร้างสื่อเหล่านี้มักต้องมีการสร้างเอฟเฟกต์หรือองค์ประกอบในภาพเคลื่อนไหวต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเล่าเรื่องราวได้อย่างสมจริง ต่อมาก็เริ่มมีหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่มนุษย์ในหลาย ๆ ภาคส่วน ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม ธนาคาร ร้านอาหาร รวมถึงการใช้หุ่นยนต์แทน “นักแสดง”

ทุกวันนี้ในวงการบันเทิงมีการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างนักแสดงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนดูเหมือนว่า “นักแสดง” จะกลายเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ค่อย ๆ ถูกหุ่นยนต์จากเทคโนโลยี AI คุกคามจนถึงขั้นแย่งงาน ดังที่เราจะเห็นว่าทุกวันนี้มีนายแบบ/นางแบบที่สร้างจาก AI ทำงานอยู่เกลื่อนวงการ มีนักร้อง/ศิลปิน/ไอดอลจาก AI อย่างจริงจัง มีพิธีกร/ผู้ประกาศข่าวที่เป็น AI เช่นกัน

หรืออย่างล่าสุด คือการที่บริษัทบันเทิงยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Walt Disney ได้มีการตั้งทีมพิเศษขึ้นเพื่อศึกษาเรื่องปัญญาประดิษฐ์และวิธีที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกลุ่มธุรกิจบันเทิง อย่างไรก็ตาม ด้วยผลที่จะตามมาในภายหลัง ทำให้นักเขียนบทและนักแสดงในวงการฮอลลีวูดออกมาต่อสู้เพื่อจำกัดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ในอุตสาหกรรมบันเทิง เพราะมันจะเป็นภัยคุกคามต่อการจ้างงาน

และไม่ใช่แค่ Walt Disney เท่านั้น เพราะ Netflix เองก็ประกาศจ้างทีมงานใหม่เข้ามาดูแลระบบ AI โดยมีการเสนอรายได้สูงถึงปีละ 9 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือ 30.8 ล้านบาท ซึ่ง AI ดังกล่าวจะถูกใช้เพื่อวางแผนและประเมินการลงทุน รวมถึงดูแลอัลกอริทึมแทนพนักงานที่เป็นมนุษย์ ทั้งนี้ทั้งนั้น Netflix ยืนยันว่า AI จะไม่เข้ามาแทนที่ในส่วนของกระบวนการที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ แต่ทีมงานสตันต์แมนและนักแสดงของ Netflix ในฮอลลีวูด ก็ยังร่วมกันประท้วงหยุดงาน เพื่อเรียกร้องปัญหาค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม และต่อต้านการนำ AI เข้ามาทำงานในวงการบันเทิง

เทคโนโลยี AI ถูกประยุกต์ใช้ในวงการบันเทิงอย่างไร

เนื่องจากมนุษย์เราพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาก็เพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นที่ตัวเราไม่สามารถแก้ไขได้ หรือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานต่าง ๆ ทำให้เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมบันเทิงมากขึ้นเรื่อย ๆ และเริ่มขยับจากงานเบื้องหลังสู่งานเบื้องหน้า จากที่เรามักจะเห็นในภาพยนตร์ที่ใช้เทคโนโลยี “AI” และ “Deepfake” เข้ามาช่วยแต่งเติมรูปร่างหน้าตาของนักแสดงให้ออกมาตามต้องการ ด้วยหลาย ๆ กรณีไม่ได้ใช้นักแสดงตัวจริงมาแสดงโดยที่เทคโนโลยีดังกล่าวสามารถเปลี่ยนหน้าตาของนักแสดงเป็นเด็กก็ได้ เป็นหนุ่มสาวก็ได้ หรือจะเป็นวัยชราก็ยังได้

หรืออาจจะเป็นการใช้เสียงของบุคคลหนึ่งพูดข้อความต่าง ๆ โดยที่บุคคลนั้นไม่จำเป็นต้องพูดข้อความนั้น ๆ ก็ได้ ซึ่งการใช้เทคโนโลยีที่มีความสามารถในการเรียนรู้มาช่วยเรียนรู้ จดจำ และถอดรูปแบบเสียงของนักแสดงคนหนึ่ง แล้วนำมาผ่านกระบวนการให้เปล่งเสียงออกมาเป็นคำพูดตามบท ทำให้เราสามารถสร้างนักแสดงตัวปลอมขึ้นมาโดยใช้หน้าและเสียงของนักแสดงจริงได้ ถ้าทำออกมาดี ๆ จะเห็นว่านักแสดงตัวปลอมที่สร้างขึ้นจาก AI นี้ มีลักษณะเหมือนบุคคลจริง ๆ จนแทบดูไม่ออกเลยทีเดียว

เมื่อวงการบันเทิงนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้งานมากขึ้น จะทำให้เราสามารถเห็นหรือได้ยินเสียงนักแสดงหลายคนที่เสียชีวิตไปแล้วหรือลาวงการไปแล้ว กลับมาโลดเล่นในบทเดิมได้ หรือนักแสดงคนเดียวสวมบทเป็นตัวละครในวัยต่าง ๆ โดยที่เราเห็นนั้นจะเป็นหุ่นยนต์ตัวปลอมที่ใส่หน้าและเสียงที่มีการดัดแปลงให้เป็นวัยต่าง ๆ ของนักแสดงคนนั้น ๆ ได้ และที่สำคัญ คือการลดต้นทุนการผลิตจากค่าตัวนักแสดงได้ด้วย เพียงแค่ซื้อลิขสิทธิ์เสียงและหน้าตาของนักแสดงคนนั้นมาปรากฏตัว โดยที่เจ้าตัวไม่จำเป็นต้องมาถ่ายทำแต่อย่างใด

นอกจากที่เราต้องนั่งดูตัวละครในละครหรือในภาพยนตร์แบบที่ไม่ใช่คนจริง ๆ แล้ว อีกปัญหาที่ตามมาก็คือ มันจะมีขอบเขตที่ตรงไหน หากอุตสาหกรรมบันเทิงจะนำเอาใบหน้าและเสียงของคนคนหนึ่งมาใช้ร่วมกันกับเทคโนโลยีเพื่อหากินตลอด โดยที่เจ้าตัวอาจไม่รู้ตัวว่าใบหน้าและเสียงของตนเองถูกนำมาใช้ซ้ำ หรืออาจไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าตัว และที่สำคัญก็คือ เอาใบหน้าและเสียงของเขาไปใช้เชิงพาณิชย์โดยที่เจ้าตัวไม่ได้ค่าจ้างใด ๆ

เมื่อการใช้เทคโนโลยีแทนคนแสดง เกิดปัญหาในเชิงจรรยาบรรณและศีลธรรม

จากประเด็นนี้ ทำให้เหล่านักแสดงจำนวนหนึ่งออกมาเคลื่อนไหว เนื่องจากมันไม่ยุติธรรมสำหรับพวกเขาเลย หากอุตสาหกรรมบันเทิงจะสามารถใช้เทคโนโลยี AI สร้างใบหน้าและเสียงเลียนแบบนักแสดง โดยที่ทางนายจ้างจะได้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ใบหน้าและเสียงนั้นตลอดไป เพื่อที่จะได้ไม่ต้องจ่ายค่านักแสดงเพิ่ม เมื่อมีการถ่ายทำละครหรือภาพยนตร์เรื่องใหม่ ก็นำเอาใบหน้าและเสียงนั้นมาผ่านกระบวนการสร้างเป็นนักแสดงขึ้นมา ซึ่งมันเป็นการหากินจากใบหน้าของนักแสดงได้โดยไม่รู้จบ โดยที่นักแสดงคนนั้นได้ค่าตอบแทนเพียงครั้งเดียวจบ

คำถามคือ ในเมื่อเทคโนโลยีสามารถสร้างนักแสดงคนหนึ่งขึ้นมาได้เช่นนี้ แล้วอาชีพนักแสดงในอนาคตจะยังมีพื้นที่เหลือให้มนุษย์อยู่หรือไม่ นี่คือสิ่งที่น่าขบคิด ในเมื่อเทคโนโลยีสามารถสร้างตัวตนเสมือนทดแทนนักแสดงได้จริง ๆ ได้ คนที่ประกอบอาชีพนักแสดงก็อาจจะไม่ได้จำเป็นขนาดนั้นอีกต่อไปแล้วก็ได้

อย่างไรก็ตาม หากจะพูดกันจริง ๆ ในทุกวันนี้ การผลิตสื่อบันเทิงก็ยังจำเป็นต้องพึ่งพาความสามารถของนักแสดงเป็นหลักอยู่ ด้วยการแสดงจำเป็นต้องมีการตีความบทละครออกมาให้สมบทบาท ซึ่งมันยังจำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์และทักษะทางการแสดงของนักแสดงในการถ่ายทอดออกมาอยู่ เพื่อให้ละครหรือภาพยนตร์มีมิติและสมบูรณ์แบบมากขึ้น ในส่วนนี้ยังมั่นใจได้ว่ามันเป็นศิลปะชั้นสูงที่ AI ยังทำไม่ได้

นอกจากนี้ ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้วงการบันเทิงยังจำเป็นต้องใช้นักแสดงจริง ซึ่งมันก็คือตัวตน ชื่อเสียง และภาพลักษณ์ประจำตัวของนักแสดง นักแสดงทั้งหลายล้วนมีแฟนคลับ และตัวตนของนักแสดงก็ยังคงเป็นสิ่งที่ดึงดูดผู้คนและสร้างความนิยมให้กับตัวนักแสดงเอง ที่ต่อให้วงการบันเทิงจะสร้างนักแสดงเสมือนขึ้นมาแบบที่คัดลอกทุกอย่างจากตัวจริงไป แต่ความนิยมที่เกิดจากตัวตนของมนุษย์ก็ยังลอกเลียนแบบกันได้ยาก ตัวเสมือนที่สร้างขึ้นจากเทคโนโลยีไม่มีทางจะมาแทนที่ตัวจริงที่เป็นต้นฉบับได้ ถ้าละครหรือภาพยนตร์ต้องการขายความนิยมของนักแสดง ก็จำเป็นต้องมีนักแสดงคนนั้น ๆ จริง ๆ

แต่ตรรกะดังกล่าวอาจใช้ไม่ได้กับ “นักแสดงประกอบ” เพราะในวันที่อุตสาหกรรมบันเทิงสามารถใช้เทคโนโลยีแทนนักแสดงได้ “นักแสดงตัวประกอบ” จะกลายเป็นองค์ประกอบที่ไม่จำเป็นต้องใช้คนจริง ๆ อีกต่อไปแล้ว เพราะนักแสดงประกอบไม่ได้ออกกล้องโดดเด่นเท่านักแสดงหลัก และส่วนใหญ่ก็ไม่ได้จำเป็นต้องแสดงความสามารถทางการแสดงใด ๆ ให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ด้วย เพราะเป็นบทประกอบที่บางทีก็แค่เดินผ่านไปผ่านมาเท่านั้น รวมถึงนักแสดงประกอบหลายคนไม่ได้เป็นที่รู้จักถึงขั้นที่ผู้สร้างต้องเรียกตัวจริงมาใช้งาน เพื่อสร้างความนิยมให้มีคนดูมาติดตาม

เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจริงแล้วเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประเด็นขนาดย่อม ๆ ในโซเชียลมีเดีย ที่เอ่ยถึงค่ายหนังใหญ่ระดับโลกอย่าง Disney ที่ใช้เทคโนโลยี AI สร้างคนขึ้นมาเป็นนักแสดงประกอบอยู่ท่ามกลางฝูงชน แต่การใช้ AI เป็นนักแสดงสมทบแทนคนจริง ๆ ดังกล่าวก็ถูกจับโป๊ะอย่างง่ายดาย ใคร ๆ ที่ได้ชมก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เนียนเป็นอย่างมาก สามารถดูออกได้ตั้งแต่แว่บแรก และหลายต่อหลายคนก็บอกว่ามันออกจะน่ากลัวและหลอนพอสมควร

หรือก่อนหน้านี้ ก็เคยมีนักแสดงประกอบฉากจากซีรีส์เรื่อง Wanda Vision ที่ออกมาเผยว่าเธอโดน Disney สแกนหน้าและร่างกายเพื่อนำไปใช้สร้างตัวเธอในรูปแบบดิจิทัลโดยที่เธอไม่ได้รับค่าตอบแทน และไม่ทราบเลยว่า  Disney จะนำสแกนร่างกายของเธอไปใช้ทำอะไรบ้าง ซึ่งถ้า Disney สร้างเธอซ้ำแล้วซ้ำเล่าในผลงานใหม่ ๆ อย่างไม่รู้จบ มันจะมีผลกระทบต่อคนที่ทำอาชีพนักแสดงประกอบอย่างแน่นอน เพราะพวกเขาจะไม่ได้รับค่าตอบแทนอะไรเลย

ปัจจุบัน ในวงการบันเทิงมีการสแกนดิจิทัลรูปร่างหน้าตาของนักแสดงประกอบเพื่อมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์กันอย่างแพร่หลายมากขึ้น หลายแห่งไม่จ่ายค่าจ้างหรือไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของหน้าตาตัวจริงเลยด้วยซ้ำ บทบาทของ AI ที่สามารถเนรมิตอะไรขึ้นมาบนหน้าจอก็ได้ โดยเฉพาะการใช้ใบหน้าและเสียงของคนที่มีตัวตนจริง ๆ มาใช้ในเชิงพาณิชย์โดยที่เจ้าตัวไม่ได้อะไรเลย แถมยังเป็นการละเมิดสิทธิในอัตลักษณ์บุคคลด้วย จนหลายคนก็เริ่มตั้งคำถามถึงจรรยาบรรณในการทำงานและศีลธรรมที่สร้างความไม่เป็นธรรมให้แก่นักแสดงตัวประกอบ

เพราะจากที่เมื่อก่อน จำเป็นต้องจ้างนักแสดงประกอบเพื่อเข้าฉาก แต่ทุกวันนี้กลายเป็นว่าเรียกนักแสดงประกอบมาสแกนร่างกายทั้งตัวแล้วให้ค่าจ้างเพียงแค่ 1 คิวเท่านั้น โดยที่สตูดิโอสามารถนำอัตลักษณ์บุคคล (personal identity) ไปใช้หาผลประโยชน์ได้ไม่จำกัดจนเกิดความไม่เป็นธรรมขึ้นกับเจ้าของอัตลักษณ์บุคคล คำถามต่อมาคือ ถ้าในวันที่เทคโนโลยีล้ำหน้าไปมากกว่านี้อีกขั้น วันที่ AI สามารถสร้างตัวตนที่เป็นต้นฉบับของตัวเอง พัฒนาจนมีความสามารถทางการแสดงที่ใกล้เคียงมนุษย์ ซึ่งแม้จะไม่เทียบเท่า แต่ก็ทำให้มนุษย์หลงใหลได้ ต่อไปเราอาจไม่จำเป็นต้องมีนักแสดงที่เป็นคนจริง ๆ แล้วก็เป็นได้นะ

และที่สำคัญ มันทำให้เราเห็นว่า AI ที่ว่าน่ากลัว จริง ๆ “คนที่ใช้ประโยชน์จาก AI อย่างเห็นแก่ตัว” นั้นน่ากลัวกว่า