ในฐานะที่เริ่มต้นอาชีพการทำงานมากับสื่อสิ่งพิมพ์ ทุกครั้งที่ได้ยินข่าวการปิดตัวของสำนักพิมพ์ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ในช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา จะรู้สึกใจหายทุกครั้งไป เพราะองค์ประกอบของคนในอาชีพสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ได้มีแค่ นักข่าว นักเขียน คอลัมนิสต์ หรือบรรณาธิการ
แต่องค์ประกอบที่จะทำให้หนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับเสร็จสมบูรณ์ นิตยสารรายสัปดาห์ รายเดือนออกมาเป็นรูปเล่มสวยงาม ยังมีตำแหน่งในฝ่ายที่เรียกว่า ศิลปกรรม ทั้งจัดรูปเล่ม จัดหน้าปก ศิลปินวาดภาพประกอบ ศิลปินวาดการ์ตูนล้อเลียน รวมไปถึงแผนกที่เรียกว่า พิสูจน์อักษร หรือปรู๊ฟรีดเดอร์
แต่งานที่เสร็จจากกองบรรณาธิการไม่ได้จบเพียงเท่านั้น เพราะงานจะถูกส่งต่อไปยังโรงพิมพ์ และถ้ามีการแก้ไขครั้งสุดท้าย นี่คือโอกาสของบรรณาธิการของฉบับนั้น ๆ ที่จะได้มีโอกาสนำหน้าฉบับอื่นหนึ่งก้าว (มันคือชัยชนะที่คนในแวดวงนี้เข้าใจเป็นอย่างดี)
ความเป็นสื่อสิ่งพิมพ์นั้น เราจะถูกสอนมาเสมอว่า สิ่งที่เขียนออกไปในฐานะสื่อสารมวลชน ในฐานะนักหนังสือพิมพ์ มันคือการบันทึกเรื่องราวที่สามารถนำมาอ้างอิงได้
บางคนอาจพูดว่าการทำหนังสือพิมพ์เป็นวรรณกรรมรายวัน พรุ่งนี้ก็กลายเป็นถุงกล้วยแขกแล้ว ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ออกจะคลาดเคลื่อน เพราะในความเป็นจริงทุกเรื่องราวที่ถูกบันทึกลงในหนังสือพิมพ์ จะเปรียบเสมือนการบันทึกหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์ที่สามารถย้อนกลับมาตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงได้ เนื้อหาจะไม่มีวันหายไป
เมื่อเป็นเช่นนี้ การทำหนังสือพิมพ์สักฉบับ แมกกาซีนสักเล่มจึงไม่ใช่แค่ทำเพื่อให้มันมี แต่ทำเพื่อให้คนในปัจจุบันและอนาคตรู้ว่า ณ ห้วงเวลานี้เกิดอะไรขึ้นกับสังคมบ้าง และทำให้มีความละเอียดในการนำเสนองานไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบที่มาของข่าวและเนื้อหา การตรวจสอบตัวสะกด ไปจนถึงการตรวจสอบว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์ว่านำงานของผู้อื่นมาดัดแปลงหรือลอกเลียนหรือไม่
แต่สภาพความเป็นอยู่ในทุกวันนี้ ที่ทุกคนบอกว่าต้องทำตัวให้เร็วพอกับความเร็วอินเทอร์เน็ต ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์กลายเป็นของล้าหลัง และเป็นมรดกตกทอดมาจากโลกยุคแอนะล็อก ผู้คนหันไปเสพข่าวตามเว็บไซต์ และปัจจุบันแทบจะทิ้งเว็บไซต์สำนักข่าว ไปตามเนื้อหาบนโซเชียลมีเดีย แต่สถานการณ์ล่าสุด สื่อโซเชียลมีเดียที่โพสต์เรื่องให้อ่านก็แทบบจะไม่มี Engagement แล้ว เพราะผู้คนรู้สึกว่าย่อยยาก เลยหันไปเสพคลิปสั้นผ่านโซเชียลมีเดียตัวใหม่ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
ผลของความนิยมติดตามข่าวผ่านคลิปสั้น ส่งผลให้คนเสพข่าวไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเรื่องไหนคือเรื่องจริง หรือ เป็นแค่เรื่องปั่น เพราะกระบวนการตัดคลิปสั้นนั้นจะนำเอาเฉพาะส่วนที่น่าสนใจเพื่อให้คนเสพที่กำลังปัดหน้าจอขึ้นนั้น หยุดเพื่อเสพคลิปของพวกเขา เพื่อเพิ่ม Engagement และทำให้ Algorithm จดจำว่าคุณชอบดูอะไร จากนั้นก็จะมีแต่คลิปในลักษณะที่คุณชอบดูปรากฏขึ้นให้เห็นทุกครั้งไป จนทำให้คุณคล้อยตามข้อมูลที่ถูกเติมในทุกวัน
ในโลกยุคแอนะล็อกนั้น คนอ่านสื่อสิ่งพิมพ์สามารถเลือกได้ว่าจะเสพข้อเขียน เสพข่าวในลักษณะไหนโดยใช้วิจารณญาณของตนเอง แต่ในยุคดิจิทัล คนเสพสื่อเพราะมี Algorithm คอยจัดสรร ไม่ได้ใช้วิจารณญาณของตนเองสักเท่าไร Influencer ว่ายังไงก็ว่าตามกัน Youtuber นำไปที่ไหนก็แห่ตามกันไป พอไปสัมผัสกันแล้วถึงได้รู้ว่าเป็นการตลาดแบบ Affiliate
ขณะเดียวกัน การเสพสื่อโซเชียลเป็นสื่อหลัก ทำให้เกิดความลุ่มหลงและเข้าใจว่าสิ่งที่ตนเองคิดนั้นถูกเสมอจาก Content ที่เอไอของโซเชียลมีเดียคัดมาเฉพาะคุณจนเกิดสิ่งที่เรียกว่าห้องของเสียงสะท้อน ที่หันไปทางไหนก็ดูเหมือนว่า คุณคือผู้รู้ ผู้ตื่นอยู่เพียงคนเดียวในโลก
แม้ว่าสื่อดิจิทัลจะมีอิทธิพลมากในปัจจุบัน หากแต่ลมหายใจสุดท้ายของสื่อสิ่งพิมพ์ยังไม่หมดไป แม้ว่าหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารจะปิดตัวกันไปหลายหัว แต่ท้ายที่สุดแล้วมนุษย์ก็ยังต้องการการอ่านจากกระดาษ หนังสือจะกลายเป็นของที่มีราคา และมีความพิถีพิถันมากขึ้นในการผลิต ไม่ต้องแปลกใจที่ราคาหนังสือจะแพงขึ้น เพราะนี่คือลมหายใจสุดท้ายที่หนังสือจะอยู่คู่กับสังคมต่อไป
ท้ายที่สุดฝากไว้กับวาทะของ เรย์ แบรดเบอรี นักเขียนชาวอเมริกันที่เคยกล่าวเอาไว้ว่า “ไม่จำเป็นต้องเผาหนังสือเพื่อทำลายวัฒนธรรมหรอก แค่ทำให้ผู้คนไม่อ่านหนังสือก็ทำลายทุกอย่างได้แล้ว” ประโยคนี้ทำให้รู้สึกหวั่นใจนะคะ
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ