ครอบครัวหรือบ้าน เป็นสถานที่ที่ทุกคนอยากให้เป็นที่ปลอดภัยและปลอบโยนที่สุดเวลาเผชิญกับเรื่องราวแย่ ๆ จากภายนอกมา แต่บ้านกลับไม่ได้เป็นที่ปลอบประโลมใจอันอบอุ่นสำหรับทุกคน และพ่อแม่บางคนก็ไม่ได้เป็นที่พึ่งที่ดีให้กับลูกเสมอไปด้วย
พ่อแม่ที่ทะเลาะกับลูกบ่อย ๆ เคยสงสัยไหมว่าทำไมคนบ้านเราถึงคุยกันดี ๆ แทบไม่ได้เลย สาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากตัวพ่อแม่เอง ที่เป็นคนเริ่มต้นสร้างบรรยากาศแบบนั้นขึ้นมา และสร้างเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมาด้วยความรู้สึกว่าบ้านเป็นที่ที่รู้สึกแย่ที่สุดที่จะอยู่ ง่าย ๆ ก็คือ พวกเขาไม่โอเคที่จะอยู่บ้าน และไม่โอเคที่จะคุยกับพ่อแม่ ทั้งที่หลายครั้ง พวกเขาก็พยายามเต็มที่แล้วที่จะเงียบ พยายามที่จะปรับตัว พยายามที่จะเปลี่ยนตัวเอง โดยที่พวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิดหรือทำอะไรไม่ดี แต่ต้องทำเพื่อรับมือความรู้สึกเป็นพิษที่สัมผัสได้ทุกครั้งเมื่อลืมตาตื่นขึ้นมาภายใต้ชายคานี้
อันที่จริง ปัญหาที่ลูก ๆ ไม่โอเคกับพ่อแม่นั้นไม่ได้มีแค่เฉพาะพ่อแม่กับลูกวัยรุ่น แต่ลูกที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่วัยทำงานแล้วหลายคนก็ยังเจอปัญหาเข้ากับพ่อแม่ตัวเองไม่ได้ ซึ่งก็มีให้เห็นอยู่ทั่วไป แล้วพ่อแม่เคยรู้บ้างไหมว่าสาเหตุที่ทำให้เรื่องเป็นแบบนี้ ตนเองทำอะไรกับลูกบ้าง ในที่นี้จะพูดถึงปัญหาต่าง ๆ ที่ทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีกับพ่อแม่ตัวเอง นี่อาจจะทำให้คุณเข้าใจลูกมากขึ้นก็ได้ว่าคุณเองก็ทำร้ายลูกให้ลูกเจ็บเหมือนกัน พวกเขาอาจไม่ได้ถึงขั้นเกลียดคุณ แต่พวกเขารู้แย่และไม่โอเค พวกเขาก็มีความรู้สึก! และบางทีคุณก็ไม่เคยคิดกลับกันว่าตอนเด็ก ๆ คุณก็อาจจะไม่ชอบให้พ่อแม่ตัวเองเป็นแบบนี้!
เปรียบเทียบกับลูกคนอื่น
ไม่มีใครชอบความรู้สึกด้อยค่าเพราะการเปรียบเทียบ โดยเฉพาะการเปรียบเทียบว่า “ลูกคนอื่น” ดีกว่า พ่อแม่หลายคนเข้าใจว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะกระตุ้นให้ลูกหลานเอาชนะคำสบประมาท แต่ความจริงแล้ววิธีนี้ใช้ไม่ได้ผลกับทุกคน และไม่เข้ากับสภาพสังคมปัจจุบัน การด้อยค่าลูกหลานตัวเอง และการปลูกฝังความคิดให้เอาชนะคนอื่น ด้วยเหตุผลว่าจะไม่ได้รับความรัก ทำให้ไม่สนว่าวิธีที่จะได้มาซึ่งความสำเร็จนั้นทำร้ายคนรอบข้างหรือไม่ ขอแค่ชนะ ขอแค่ได้คำชม และไม่ต้องถูกเอาไปเปรียบกับใครอีก ที่สำคัญทำให้ 2 คนที่ถูกนำมาเปรียบกัน เกลียดกันทั้งที่ไม่รู้จักกันก็ได้ด้วย
ดูถูกและเหยียบย่ำความพยายามของลูก
นอกจากการเปรียบเทียบลูกตัวเองกับคนอื่น (เด็กบางคนเคยถูกพ่อแม่เอาไปเปรียบเทียบกับสัตว์ว่าสัตว์ยังสอนให้ได้ดีได้) ไม่ใช่เรื่องแปลกที่พ่อแม่จะคาดหวังในตัวลูก แต่ก่อนที่จะเรียกร้องหรือคาดหวังอะไรที่สูงเกินจริง เคยเห็นความพยายามของลูกบ้างหรือเปล่า เคยประเมินความสามารถของลูกบ้างหรือไม่ ว่าภายใต้เงื่อนไขที่มีพวกเขาจะไปได้ถึงจุดนั้นได้ไหม เด็กหลายคนไม่ว่าจะพยายามแค่ไหน ก็ไม่เคยใช่ในสายตาพ่อแม่ พ่อแม่ประเภทนี้จะโอ้อวดลูกกับคนอื่นเสมอ แต่ไม่เคยชมลูก และจะซ้ำเติม ดูถูกความพยายามเมื่อลูกทำไม่ได้อย่างที่คาดหวัง ไร้การปลอบและกำลังใจ
เรื่องในบ้าน คนนอกรู้หมด
ส่วนใหญ่ พ่อแม่จะมีลักษณะคล้าย ๆ กันคือ “ชอบอวดลูก” เมื่อลูกตัวเองดูเหนือกว่าคนอื่น ๆ ในรุ่นราวคราวเดียวกัน หรือพ่อแม่อีกแบบคือ “สาวไส้ให้กากิน” เอาเรื่องไม่ดีหรือเรื่องที่ลูกมาปรึกษาไปเล่าให้คนอื่นฟัง ในขณะที่ลูกกลับรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องในบ้าน เรื่องของคนในครอบครัว ทำไมจะต้องให้คนนอกบ้านรู้ หลายคนไม่ชอบอยู่ในสถานการณ์ที่น่าอึดอัดแบบนั้น เช่น สายตาที่มองมา หรือการซุบซิบนินทา ไม่ว่าจะเรื่องทางบวกหรือทางลบก็ตาม บางเรื่องคนเป็นลูกรู้สึกว่ามันน่าขายหน้าจนไม่อยากเก็บไว้ในความทรงจำ แต่ก็มีคนมาทำให้นึกถึงอยู่ตลอดเวลา
พยายามจะควบคุมชีวิตทุกอย่างของลูก
เข้าใจได้ว่าพ่อแม่น่ะหวังดี กลัวว่าลูกจะเดินผิดทาง กลัวว่าลูกจะตัดสินใจอะไรเองไม่ได้ แต่การขีดเส้นให้ลูกทุกอย่างแล้วให้ลูกใช้ชีวิตเหมือนกับโคลนนิ่งในสิ่งที่ตัวเองต้องการก็คงไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แถมบางคนยังชอบข่มลูกด้วยการเปรียบเทียบกับตัวเองตอนที่อายุเท่ากันเพื่อบอกว่าลูกเป็นไม่ได้แบบตัวเอง ทั้งที่บริบทสังคมมันต่างกัน ทุกคนมีเส้นทางชีวิตที่แตกต่างกัน มีความรัก ความชอบ ความหลงใหลในสิ่งที่แตกต่าง เมินความคิดเห็นและความรู้สึกของลูกทุกอย่าง ยัดเยียดสิ่งที่ตัวเองอยากให้เป็นแล้วโยนสิ่งที่เด็กชอบทิ้งไป แสดงอำนาจว่าตัวเองเป็นเจ้าชีวิตลูก
พ่อแม่ที่เป็นศูนย์กลางของทุกอย่างและไม่เคยจะเป็นคนผิด
พฤติกรรมของพ่อแม่ที่สร้างบรรยากาศคุกรุ่นในบ้าน และทำให้ลูก ๆ รู้สึกเจ็บป่วยทางใจได้มากที่สุด คือพฤติกรรมที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง โลกหมุนรอบฉัน ฉันไม่สนกฎเกณฑ์สากลอื่น ๆ สนแค่ความต้องการของตัวเอง ถ้าฉันไม่ถูกใจก็คือปิดกั้นการเข้าถึงทุกทาง ที่สำคัญ คือนิสัยที่มองว่าตัวเองไม่เคยทำอะไรผิด ต่อให้หลักฐานทนโท่อยู่ตรงหน้าก็จะโทษฟ้าโทษดินไปเรื่อย ไม่ก็โทษลูก หรือต่อให้รู้อยู่แก่ใจว่าตัวเองผิดเอง ก็ไม่เคยมีคำว่าขอโทษหลุดออกมาจากปาก กลัวเสียหน้า แกล้งเนียน ๆ ลืมไป แต่จะถามหาคำขอโทษจากคนอื่นเสมอและต้องได้ด้วย
ทำทุกอย่างที่ตัวเองไม่ชอบกับลูก
ตัวเองไม่ชอบอะไร คนอื่นจะทำกับตัวเองไม่ได้ แต่ตัวเองทำแบบนั้นได้กับทุกคน คนทุกคนมีเส้นของความเป็นส่วนตัว ที่แม้แต่อยู่บ้านเดียวกันหรือเป็นพ่อเป็นแม่ก็ต้องเคารพ หลักการมันก็ง่าย ๆ เลยแค่ถ้าเราไม่ชอบให้ใครทำแบบไหนกับเรา เราก็อย่าไปทำแบบนั้นกับคนอื่น เพราะเขาก็คงไม่ชอบหรืออึดอัดใจได้เหมือนกัน มันมีเส้นบาง ๆ ของความเป็นห่วงและก้าวก่ายจนล้ำเส้น และบางทีมันก็เป็นแค่เรื่องเล็ก ๆ แต่ก็ทำให้คนอื่นไม่สบายใจ อย่างการเปิดประตูเข้ามาในห้องโดยไม่เคาะ การแอบอ่านจดหมาย แอบดูโทรศัพท์ บางเรื่องมันไม่ใช่ความลับหรอก แต่มันเป็นเรื่องส่วนตัว
เปิดฉากมาก็ด่าทันที
พ่อแม่ที่เจอหน้าลูกปุ๊บก็เปิดฉากด่าในเรื่องที่ตนเองไม่พอใจทันที หากมีอะไรไม่เข้าที่เข้าทางจะโทษลูกก่อนเสมอ พยายามให้การตำหนิเป็นเรื่องปกติของการสื่อสาร หลายคนกลับบ้านมาเหนื่อย ๆ ยังไม่ได้กินข้าว พอเจอแบบนี้ก็ไม่มีอารมณ์จะกิน แถมยังรู้สึกหงุดหงิดโมโหอีก เข้าใจว่ามีเรื่องที่อยากจะพูด อยากจะตำหนิ แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องเปิดเรื่องด้วยความหัวร้อนและการด่าเสีย ๆ หาย ๆ จนอารมณ์คุกรุ่นทั้ง 2 ฝ่าย ที่สำคัญคือการที่ไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายลูกได้พูดอธิบายอะไร แค่จะพูดในสิ่งที่ตนอยากพูด ไม่ถาม ไม่ฟัง จับผิด ทำอะไรก็ผิดไปหมด ก็คงไม่มีใครรู้สึกดี
ใช้ความรุนแรง ทั้งทางกายและวาจา
ตอนเด็ก ๆ พ่อแม่เลี้ยงลูกมาแบบไหน ลงโทษทุบตีรุนแรง เพราะคิดว่าตนเองมีสิทธิ์ ลูกคือสมบัติของตัวเอง บางคนใช้ลูกเป็นรองรับอารมณ์ร้าย ๆ บางคนถูกจำกัดอิสรภาพ ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้การควบคุมเสมอ ที่ร้ายแรงมากคือการล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงการใช้ถ้อยคำด่าทอรุนแรง หยาบคาย เอาปมด้อยมาส่อเสียดทุกครั้งที่ทะเลาะกัน ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ลูกเกิดความรู้สึกด้านลบกับพ่อแม่ มีผลกระทบทางด้านจิตใจ เก็บกด และหลายคนก็เกลียดพ่อแม่ได้ด้วยเหตุผลนี้ ที่สำคัญ ลูกก็จะซึมซับพฤติกรรมเหล่านั้น และตอบสนองเพื่อเอาตัวรอดแบบผิด ๆ
ไม่เคยพยายามเข้าใจในมุมของลูก
การ์ดที่พ่อแม่ใช้บ่อยที่สุดเวลาที่ทะเลาะกับลูกก็คือ “ฉันเป็นคนเลี้ยงแกมานะ!” นี่เป็นการใช้อำนาจที่แสดงว่าตนเป็นผู้ที่อยู่เหนือกว่า ทุกอย่างที่ตัวเองคิดคือถูกหมด คนเป็นเด็กกว่าจะมารู้อะไร และมักจะชอบออกคำสั่งหรือตัดสินใจแทนลูกเสมอ โดยไม่เคยถามความต้องการหรือพยายามจะเข้าเหตุผลของลูกหากลูกปฏิเสธที่จะทำ การกระทำแบบนี้สร้างระยะห่างระหว่างพ่อแม่กับลูกมาก เขาไม่อยากคุยกับคนที่ไม่เข้าใจเขา ไม่แม้แต่จะฟังอะไร ทั้งที่ลึก ๆ แล้ว ลูกทุกคนหวังให้พ่อแม่เป็นที่พึ่งทางใจ และพ่อแม่บางคนก็เพิกเฉยต่อความรู้สึกของลูก คิดว่าไม่สำคัญ คิดว่าลูกจะไม่เป็นอะไร