การเลือกตั้งทั่วไปของปี 2566 จบลงไปแล้ว ผลการเลือกตั้งจะถูกใจหรือไม่ถูกใจ เราท่านก็ควรทดเอาไว้ในใจและปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ ใช้คำว่าวางอุเบกขาน่าจะดีที่สุด เพราะอุเบกขาคือการวางตัวให้มีสติ มองทุกอย่างที่เกิดขึ้นด้วยสติ ไม่ดีใจไม่เสียใจจนเกินเหตุ ให้ทุกอย่างดำเนินไปตามครรลอง และเราท่านก็ใช้ชีวิตต่อไป
ขณะเดียวกัน การเรียนรู้จากเลือกตั้งในยุคดิจิทัลน่าจะให้บทเรียนหลายอย่างแก่นักเลือกตั้ง นักวิชาการ สื่อสารมวลชน และคนทำโพล เพราะผลที่ออกมานั้นค่อนข้างจะหักปากกาเซียนไปไม่น้อย แต่เชื่อไหมคะว่ามีเครื่องมืออยู่หนึ่งตัวที่ปากกาไม่โดนหัก และเป็นการประมวลผลที่ค่อนข้างตรงกับผลที่เกิดขึ้น เครื่องมือตัวนั้นมีชื่อว่า “Google Trend”
Google Trend เป็น Open Data ของทาง Google ที่นำเอาผลของการค้นหา (ผล Search ทั้ง Image และ Content) จาก Google News และจาก YouTube ทั้งหมดประมวลรวมกัน โดยที่การ Search หรือค้นหานั้นจะนับจากการค้นหาแบบ Organic ถ้ามีเจ้าไหนใช้ Bot (หุ่นยนต์) หรือใช้ ‘คน’ ในความพยายามค้นหาเรื่องเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เพื่อทำให้เกิดสถิติที่น่าสนใจ การประมวลผลของ Google Trend จะมีวิธีการคัดกรองในตัวเอง และทำให้ Google Trend มีสถิติที่เรียกว่าไร้ “อคติ” (bias)
ส่วนที่ผู้เขียนระบุไว้ในข้างต้นว่า เจ้า Google Trend เป็น Open Data ที่ให้ผลค่อนข้างแม่นยำกับการเลือกตั้งในครั้งนี้ เพราะในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมาได้มีโอกาสเข้าไปดูข้อมูล Google Trend Thailand Election ในช่วงโค้งสุดท้ายประมาณสองสัปดาห์ก่อนถึงการเลือกตั้ง และได้มีการเขียนบทความรายงานสิ่งที่ Google Trend นำเสนอในบทความของ Tonkit360 (12 วันก่อนเลือกตั้ง ตัวเลขจาก Google Trends บอกอะไรได้บ้าง)
ซึ่งในบทความดังกล่าว จะเห็นตัวเลขของ Google Trend นั้น ระบุว่าพรรคก้าวไกลได้รับการสืบค้นเป็นอันดับหนึ่งและมีเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่าพรรคเพื่อไทย ขณะที่พรรคภูมิใจไทยและพลังประชารัฐอยู่ในอันดับสามและสี่ โดยมีเปอร์เซ็นต์การค้นหาที่ไล่เรี่ยกัน
และเมื่อนำเอาข้อมูลจาก Google Trend Thailand Election มาเทียบกับผลที่ออกมาจริง จะเห็นว่า Google Trend ได้ทำนายถึงความนิยมที่เป็นเปอร์เซ็นต์สูงมากของพรรคก้าวไกลเอาไว้แล้ว เพียงแต่ในเวลานั้น หลายคนรวมไปถึงตัวผู้เขียนเองมองว่าการสืบค้นเป็นกระแสของคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตามรายงานของ We Are Social ในปี 2022 คนไทยเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงถึง 77.8 เปอร์เซ็นต์ และพื้นที่การเข้าถึงไม่ใช่แค่ในตัวเมือง หากแต่ในต่างจังหวัด การใช้งานอินเทอร์เน็ตก็นับเป็นเรื่องปกติ
ดังนั้น สิ่งที่ Google Trend ได้ประมวลผลออกมา นับเป็นการทำนายผลที่แม่นยำในระดับหนึ่งเลยทีเดียว และทำให้เห็นว่าโลกปัจจุบันนั้น วิธีการที่เรียกว่า Data Driven หรือการขับเคลื่อนด้วยข้อมูลนั้น ให้ผลที่ชัดเจนและแม่นยำ เพียงแต่การนำเอาข้อมูลที่ได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์นั้นต้องใช้คนที่มีประสบการณ์พอสมควร สำหรับผู้เขียนแล้วเคยคุยกับนักการเมืองท่านหนึ่งถึงเรื่องการใช้ข้อมูลในเชิงสถิติ ซึ่งนักการเมืองท่านดังกล่าวบอกว่า “เมืองไทยเรื่องนี้ยังใหม่อยู่มาก แต่ถ้านำมาใช้จริง จะทำให้เห็นเค้าลางของสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคตว่าจะมีรูปร่างเป็นเช่นไรได้”
ทุกวันนี้การใช้ Data Driven จะออกมาในรูปแบบที่คล้าย ๆ กับ Google Trend จะเป็นการใช้ AI เพื่อตรวจจับว่าเกิดกระแสอะไรขึ้นในสังคมออนไลน์บ้าง จากนั้นจะมีการวิเคราะห์ออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นทิศทางสำหรับนักการตลาด ในการทำงานต่อในรูปแบบของ Contents, ข่าว, หรือสร้างไวรัลเพื่อให้เกิดความน่าสนใจในตัวสินค้าได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในปัจจุบันมีหลายบริษัทที่ใช้วิธีการดังกล่าวในการหาความสนใจของลูกค้า ซึ่งวิธีแบบนี้ใช้กันในหลายวงการเช่นกัน
มีวรรคทองวรรคหนึ่งของ จิม บาร์คสเดล อดีต CEO ของ Netscape และอดีต COO ของ FedEx กล่าวถึงการขับเคลื่อนด้วยข้อมูลเอาไว้ว่า “If we have data, let’s look at data. If all we have are opinions, let’s go with mine.” ใช่ค่ะ ข้อมูลคือความจริง ส่วนความคิดเห็นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจากอคติ และดูเหมือนว่ามหาสมุทรข่าวสารในปัจจุบันจะเต็มไปด้วย “ความคิดเห็น” มากกว่า “ข้อมูลที่เป็นจริง”
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ