12 วันก่อนเลือกตั้ง ตัวเลขจาก Google Trends บอกอะไรได้บ้าง

ผลจากการสืบค้นใน Google สามารถบ่งบอกความสนใจของคนในสังคมได้ว่ากำลังจะไปทิศทางใดโดยมีชื่อว่า Google Trends ซึ่งมีหลักการทำงานโดยใช้ AI ในการตรวจจับความสนใจของผู้คนทั่วโลกจากคำค้นหาและคำค้นหาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ในแต่ละวันจะแสดงให้เห็นว่า Trends หรือความนิยมของสังคมในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือน และแต่ละปีนั้น มีความสนใจในเรื่องอะไรบ้าง

ด้วยความที่ Google Trends ในปัจจุบันพัฒนาให้สามารถจับกระแสความสนใจที่เจาะลึกลงไปในหัวข้อการค้นหาของแต่ละพื้นที่ในหัวข้อดังกล่าว การใช้ Google Trends จึงนิยมเป็นอย่างมากในงาน Digital Marketing และยังถูกนำมาปรับใช้กับงานที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่ว่าจะเป็นความนิยมในพรรคการเมือง นักการเมือง ไปจนถึงนโยบายที่ประชาชนอยากได้จากพรรคการเมือง

และในซีรีส์เลือกตั้งของ Tonkit360 ที่เดินทางมาถึงช่วงใกล้ถึงโค้งสุดท้ายอีก 12 วันจะถึงวันเลือกตั้ง เราจะมาดูกันว่า Google Trends ที่ถูกจัดทำขึ้นมาเพื่อสำรวจความนิยมพรรคการเมืองในช่วง 10 วันก่อนหน้านี้ (21-30 เมษายน 2566) จะทำให้เราได้เห็นภาพผลเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมได้อย่างไรบ้าง

ผลการค้นหาอันดับหนึ่ง พรรคก้าวไกล

ผลการค้นหาใน Google Trends : พรรคก้าวไกลมีผลการค้นหามากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งด้วยจำนวน 67 เปอร์เซ็นต์ (เปอร์เซ็นต์การค้นหาเปลี่ยนแปลงไปตามความสนใจของการค้นหา) โดยมีสิบจังหวัดแรกที่มีผลการค้นหาเกี่ยวกับพรรคก้าวไกล ซึ่งปรากฏระหว่างวันที่ 21-30 เมษายนนั้น ได้แก่จังหวัด 1.พะเยา 2.ลำพูน 3.แม่ฮ่องสอน 4.น่าน 5.แพร่ 6.หนองบัวลำภู 7.เชียงราย 8.เชียงใหม่ 9.กำแพงเพชร 10.ปราจีนบุรี

บทวิเคราะห์ : แม้ว่า Google Trends จะเป็นการแสดงความนิยมของพรรคการเมืองจากคำที่ค้นหา หากศึกเลือกตั้งในครั้งนี้ ปฏิเสธความร้อนแรงของพรรคก้าวไกลไม่ได้เลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนรุ่นใหม่ในเจเนอเรชัน Z ที่มีผู้มีสิทธิถึง 7 ล้านราย

หมายเหตุ : กราฟจากผลการค้นหาในวันที่ 30 เมษายน ที่เป็นกราฟคำค้นหาเกี่ยวกับพรรคก้าวไกล อยู่ในลักษณะที่เส้นกราฟกำลังหักหัวลง

ผลการค้นหาอันดับสอง พรรคเพื่อไทย

ผลการค้นหาใน Google Trends : พรรคเพื่อไทยมีผลการค้นหาใน Google เป็นอันดับที่สองด้วยจำนวน 21 เปอร์เซ็นต์ (เปอร์เซ็นต์การค้นหาเปลี่ยนแปลงไปตามความสนใจของการค้นหา) โดยมีสิบจังหวัดแรกที่มีผลการค้นหาเกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งปรากฏระหว่างวันที่ 21-30 เมษายนนั้น ได้แก่จังหวัด 1.พะเยา 2.แพร่ 3.น่าน 4.หนองบัวลำภู 5.สุโขทัย 6.เพชรบูรณ์ 7.แม่ฮ่องสอน 8.เชียงราย 9.อุบลราชธานี 10.ศรีสะเกษ

บทวิเคราะห์ : จะเห็นว่า 5 อันดับแรกของจังหวัดที่ค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยนั้นจะเป็น จังหวัดเดียวกันกับพรรคก้าวไกล ซึ่งมีกลุ่มแฟนคลับและฐานเสียงที่ใกล้เคียงกันมาก ทำให้ทั้งสองพรรคที่มีแนวโน้มจะจับมือกันหลังเลือกตั้งกลายเป็นคู่ต่อสู้กันในสนามเลือกตั้ง และดึงคะแนนกันเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หมายเหตุ : กราฟจากผลการค้นหาในวันที่ 30 เมษายน ที่เป็นกราฟคำค้นหาเกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย อยู่ในลักษณะที่เส้นกราฟกำลังหักหัวลง

ผลการค้นหาอันดับสาม พรรคพลังประชารัฐ

ผลการค้นหาใน Google Trends : พรรคพลังประชารัฐจะมีเปอร์เซ็นต์การค้นหาเท่ากับพรรคภูมิใจไทย อยู่ที่ 4 เปอร์เซ็นต์ (เปอร์เซ็นต์การค้นหาเปลี่ยนแปลงไปตามความสนใจของการค้นหา) โดยมีสิบจังหวัดแรกที่มีผลการค้นหาเกี่ยวกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งปรากฏระหว่างวันที่ 21-30 เมษายนนั้น ได้แก่จังหวัด 1.พะเยา 2.เพชรบูรณ์ 3.สมุทรสงคราม 4.กำแพงเพชร 5.แม่ฮ่องสอน 6.นครศรีธรรมราช 7.พัทลุง 8.ตรัง 9.สิงห์บุรี 10.ชัยภูมิ

บทวิเคราะห์ : จากผลการค้นหาจะเป็นว่าพรรคพลังประชารัฐมีพื้นที่ที่มีการค้นหาบน Google Trends ทับซ้อนกับประชาธิปัตย์มากกว่าภูมิใจไทย ขณะเดียวกันทำให้เห็นว่าพัทลุงจะเป็นพื้นที่สู้กันอย่างดุเดือดของผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์ ขณะเดียวกัน สิงห์บุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ของนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ เป็นหนึ่งสิบจังหวัดที่ได้รับการค้นหามากที่สุดสิบอันดับแรกของพรรคพลังประชารัฐ

หมายเหตุ : กราฟจากผลการค้นหาในวันที่ 30 เมษายนนั้น มีความน่าสนใจที่เป็นกราฟคำค้นหาเกี่ยวกับพรรคพลังประชารัฐ อยู่ในลักษณะที่เส้นกราฟกำลังหักหัวลง

ผลการค้นหาอันดับสี่ พรรคภูมิใจไทย

ผลการค้นหาใน Google Trends : พรรคภูมิใจไทยมีเปอร์เซ็นต์ในการค้นหาเท่ากับพรรคพลังประชารัฐอยู่ที่ 4 เปอร์เซ็นต์ (เปอร์เซ็นต์การค้นหาเปลี่ยนแปลงไปตามความสนใจของการค้นหา) โดยมีสิบจังหวัดแรกที่มีผลการค้นหาเกี่ยวกับพรรคภูมิใจไทย ซึ่งปรากฏระหว่างวันที่ 21-30 เมษายนนั้น ได้แก่จังหวัด 1.อุทัยธานี 2.ระนอง 3.พัทลุง 4.กระบี่ 5.นครศรีธรรมราช 6.อ่างทอง 7.บุรีรัมย์ 8.บึงกาฬ 9.สุโขทัย 10.สงขลา

บทวิเคราะห์ : แม้ว่าภูมิใจไทยจะอยู่ในอันดับที่สี่เท่ากับพลังประชารัฐ แต่เมื่อเทียบ 10 จังหวัดแรกที่มีผลการค้นหามากที่สุดแล้วนั้น จะเห็นว่ามีเพียงนครศรีธรรมราช พัทลุง ที่ทับกับพลังประชารัฐ ขณะที่อันดับหนึ่งนั้นตอกย้ำความชัดเจนว่า จังหวัดอุทัยธานีนับเป็นฐานที่มั่นในภาคกลางของภูมิใจไทยมาตั้งแต่ต้นกับกลุ่มของนายชาดา ไชยเศรษฐ์

หมายเหตุ : กราฟจากผลการค้นหาในวันที่ 30 เมษายนนั้น มีความน่าสนใจที่เป็นกราฟคำค้นหาเกี่ยวกับพรรคภูมิใจไทยที่แสดงในลักษณะที่กำเชิดหัวขึ้น

ผลการค้นหาอันดับห้า พรรคประชาธิปัตย์

ผลการค้นหาใน Google Trends : พรรคประชาธิปัตย์มีผลการค้นหาคิดเป็นเปอร์เซ็นต์คือ 2 เปอร์เซ็นต์ (เปอร์เซ็นต์การค้นหาเปลี่ยนแปลงไปตามความสนใจของการค้นหา) โดยอยู่ในลำดับที่ 5 ของพรรคการเมืองทั้งหมด โดยมีสิบจังหวัดแรกที่มีผลการค้นหาเกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งปรากฏระหว่างวันที่ 21-30 เมษายนนั้น ได้แก่จังหวัด 1.นครศรีธรรมราช 2.แม่ฮ่องสอน 3.ชุมพร 4.ตรัง 5.สงขลา 6.พัทลุง 7.พังงา 8.สุราษฎร์ธานี 9.ประจวบคีรีขันธ์ 10.กระบี่

บทวิเคราะห์ : เมื่อสำรวจจาก 10 จังหวัดแรกที่แสดงความสนใจในการค้นหาเกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์แล้ว จะเห็นว่ามีจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่เป็นพื้นที่ภาคเหนือกระโดดเข้ามาเพียงจังหวัดเดียว ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ช่วยผู้สมัครของพรรคในการหาเสียงเมื่อช่วงระหว่างวันที่ 25 เมษายนที่ผ่านมา และพรรคประชาธิปัตย์หวังปักธงภาคเหนือที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเช่นกัน ส่วนอีก 9 จังหวัดที่เหลือนั้นล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่เดิมของพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน

หมายเหตุ : กราฟจากผลการค้นหาในวันที่ 30 เมษายนนั้น มีความน่าสนใจที่เป็นกราฟคำค้นหาเกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ที่แสดงในลักษณะที่กำเชิดหัวขึ้น

พรรคการเมืองอื่นที่เหลือ

พรรคชาติพัฒนากล้า อยู่ที่ 1 เปอร์เซ็นต์ เท่ากันกับพรรคเสรีรวมไทย ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติจำนวนการค้นหาที่ Google Trends จับคำค้นได้นั้น ไม่ปรากฏผลออกมาและอยู่ที่ 0 เปอร์เซ็นต์