สถานการณ์ปัญหาสุขภาพประชากรและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับประชากรวัยทำงาน อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2563 พบว่าประชาชนวัยทำงาน อายุ 15-59 ปี มีจำนวน 43.26 ล้านคน ซึ่งถือเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยการส่งเสริมสุขภาพประชาชนวัยทำงานให้มีสุขภาพดี จะทำให้ประชาชนวัยทำงานมีสมรรถนะในการทำงานได้เต็มศักยภาพ เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนยกระดับการพัฒนาประเทศ
คนวัยทำงานเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังกว่า 3 แสนรายต่อปี
จากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีตามกระแสโลกาภิวัตน์ เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของประชากรวัยทำงานปัจจุบัน พบว่าวัยทำงานมีแนวโน้มการเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs (non-communicable diseases) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตไม่น้อยกว่า 36 ล้านคนทั่วโลกในแต่ละปี และประมาณ 320,000 คนต่อปีในประเทศไทย คิดเป็นร้อยละ 75 ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด
โดยมีสาเหตุจากโรคหลอดเลือดสมองเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือโรคหัวใจขาดเลือด โรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรังเบาหวาน และความดันโลหิตสูงตามลำดับ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ การรับประทานอาหารหวาน มัน เค็ม การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ
พฤติกรรมสุขภาพคนวัยทำงานส่งผลให้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วย
เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์วัยทำงาน ปีพ.ศ.2560-2563 พบว่าประชากรวัยทำงานมีพฤติกรรมกินผักไม่เพียงพอ โดยประชากรมากกว่าร้อยละ 55.5 ไม่มีการรับประทานผัก 5 ทัพพีทุกวัน ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจภาวะสุขภาพคนไทยจากการตรวจสุขภาพ ครั้งที่ 5 ที่พบประชากรไทยบริโภคผักไม่เพียงพอ ร้อยละ 70.2
สำหรับการมีกิจกรรมทางกาย พบว่าประชากรวัยทำงานกว่าร้อยละ 30.61 มีกิจกรรมทางกายน้อยกว่าวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์จากการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการป่วยด้วยโรคเรื้อรัง พบว่าพฤติกรรมที่มีความสัมพันธ์กับค่าดัชนีมวลกาย ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 ได้แก่ พฤติกรรมการกินผัก 5 ทัพพี พฤติกรรมเนือยนิ่งมากกวา 2 ชั่วโมงต่อวัน พฤติกรรมการนอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมง พฤติกรรมเหล่านี้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะอ้วน และการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ยังพบความสัมพันธ์ระหว่างค่าดัชนีมวลกายกับโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวาน การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเหล่านี้ทำให้มีการหยุดงาน เกิดภาวะแทรกซ้อนจนทำให้วัยทำงานเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ส่งผลกระทบให้ครอบครัวสูญเสียรายได้ และส่งผลกระทบทางสังคมตามมา ประเทศสูญเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยเหล่านี้เป็นจำนวนมหาศาล
รณรงค์ให้เกิดพฤติกรรมสุขภาพและส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องช่วยลดจำนวนคนป่วย
การป้องกันไม่ให้เกิดโรคจึงเป็นแนวทางที่จะช่วยลดอัตราป่วยและอัตราตายก่อนวัยอันควรของวัยทำงาน ซึ่งนับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในวันที่สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว เพราะนั่นหมายถึงตัวเลขของวัยทำงานจะลดลง ขณะที่ ตัวเลขประชากรเกิดใหม่ก็ลดลงเช่นกัน
ดังนั้น การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ทำให้กลุ่มวัยทำงานมีสุขภาพที่แข็งแรง และไม่เป็นภาระในการดูแลรักษา ด้วยการรณรงค์ให้เกิดพฤติกรรมสุขภาพที่ดี อันประกอบไปด้วย พฤติกรรมการบริโภคที่เน้นอาหารซึ่งจะทำให้เกิดสุขภาวะที่ดี พฤติกรรมลดความเนือยนิ่งด้วยการเพิ่มพื้นที่ในการออกกำลังกายให้กับประชาชน รณรงค์ให้ออกกำลังเพื่อรักษาสุขภาพ และท้ายที่สุดคือการสร้างค่านิยมให้เกิดพฤติกรรมพักผ่อนที่เพียงพอ เหล่านี้จะช่วยให้ประชากรวัยทำงานมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดีและเป็นพลังสำคัญให้กับสังคมไทยได้