ถ้าต้องทำแค่ให้ “มันมี” ก็อย่าทำ

ในช่วงปลายปี 2565 ถึงกุมภาพันธ์ 2566 ผู้เขียนมีโอกาสได้ติดตามช่องทางการสื่อสารออนไลน์ของทางภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง กรม หรือสำนักงาน ที่มีช่องทางการสื่อสารออนไลน์ ที่โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเจ้าหน้าที่ หรือพนักงานราชการในแต่ละแห่งเป็นผู้ดูแล และจัดการเรื่องข้อมูลประชาสัมพันธ์ หรือ ความเคลื่อนไหวของหน่วยงาน

ซึ่งจากที่ได้ลองเข้าไปดูข้อมูล ทั้งในเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย ก็พบว่ารูปแบบของการสื่อสารออนไลน์ระหว่างภาครัฐกับประชาชนทั่วไปนั้น จะเน้นไปที่โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเฟซบุ๊กเสียเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ในเว็บไซต์นั้น อัปเดตบ้างไม่อัปเดตบ้าง บางที่ไม่ได้อัปเดตข้อมูลเป็นปี ไม่นับรวมถึงการออกแบบหน้าเว็บไซต์ที่ไม่มีความรู้สึก User Friendly หรือแม้แต่การทำให้หน้าเว็บไซต์ Responsive (ตอบสนอง) ในทุกเครื่องมือ (Device) ที่ใช้งานไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน หรือไอแพด

ถามว่าแล้วเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องใหญ่โตและเกี่ยวข้องกับวงการสื่ออย่างไร คำตอบคือไม่ได้ใหญ่โตเป็นปัญหาใหญ่ แต่จะเป็นปัญหาเล็ก ๆ ที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด หรือการไม่รับทราบข้อมูลได้ใหญ่หลวง เพราะการสื่อสารที่อาศัยแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เท่ากับเป็นการไปอาศัยอยู่ในบ้านคนอื่น หากเกิดอะไรขึ้น เอาง่าย ๆ แค่เฟซบุ๊ก เข้าใช้งานไม่ได้ครึ่งวันคนที่ต้องการใช้ข้อมูลก็คงลำบากแล้ว ไม่นับรวมที่เหล่ามิจฉาชีพ มักจะสร้างแอคเคานต์ปลอมมาเพื่อหลอกลวงประชาชน จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดก็มีให้เห็นมาไม่น้อย

อาจมีข้อโต้เถียงว่าคนยุคนี้ไม่เข้าเว็บไซต์กันแล้ว ถ้าแย้งมาแบบนี้ ก็คงต้องถามกลับว่าใครเป็นคนบอกข้อมูล เพราะอย่างไรเสีย Google Analytic ยังคงมีตัวเลขยืนยันชัดเจนถึงจำนวนผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ แม้แต่ Tonkit360 เองก็มีสถิติเก็บไว้เช่นกัน ผู้เขียนเคยได้ยินเจ้าหน้าที่ภาครัฐบางคนแจ้งคนที่ไปขอข้อมูล ให้เข้าไปที่เฟซบุ๊กของสำนักงานเพื่อลงทะเบียน ได้ยินก็ให้ตกใจ เพราะเท่ากับเป็นการให้ข้อมูลผ่านตัวกลาง ทั้งที่ในความเป็นจริง เว็บไซต์ของสำนักงานสามารถเก็บข้อมูลได้โดยตรงมากกว่า

ความเข้าใจในการใช้งานโซเชียลมีเดียเพื่อการสื่อสารนั้นก็เรื่องหนึ่ง เพราะในยุคนี้ใคร ๆ ก็คุ้นเคย แต่การใช้โซเชียลมีเดียให้เป็นเครื่องมือนั้นเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าโซเชียลมีเดียเป็นแพลตฟอร์ม ควรใช้ให้เป็นเครื่องมือเพื่อทำให้เกิด Traffic (การให้ความสนใจหรือหาข้อมูลเพิ่มเติม) กับเว็บไซต์หลักขององค์กรมากกว่า

ลองพิจารณาข้อมูลจาก Statista ที่เผยแพร่การใช้งานเฟซบุ๊กของคนไทยในปี 2022 โดยเผยแพร่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระบุว่าการใช้งานของคนไทยบนเฟซบุ๊กเริ่มมีความเปลี่ยนแปลง จากที่แชร์เรื่องราวในชีวิตตัวเองหรือรูปภาพ ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาเริ่มเปลี่ยนไป คนไทยที่มีแอคเคานต์เฟซบุ๊ก เริ่มใช้แพลตฟอร์มนี้ในการอัปเดตข่าวสาร หรือนั่งดูคลิปสั้นสนุก ๆ (Reel) และจำนวนผู้ใช้งานเริ่มมีอายุมากขึ้นอยู่ในช่วง 40 ปีขึ้นไป ขณะที่เนติเซนชาวไทยที่เป็นวัยรุ่นจะหันไปใช้ TikTok และทวิตเตอร์ เพราะให้ข้อมูลที่แตกต่างออกไป และพวกเขารู้สึกว่าแพลตฟอร์มทั้งสองทำให้ได้รับข่าวสารที่เร็วกว่าเฟซบุ๊ก

ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่หน่วยงานภาครัฐเท่านั้นที่ยังคงวิ่งตามแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย หน่วยงานภาคเอกชนหลายที่ก็ไม่ได้อัปเดตข้อมูลในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ หากแต่หันไปใช้โซเชียลมีเดียแอคเคานต์มาแทนที่ ด้วยความเข้าใจว่าใช้งานได้สะดวกกว่า ไม่ต้องใส่ข้อมูลอะไรมาก ซึ่งเป็นการใช้งานในลักษณะที่ไปอาศัยบ้านคนอื่นอยู่ หากแต่การมีเว็บไซต์อย่างเป็นทางการและมีโซเชียลมีเดีย เป็นช่องทางให้ประชาชน หรือผู้ใช้บริการสามารถเข้ามาถึงเว็บไซต์ได้โดยง่าย จะเป็นการสร้างการสื่อสารในลักษณะที่ใช้โซเชียลให้เป็นเครื่องมืออย่างแท้จริง

ลองคิดเล่น ๆ ว่า ถ้าสักกลางปี มีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเกิดใหม่ได้รับความนิยมขึ้นมา ก็ต้องสร้างแอคเคานต์ใหม่ สร้างเนื้อหาไปลงใหม่ สร้างผู้ติดตามใหม่ ก็จะกลายเป็นการวิ่งตามแพลตฟอร์มไม่รู้จบ ขณะที่แอคเคานต์ในแพลตฟอร์มที่เสื่อมความนิยมก็จะกลายเป็นขยะข้อมูลในมหาสมุทรอินเทอร์เน็ต

หากสร้างเว็บไซต์ให้แข็งแรง มีข้อมูลที่หาได้ไม่ยากแล้วใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการดึงกลุ่มเป้าหมายเข้าหาเว็บไซต์ การเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการก็จะง่ายขึ้น การควบคุมข้อมูลที่จะออกสู่สาธารณะก็เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เขียนมาถึงตรงนี้ก็ทำให้นึกถึงคำพูดของน้องในทีมคนหนึ่งที่กล่าวในการประชุมกับรุ่นพี่ทีมเดียวกันว่า “ไม่อยากให้ทำ Content เพื่อแค่ให้มันมี แต่อยากให้ทำเพื่อให้คนที่เข้ามาอ่าน นำข้อมูลตรงนั้นไปใช้ประโยชน์ได้จริง” วิธีคิดของเด็กอายุ 26 ทำให้เห็นทัศนคติของคนทำงานที่จะเจริญเติบโตได้ดีในอีก 10 ปี ข้างหน้าเลยทีเดียว

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ