สถานการณ์ผู้สูงอายุของประเทศไทยในปัจจุบัน ชัดเจนแล้วว่าไทยเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์มาตั้งแต่ปี 2564 แล้ว และกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด อันหมายถึงสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 28 ของประชากรทั้งประเทศ หรือเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2583 ประชากรในกลุ่มนี้จะเพิ่มจำนวนเป็น 17 ล้านคน ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ หากคำนวณเป็นระยะเวลา จะเห็นว่าอีกเพียงราว ๆ 20 ปีเท่านั้น
จากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยปี 2565 พบว่าประชากรผู้สูงอายุในปี 2565 นั้นมีมากถึง 12,116,199 คน คิดเป็นร้อยละ 18.3 ของประชากรทั้งหมด ในจำนวนนี้เป็น “ผู้สูงอายุวัยต้น” (อายุ 60-69 ปี) มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 56.5 ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด
ผู้สูงอายุเพิ่ม คนป่วย “ภาวะสมองเสื่อม” ก็เพิ่มเป็นเงาตามตัว
เมื่อสังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างไม่ต้องสงสัย สิ่งที่ตามมาคือโรคภัยไข้เจ็บของผู้สูงอายุ ซึ่ง “ภาวะสมองเสื่อม” กลายเป็นอาการป่วยที่น่ากังวลใจมากที่สุด เนื่องจากตัวเลขของผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การศึกษาทางระบาดวิทยา พบว่าผู้ที่มีอายุตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป จำนวน 100 คน มีโอกาสเป็นป่วยภาวะสมองเสื่อม 5 คน และเมื่ออายุมากขึ้นอัตราการเกิดโรคจะเพิ่มขึ้นอีก ในผู้สูงอายุที่อายุยืนถึง 80 ปี สามารถพบโรคสมองเสื่อมได้ถึงร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5 คนเลยทีเดียว อีกทั้งปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาอาการสมองเสื่อมให้หายขาดได้นั่นเอง
โดยทั่วไป ผู้ป่วยจะมีการเสื่อมถอยความสามารถของสมองในหลาย ๆ ด้าน เช่น สูญเสียความจำ สมาธิ ความสามารถทางสติปัญญาลดลง คิดและจำเรื่องที่เป็นปัจจุบันไม่ได้ มีอาการหลงลืม ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตหรือการทำกิจวัตรประจำวัน ทั้งนี้ภาวะสมองเสื่อม ไม่ได้หมายถึงการเป็นโรคอัลไซเมอร์ ที่เกิดจากความเสื่อมของสมองโดยตรงเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงภาวะสมองเสื่อมจากเส้นเลือดในสมองผิดปกติด้วย และเมื่อผู้สูงอายุมีอาการของภาวะสมองเสื่อม ไม่เพียงแต่ส่งผลให้การใช้ชีวิตของตนเองเป็นไปด้วยความยากลำบากเท่านั้น นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนในครอบครัวด้วย ผู้ป่วยหลายคนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ญาติจึงต้องคอยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
“ภาวะสมองเสื่อม” หากคัดกรองก่อนได้ การรักษาจะง่ายขึ้นมาก
แม้ว่ายิ่งอายุมากขึ้น ความเสี่ยงที่จะป่วยด้วยภาวะสมองเสื่อมก็จะเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากสมองที่ค่อย ๆ ฝ่อลงตามอายุ บวกกับโอกาสที่จะมีโรคประจำตัวต่าง ๆ ที่เข้ามาเป็นปัจจัยเสี่ยง แต่การที่ผู้สูงอายุแต่ละคนสามารถรู้ตัวเองได้เร็วว่าตนมีความเสี่ยงที่จะป่วยหรือไม่ หรือการที่ครอบครัวหมั่นสังเกตความผิดปกติแล้วพาไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยได้ไว ได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างเหมาะสม ก็จะช่วยให้อะไร ๆ ง่ายขึ้นมาก เพราะการตรวจพบภาวะสมองเสื่อมตั้งแต่เริ่มแรก แพทย์จะชะลอความรุนแรงของโรคให้เกิดช้าลงได้ รวมถึงการประคับประคองไม่ให้อาการแย่ลงอย่างรวดเร็ว ส่วนคนในครอบครัวก็จะมีความเข้าใจและพร้อมช่วยเหลือผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี
ทว่าแต่เดิมนั้นการตรวจวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมจะมีค่าใช้จ่ายในการตรวจแต่ละครั้งค่อนข้างสูง และมีจำกัดเฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ ๆ เท่านั้น จึงได้มีนักวิจัยที่พัฒนาและคิดค้นทำแอปพลิเคชันตัวหนึ่งขึ้นมา สำหรับใช้ตรวจคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงสมองเสื่อมในเบื้องต้นด้วยวิธีการทดสอบการได้ยิน จากข้อมูลขององค์กรอนามัยโลก ที่ทำการศึกษาความเสี่ยงการเกิด “ภาวะสมองเสื่อม” มาตลอดหลายปี พบว่าส่วนมากผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยิน จะมีความเสี่ยงป่วยด้วยภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า และยังพบว่าความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมนี้จะหายไป หากได้รับการดูแลและรักษาปัญหาด้านการได้ยินให้หายเป็นปกติ
แอปพลิเคชันดังกล่าวมีชื่อว่า “Eartest by Eartone” (ฉบับภาษาไทย) เป็นแอปฯ สำหรับตรวจสอบการได้ยินด้วยคำพูดภาษาไทย ที่มีครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อบ่งชี้ความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดที่คิดค้น วิจัย และพัฒนา โดย อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการได้ยิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับ ผศ.ดร.ยุทธนา รุ่งธรรมสกุล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์ การได้ยิน คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ University College London (UCL) ประเทศอังกฤษ
โดยงานวิจัยนี้ ได้รับความร่วมมือจาก Royal Academy of Engineering สหราชอาณาจักร และได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), British Council, และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ผ่านโครงการ Thai-UK World-class University Consortium
“Eartest by Eartone” คัดกรองเบื้องต้นก่อนไปพบแพทย์
แอปพลิเคชัน “Eartest by Eartone” คือเครื่องมือตรวจคัดกรองเบื้องต้นด้วยตัวเองฟรีก่อนไปพบแพทย์ ผ่านเสียงพูดภาษาไทยในอุปกรณ์มือถือหรือแท็บเล็ตที่เชื่อมต่อกับหูฟัง เป็นการทดสอบการรับรู้เสียงพูดเพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะสมองเสื่อม ตรวจการได้ยินและความสามารถในการจับใจความจากคำพูดที่เป็นภาษาไทย โดยใช้เทคนิคแบบ Virtual Reality (VR) จะจำลองสภาพสถานการณ์จริงในการรับรู้เสียงที่เข้ามาจากทิศทางต่าง ๆ เพื่อตรวจดูการแปรผลของสมองด้านการใช้ภาษา ซึ่งจะเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงสมองเสื่อมหรือไม่ เพื่อจะได้หาวิธีป้องกันและชะลอภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุได้ทัน
เพราะ “สมอง” เป็นอวัยวะสำคัญที่คอยควบคุมสั่งการ “หู” เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในระบบการได้ยิน สมองที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อม ก็จะทำให้การได้ยินของหูลดลงตามไปด้วย ดังนั้น การป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อมจึงมีความสำคัญ ภาวการณ์ที่ได้ยินลดลงเป็นความเสี่ยงสำคัญของการเกิดภาวะสมองเสื่อม ก่อนที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อม ผู้สูงอายุจึงควรตรวจคัดกรองก่อนเกิดภาวะนี้โดยการตรวจการได้ยินและตรวจการทำงานของสมองร่วมด้วย
สำหรับผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองการได้ยินคือผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป จะเป็นการตรวจวัดความสามารถในการได้ยินด้วยภาษาไทย การใช้งานแอปพลิเคชันสำหรับประชาชนทั่วไป สามารถใช้งานได้ผ่าน Mobile Application เพื่อใช้ทดสอบได้ทันทีด้วยตนเองที่บ้าน ดาวน์โหลดได้ฟรีทั้ง IOS และ Android ตรวจคัดกรองการได้ยิน ตรวจจับความผิดปกติทางการสื่อสาร ประเมินความเสี่ยงที่จะบ่งชี้ภาวะเสี่ยงสมองเสื่อมในอนาคตได้ด้วยตัวเอง
หากผลการทดสอบพบว่ามีความเสี่ยงที่จะสมองเสื่อม สามารถติดต่อขอตรวจเพิ่มเติมได้ที่สถานพยาบาลและโรงพยาบาลทั่วประเทศตามกระบวนการต่อไป นอกจากนี้ ผู้ที่รับการทดสอบแล้วพบว่าตนเองประสบปัญหาทางด้านการได้ยิน ก็สามารถใช้สิทธิ์ในการเบิกเครื่องช่วยฟังได้
ดังนั้น การตรวจคัดกรองการได้ยินด้วยแอปฯ “Eartest by Eartone” เพื่อเช็กความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อม จึงเป็นประโยชน์กับผู้สูงอายุและผู้ที่มีข้อบ่งชี้จากแพทย์ว่าสมควรต้องใส่เครื่องช่วยฟัง หากเป็นผู้ที่มีปัญหาทางการได้ยิน เนื่องจากการใส่เครื่องช่วยฟังจะมีประโยชน์ในการป้องกันภาวะสมองเสื่อมในอนาคตได้